ข่าว

รัฐบาลเล็งจ่ายค่าส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 9 พ.ย. นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำของรัฐบาล เผยรัฐเตรียมจ่ายค่าส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว งวดแรก 9 พ.ย.นี้

สถานการณ์ข้าวที่มีราคาตกต่ำเกิดจากปัญหาอะไร และแนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดปัจจุบันควรเป็นไปในทิศทางใด วันนี้ (6 พ.ย.) ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ "มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข" มีคำตอบให้ได้ทราบ พร้อมเผยด้วยว่าวันที่ 9 พ.ย.นี้ ชาวนาจะได้รับค่าส่วนต่างงวดแรกจากโครงการประกันรายได้เกษตรกร

 

1.ทำไมข้าวราคาถูก 

เพราะบาทแข็งก่อนหน้านี้แล้วเพิ่งจะอ่อนลงมานี่เอง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่งออกก็มีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด แล้วขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งทางเรือ ซึ่งเราก็แก้สถานการณ์ทุกระลอก ประจวบกับเพราะน้ำท่วมฝนลงตอนเก็บเกี่ยวข้าวทำให้ข้าวมีความชื้นมากกว่า 30-40% ชาวนาไม่มีที่เก็บก็ขายในความชื้นที่มาก ซึ่งข้าวปกติความชื้นต้องไม่เกิน 15% แต่อย่างไรก็ตามชาวนาท่านก็จะได้ส่วนต่างราคาข้าวที่ตกลงช่วงนี้จากโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จะสังเกตเห็นว่าโครงการสองปีที่ผ่านมาชาวนาได้เฮ! ตลอด แต่มาช่วงต้นฤดูปีการผลิตปีนี้เท่านั้นซึ่งเป็นปีที่ 3 ของรัฐบาลที่สถานการณ์หลายอย่างมาประจวบกัน 

 

รัฐบาลเล็งจ่ายค่าส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 9 พ.ย. นี้

รัฐบาลเล็งจ่ายค่าส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 9 พ.ย. นี้

 

2.ค่าต้นทุน ค่าส่วนต่าง ค่าน้ำท่วม ได้เมื่อใด 


น้ำท่วมลงทะเบียนในพื้นที่และได้รับตามสิทธิของเหตุที่จังหวัดนั้น ๆประกาศภัยพิบัติ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบและดำเนินการอยู่ ค่าส่วนต่างของโครงการประกันรายได้เกษตรกรงวดแรกของปีการผลิตนี้ได้ 9 พ.ย.64 และงวดที่ 2-3-4 จ่ายตามไป เนื่องจากงวดแรกนั้นประกาศราคาเกณฑ์กลางจากอนุกรรมการเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ส่วนงวดที่ 2-3-4 ประกาศราคาเกณฑ์กลางเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564

 

ส่วนค่าไถหว่านหรือเงินช่วยต้นทุนการผลิตนั้น ภาษาทางการเรียกโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตร ไร่ละ 1,000 บาทได้ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี ทางท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ "จุรินทร์" นำเข้าขออนุมัติแล้วจาก นบข. หรือคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติแล้วและด้วยเป็นก้อนงบประมาณที่มากและบริหารจัดการเพื่อให้ถูกระเบียบบกฎหมายวินัยการเงินการคลังจึงต้องหารืออย่างรอบคอบกับกระทรวงการคลังและทุกฝ่ายแล้วกำลังจะนำเข้าขออนุมัติครม.ต่อไป แล้วเมื่อครม.เคาะ ก็จะจ่ายตามมาหลังจากนี้ 

 

รัฐบาลเล็งจ่ายค่าส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 9 พ.ย. นี้

รัฐบาลเล็งจ่ายค่าส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 9 พ.ย. นี้

 

