ข่าว

คณะตุลาการ"ศาลรัฐธรรมนูญ " บุคคลแห่งปี 2564

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศาลรัฐธรรมนูญ" องค์กรอิสระแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 24 ปีมาแล้ว ถือเป็นองค์กรที่มีความสำคัญอย่างมากองค์กรหนึ่ง ในการสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทย อีกหนึ่งเสาหลักสำคัญที่ถูกกำหนดขึ้นตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพื่อผดุงรักษารัฐธรรมนูญ

 

"ศาลรัฐธรรมนูญ" องค์กรอิสระแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 24 ปีมาแล้ว ถือเป็นองค์กรที่มีความสำคัญอย่างมากองค์กรหนึ่ง ในการสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยโดยเฉพาะในการวินิจฉัยคดีทางการเมืองหลายคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้มีผลผูกพัน และเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่บุคคล และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม

 

ในปี 2564 นี้มีคดีสำคัญถึง 3 คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย คือ 1.คดีการปราศรัยของ 3 แกนนำกลุ่มราษฎรว่าเข้าข่ายล้มล้างสถาบันหรือไม่  2.คดี กกต.ขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของ 5 อดีตแกนนำ กปปส. ที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 3.คดีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.เขตหลักสี่ พรรคพลังประชารัฐ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดปมคดีฉ้อโกง ถือว่าขัดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.หรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 3 คดีดังกล่าวได้นำไปสู่บรรทัดฐานทางการเมืองและทางสังคม และบางคดี อาจเรียกว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ "คมชัดลึก" ขอยกย่องให้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" เป็น "บุคคลแห่งปี 2564"

คณะตุลาการ\"ศาลรัฐธรรมนูญ \" บุคคลแห่งปี  2564

 

ปัจจุบันองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีทั้งสิ้น 9 คน โดยมีนายวรวิทย์ กังศศิเทียม เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายปัญญา อุดชาชน และนายนภดล เทพพิทักษ์ 

 

แน่นอนว่า การวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมมีทั้งผู้พอใจและไม่พอใจ  ยอมรับและไม่ยอมรับ  มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากผลของคำวินิจฉัย  แต่บ้านเมืองต้องมีกฎกติกา ซึ่งบัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ ในการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรอิสระในการตัดสินปมความขัดแย้งในรัฐธรรมนูญ ผ่านองค์คณะที่ได้รับการสรรหามาแล้วอย่างถี่ถ้วน หลากหลาย รอบคอบ ทั้งบุคคลที่มาจากนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ จากองค์กรตามกระบวนการยุติธรรม มารวมเป็นองค์คณะ 

 

หากเปรียบเหมือนเกมการแข่งขันกีฬาบนสนามแข่งขัน ที่ผู้เล่นกี่ฝ่ายก็ตาม ชิงชัยตามเป้าหมายเพื่อผลแห่งชัยชนะ  ท่ามกลางกองเชียร์แต่ละฝ่าย  จึงจำเป็นต้องบัญญัติกฎกติกาโดยมีผู้ตัดสินคอยชี้ขาด โดยมีกรรมการที่เป็นองค์คณะทำหน้าที่ คอยติดตาม ตรวจสอบ ผู้ใดเล่นนอกเกม ใช้แทกติกละเมิดกติกา ทำร้ายคู่แข่งขัน ต้องได้รับการตักเตือน และลงโทษ ตามระดับขั้นความรุนแรง ซึ่งอาจมีผู้เห็นต่างไม่พอใจผลการตัดสินบ้าง แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้สนับสนุน ยอมรับผลการตัดสิน  เพราะนี่คือ กติกาที่ถูกกำหนดขึ้นในสังคมนั้นๆ 

 

คณะตุลาการ\"ศาลรัฐธรรมนูญ \" บุคคลแห่งปี  2564

 

จึงไม่ต่างกับการทำหน้าที่ของ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ต้องเผชิญอยู่ในสภาพทางการเมืองปัจจุบันที่มีทั้งฝ่ายหนุนฝ่ายต้าน การสร้างความขัดแย้ง  แต่บทสรุปจำเป็นต้องมีผู้ตัดสินชี้ขาด  ศาลรัฐธรรมนูญ คือ องค์กรอันเป็นสถาบันตุลาการสำคัญ ในการตัดสินเพื่อผดุงไว้ให้ทุกฝ่ายอยู่ในกรอบกติกาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนั่นเอง 

 

ถ้าไม่มีกฎกติกา ไม่มีผู้ตัดสิน สังคมนั้นๆจะอยู่ได้อย่างไร 

 

 

 

ดังประจักษ์ชัดผ่านการพิจารณาคดีความสำคัญในรอบปีที่ผ่านมา เช่น คดีการปราศรัยของ 3 แกนนำกลุ่มราษฎรว่าเข้าข่ายล้มล้างสถาบันหรือไม่ ซึ่งตามที่รับทราบโดยกันถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเหล่านี้ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

 

รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฎร

ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง

 

อานนท์ นำภา

 

