ข่าว

รัฐประหารซ้ำซ้อน ฉีก”รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย2519 (ฉบับที่ 11)EP.10

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังเหตุการณ์นองเลือดเจ้าหน้าที่ล้อมปราบ สังหารนักศึกษาและประชาชน ขณะชุมนุมประท้วงต่อต้านการเดินทางกลับสู่ประเทศไทยของ"จอมพล ถนอม กิตติขจร" เย็นวันเดียวกัน คณะทหารกลุ่มหนึ่งกระทำการรัฐประหาร ล้มรัฐบาล ติดตามได้ในตอน รัฐประหารซ้ำซ้อน ฉีกรธน. ฉบับที่ 11 EP.10


รัฐประหารซ้ำซ้อน ฉีก”รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย2519 (ฉบับที่ 11)EP.10

 

ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เป็นวันที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติว่า ได้เกิดกรณีนองเลือดครั้งใหญ่ จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ล้อมปราบ สังหารนักศึกษาและประชาชน ขณะชุมนุมประท้วงต่อต้านการเดินทางกลับสู่ประเทศไทยของ"จอมพล ถนอม กิตติขจร" อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต(ตามอ้างรายงานทางการ) อย่างน้อย 39 คน และบาดเจ็บ 145 คน กลายเป็นข่าวดังเผยแพร่ไปทั่วโลก
 

และเย็นวันเดียวกันนั้นเอง ก็ได้มีคณะทหารกลุ่มหนึ่งในนามของ "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" ได้กระทำการรัฐประหาร ล้มรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้การนำของ "พลเรือเอก สงัด ชลออยู่" และได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากอีกฉบับไปในคราวนั้น 

 

นายธานินทร์  กรัยวิเชียร

 

จากนั้นได้แต่งตั้ง "นายธานินทร์  กรัยวิเชียร" ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฏีกา ซึ่งเป็นบุคคลที่ประชาชนทั่วไปไม่ค่อยคุ้นเคยหรือได้ยินชื่อเสียงในวงการเมืองมาก่อน นอกจากชื่อเสียงในฐานะที่เป็นวิทยากรต่อต้านคอมมิวนิสต์ และมีแนวคิดทางการเมืองขวาจัด ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมๆ กันกับที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2519 โดยกฎหมายปกครองสูงสุดฉบับนี้ มีบทบัญญัติเพียง 29 มาตรา เป็นแบบเดียวกับธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และมีลักษณะของการเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวเท่านั้น


  รัฐประหารซ้ำซ้อน ฉีก”รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย2519 (ฉบับที่ 11)EP.10

 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีหลักการ เช่นเดียวกับธรรมนูญการปกครองฉบับ พ.ศ.2502 และ พ.ศ.2515 คือ สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติแทนรัฐสภา แต่มีแผนพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อใช้เร่งรัดฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศ การมีส่วนร่วมของประชาชน เพิ่มอำนาจให้สภาผู้แทนราษฎร แต่ลดอำนาจวุฒิสภา 
 

การยึดอำนาจครั้งนี้ นอกจากจากคณะรัฐประหารได้ไปขอ "นาย ธานินทร์"มาเป็นนายกรัฐมนตรีจากฝ่ายพลเรือน เพื่อลดกระแสการต่อต้านกองทัพแล้ว ยังได้เสนอสูตรพัฒนาประชาธิปไตย 12 ปี แต่การปกครองประเทศก็ไม่ราบรื่นนัก เพราะรัฐบาลไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน 


พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ"อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก
 

กระทั่งในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2520 เพียง 5 เดือนกว่า รัฐบาลชุดใหม่นี้ ได้เผชิญกับความพยายามใช้กำลังล้มอำนาจของคณะทหารอีกกลุ่มหนึ่ง ที่นำโดย "พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ"อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก ถือเป็น "การรัฐประหารซ้อน" ขึ้นมาจากกลุ่มทหารที่ไม่ใช่ทหารที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น คือ "สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" 

 

แต่การยึดอำนาจครั้งนี้ "ไม่สำเร็จ" และในค่ำวันก่อการนั้น รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องการยินยอมให้บุคคลระดับหัวหน้าของกลุ่มผู้ก่อการ 5 คน คือ พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ/พันโท สนั่น ขจรประศาสน์/พันตรี บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์/พันตรี วิศิษฐ์ ควรประดิษฐ์ /และพันตรี อัศวิน หิรัญศิริ บุตรชาย "พลเอก ฉลาด" ที่ต่อรองขอเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวประกัน

 

แต่ขณะที่ผู้ก่อการทั้ง 5 คน เดินทางถึงสนามบินดอนเมืองและขึ้นไปนั่งรอบนเครื่องบินเพื่อเตรียมจะเดินทางไปไต้หวัน ทั้งหมดก็ถูกนำตัวลงมาจากเครื่องบิน และถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏ โดยรัฐบาลให้เหตุผลในเวลาต่อมาว่า เพราะรัฐบาลไต้หวันไม่อนุญาตให้ผู้ก่อการลี้ภัย และไทยก็ไม่ต้องการส่งผู้ก่อการไปประเทศใดอีก การดำเนินคดีนี้จึงเป็นไปอย่างเร่งรัดและเฉียบขาด 

 

วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2520 รัฐบาลได้ใช้อำนาจตาม "รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2519 มาตรา 21" ตัดสินลงโทษผู้ก่อการโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามปกติ โดยมีคำสั่งให้ถอดยศ และประหารชีวิต "พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ" ส่วนแกนนำอีก 4 คนให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และยังตามจับผู้ร่วมก่อการเพิ่มอีก 8 คน รวมเป็น 12 คน นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับโทษลดหลั่นลงมาอีก 11 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีพลเรือน ที่ "พลเอก ฉลาด"ชักชวนให้เข้าร่วมปฏิบัติการ เช่น นาย พิชัย วาสนาส่ง /นาย สมพจน์ ปิยะอุย/นาย วีระ มุสิกพงศ์ ซึ่งภายหลังทั้งหมดได้รับการนิรโทษกรรม(วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2520)

 

พลเรือเอก สงัด   ชลออยู่
 

ส่วนความขัดแย้งที่หาทางยุติไม่ได้ของรัฐบาล ยังได้นำไปสู่การยึดอำนาจอีกครั้ง แต่ก็มีหัวหน้าคนเดิม คือ "พลเรือเอก สงัด ชลออยู่" ในวันที่ 20 ตุลาคมปีเดียวกัน ซึ่งได้สะท้อนความนัย ผ่านการปราศรัยของ"พลเรือเอก สงัด" ที่กล่าวไว้ว่า


 
"ได้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนโดยทั่วไปว่า ความสามัคคีในหมู่ข้าราชการ ประชาชน มีแต่การแตกแยก ข้าราชการมีความหวั่นไหวในการปฏิบัติราชการ การเศรษฐกิจ และการลงทุนของชาวต่างประเทศลดลงและไม่แน่นอน หากปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ต่อไปจะยากแก่การแก้ไข"


 
ถือเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 ลงอย่างสิ้นเชิง รวมระยะเวลาประกาศใช้เพียง 11 เดือน กับ 28 วัน 

 

ขอบคุณภาพประวัติศาสตร์จาก Google 

 

>>> ติดตามอ่านซีรี่ย์เส้นทาง 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย บนวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ เมื่อไหร่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่แท้จริง และยกร่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ในคมชัดลึกตลอดทั้งสัปดาห์

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