3.ทำไมข้าวกิโลกรัมละ 5 บาทถูกกว่ามาม่าอีก 


เป็นดราม่าจุดประเด็นจากพรรคการเมืองหนึ่ง ที่เคยทำจำนำข้าวแล้วเกิดการทุจริตอย่างมโหฬาร แต่เขาไม่อธิบายข้อเท็จจริง คือเลือกที่จะพูดข้อมูลด้านเดียวแต่ความจริงคือข้าวตกต่ำที่สุด มากกว่านี้เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว แต่ในวันนี้ข้าวราคาตกเรายอมรับ แต่ชาวนาได้ส่วนต่างจากราคาข้าวที่ตกลงนั้นจากหลักประกันของรัฐบาล ซึ่งตรงนี้ตัวแทนพรรคการเมืองนั้นเลี่ยงที่จะพูดถึง และไม่อธิบายประชาชน 

 

“ความจริงจะดีมากเลยถ้าท่านเป็นผู้แทน แล้วอธิบายให้ประชาชนทราบถึงระเบียบกฎเกณฑ์ขั้นตอนในนโยบายปัจจุบัน ไม่ใช่บิดเบือนสร้างฝันถึงนโยบายอดีต ซึ่งเต็มไปด้วยการทุจริต แต่ส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ชาวนานั้น เงินทุกบาทเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ไม่มีใครสามารถเบียดบังทำการทุจริตได้เลยแม้แต่บาทเดียวเพียงแต่เมื่อสถานการณ์ราคาข้าวไม่ดี ก็จะเป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลมากหน่อย แต่ถ้าราคาดีเหมือนกับพืชชนิดอื่น ที่เราบริหารจัดการราคาพุ่งเกินรายได้ที่ประกันไว้ ก็ไม่ตกเป็นภาระของงบประมาณ คือไม่ต้องจ่าย เช่น ปาล์มน้ำมันที่ราคาถึงกิโลกรัมละ 9 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กิโลกรัมละ 9-10 บาท มันสำปะหลังกิโลกรัมละ 2.70 บาท และยางพารา เป็นต้น ส่วนผลเม้เราก็บริหารจัดการให้ราคาดีเพราะบริหารตลาดและผลักดันการส่งออกไปตลาดที่ใกล้และเร็ว”

 

ส่วนเรื่องข้าว นอกจากโครงการประกันรายได้เกษตรกร รัฐบาลยังดูแลด้วยมาตรการเสริม ซึ่งมีทั้งสินเชื่อชะลอการขาย คือเก็บข้าวไว้ก่อนให้มันแห้งค่อยขายราคาดีค่อยเอาออกมาขาย สินเชื่อสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรเพื่อเก็บรวบรวมข้าวและชดเชยดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบ ซึ่งมาตรการทั้งหมดคลอดออกมาพร้อมกัน ยอมรับว่าการจัดการด้านงบประมาณกับกระทรวงการคลังค่อนข้างช้ากว่าปีที่ 1 และปีที่ 2 ทำให้ผู้ประกอบการโรงสีสหกรณ์กลุ่มการเกษตร มีมาตรการเสริม 3 ตัวนี้จากครม.ด้วย และเมื่อ 4 พฤศจิกายนเพิ่งเคาะผ่าน

 

4.แล้วจะทำยังไงให้ข้าวแพง 


ใช้ยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 63-67 และยุทธวิธี "ตลาดนำการผลิต" จะร่วมมือกันระหว่างกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ 
1)เดินหน้าส่งออกข้าวโดยผลิตให้ตรงกับตลาด ซึ่งกำลังทำอยู่ ส่งเสริมตลาดข้าวพรีเมียม แปรรูป และบุกตลาดโดยเปิดตลาดใหม่ ฟื้นตลาดเก่า ลุยเพิ่มปริมาณในตลาดเดิม ด้วยการส่งเสริมการขายการสร้างมาตรฐานที่ปลอดภัยให้กับผู้บริโภคซึ่งปัจจุบันรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ "จุรินทร์" ดำเนินงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ เพื่อลดอุปสรรคในการส่งออกและแก้ไขปัญหาทุกอย่างอย่างทันท่วงที