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวของแกนนำกลุ่มราษฎร 3 คน คือนายอานนท์ นายภาณุพงศ์ และ น.ส.ปนัสยา ที่มีการปราศรัย 10 ข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 นั้น มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เจตนาละเมิดกฎหมาย จึงสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว รวมทั้งสั่งห้ามไม่ให้องค์กรเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันดำเนินการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในอนาคตด้วย

 

"ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง" 

 

นอกจากนี้ ตอนหนึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังระบุว่า "สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นเสาหลักสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ดังนั้นการกระทำใด ๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าการพูด เขียน หรือการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรืออ่อนแอลง ย่อมมีเจตนาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์"

 

คดีนี้ถูกมองว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานไม่ให้มีการชุมนุม หรือการเคลื่อนไหวใด ๆ หรือการกระทำใด ๆ  ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเฉพาะตัวบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรต่าง ๆ ในลักษณะเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะมีความผิดและถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งสิ้น โดยเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้กฎหมายอาญา ม.112, ม.113, ม.116 และ ม.328 มาดำเนินคดีได้ทันที 

 

ดังนั้น คดีนี้จึงนับเป็นคดีที่สำคัญมากคดีหนึ่งที่ส่งผลให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคล และองค์กรต่าง ๆ จะต้องพึงระมัดระวังอย่างมาก หากจะมีการชุมนุมเรียกร้อง การเคลื่อนไหว และการกระทำการใด ๆ ที่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรมนูญ ได้ยึดหลักของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่งเคร่งครัด ในการตรวจสอบคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ผ่านการวินิจฉัย นักการเมืองคนแล้วคนเล่า ซึ่งมีทั้งผู้ผ่านการตรวจสอบ ย่อมได้รับความพึงพอใจ แต่สำหรับผู้ไม่ผ่าน หรือต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ย่อมเสียใจเป็นธรรมดา แต่อย่าลืมว่า ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านกระบวนการวิธีสืบค้นไต่สวนมาอย่างรอบคอบแล้ว ไม่ว่าเป็นการวินิจฉัย สมาชิกภาพ ส.ส. ของ 5 อดีตแกนนำ กปปส.   ประกอบด้วยนายชุมพล จุลใส นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายอิสสระ สมชัย นายถาวร เสนเนียม และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่ถูกศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก คดีชุมนุมทางการเมือง ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.317/2564 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายชุมพล นายอิสสระ และนายณัฏฐพล 5 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่

 

คดีนี้เป็นอีกคดีบรรทัดฐานทางการเมือง โดยเฉพาะการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ในกรณีที่เป็นการชุมนุมเรียกร้องที่เกินกว่าเหตุและส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตประชาชนโดยรวม ต่อการปกครองและส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติ ก็อาจนำมาสู่จุดจบชีวิตทางการเมืองของนักการเมืองได้

 

แม้แต่คำวินิจฉัยล่าสุด ในคดีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.เขตหลักสี่ พรรคพลังประชารัฐ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดปมคดีฉ้อโกง ถือว่าขัดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.หรือไม่ โดยเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้นายสิระ ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ทำให้นายสิระ  เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10 ) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงนับแต่วันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 และจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ใน 45 วัน ตามรัฐธรรมนูญยังส่งผลทำให้นายสิระ ต้องจ่ายเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ คืนให้แก่สภาผู้แทนราษฎรเกือบสิบล้านบาท  ภายใน 30 วัน

 

คดีนี้จึงเป็นอีกคดีตัวอย่างที่สำคัญและส่งผลทำให้ผู้ที่จะสมัครส.ส.นับจากนี้ไป จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่ครบถ้วนและถูกต้องตามกฎหมายการเลือกตั้งส.ส.เท่านั้น จะแจ้งคุณสมบัติเท็จ หรือมีคดีความในทางทุจริตฉ้อโกงไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษา ไม่ต่างจากนายสิระ

 

อย่างไรก็ตาม จากการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญในทั้ง 3 คดี นับว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเกิดในห้วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ส่งผลให้หมากกระดานทางการเมืองของไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย

 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือในทุกคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินนั้น คือบรรทัดฐานทางการเมืองและทางสังคมที่จะต้องปฏิบัติตาม โดยมีผลบังคับทางกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจน ตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในปี 2564 นี้จึงเป็นอีกปีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทสูงมากในการสร้างบรรทัดฐานที่ดีงาม ทรงคุณค่า และควรค่าแก่การยึดถือปฏิบัติตามครรลองของการเมืองไทยและสังคมไทยสืบไป

 

คณะตุลาการ\"ศาลรัฐธรรมนูญ \" บุคคลแห่งปี  2564

 

อนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

 

-พิจารณาวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ของวุฒิสภา หรือของรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี 

 

-พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อข้อกฎหมายต่าง ๆ แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตรวจสอบว่ากฎหมายนั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

 

-พิจารณาว่า บทบัญญัติกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับคดีต่าง ๆ นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้ง และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัตินั้น

 

-วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ

 

ทั้งนี้ การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นระบบไต่สวน ซึ่งศาลมีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ โดยจะต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไปของศาลยุติธรรม
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