 

รองนายกรัฐมนตรี "จุรินทร์" เป็นประธานคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์เข้าไทยปี 2563-2567 เป้าหมายทำให้ไทยเป็นผู้นำการผลิตการตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลกภายใต้หลักการตลาดนำการผลิตมี 4 ด้านคือ


1)ด้านตลาดต่างประเทศพัฒนาข้าวให้ตรงความต้องการตลาดใช้ทีมเซลล์แมนประเทศไทยหรือทูตพาณิชย์ทูตเกษตรที่มีอยู่ทั่วโลกติดตามความต้องการตลาด

 
2)ด้านการตลาดในประเทศมุ่งรักษาเสถียรภาพราคา ซึ่งตรงนี้ก็ใช้หลักประกันรายได้เกษตรกรและมาตรการเสริมคู่ขนานกันไปนั่นเอง 


3)ด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น 


4)ด้านการผลิตจะเน้นการลดต้นทุนภายใน5ปีต้นทุนการผลิตซึ่งเป็นภาระของชาวนานั้นจะต้องไม่เกินไร่ละ 3,000 บาทและจะต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ได้พันธุ์ที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรสูงขึ้น 

 

5.ระยะอันใกล้นี้จะผลักดันการส่งออกอย่างไร ในสถานการณ์โควิด

 1) รองนายกฯจุรินทร์ สั่งการให้เร่งเจรจาการเปิดด่านทุกเส้นทางเพื่อระบายสินค้าส่งออกของไทยทุกชนิดเพื่อเพิ่มรายได้ที่จะนำเข้าประเทศซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประเทศที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนและผ่านแดน และตลอด 9 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้แม้ทุกประเทศเจอสถานการณ์วิกฤติแต่ประเทศไทยสามารถพักดันการส่งออกด้านชายแดนและผ่านแดนได้เป็นอย่างดีและเราจะทำต่อไป เรื่องสินค้าข้าวก็เช่นกัน 

 

2) การส่งออกตลาดโลก แถวเน้นขยายตลาดในเขต Rcep ซึ่งมีประชากรรวมกันครึ่งโลกผู้บริโภคจำนวนมากและในต้นปีหน้าจะเป็นการเริ่มใช้เงื่อนไขด้าน FTA ระหว่างกันเราจะขยายตลาด และบุกตลาดทั้งประเทศหลักและเมืองรอง รวมทั้งแผนการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในกิจกรรมระดับโลกเราจะเข้มงวดกับ 58 พื้นที่ทูตพาณิชย์ของเราเพื่อความสำเร็จเชิงนโยบายทุกฝ่ายต้องทำงานเชิงรุก และตอนนี้การส่งออกข้าวกระเตื้องมา 2 เดือนแล้วเป้าหมายสิ้นปีนี้จะต้องได้ไม่ต่ำกว่า 6 ล้านตัน ตอนนี้มาตรการเสริมออกก็จะยิ่งคึกคักมากขึ้นแต่ช่วงสองเดือนที่ผ่านมาผู้ประกอบการไปขออนุญาตการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น 

 

3) รองนายกฯจุรินทร์ได้เร่งรัดกรมการค้าต่างประเทศให้ติดตามการเจรจากับทางการจีนที่ยังต้องซื้อข้าวไทยที่ค้างตามข้อตกลงเดิมอยู่อีกประมาณกว่า 2 แสนตัน จังหวะนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าราคาข้าวไทยปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่แข่งขันได้มากขึ้นน่าจะเป็นผลบวกกับการเจรจา

 

6.อยากบอกอะไรกับชาวนา


พี่น้องเกษตรกรชาวนาและตัวแทนชาวนาซึ่งอยู่ในคณะทั้งอนุกรรมการราคากลางและกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ทราบถึงความจิงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเพราะตลอด2ปีที่ผ่านมาเรารับมือทำงานเชิงรุกด้วยกันมาอย่างดีจะสังเกตว่าไม่เคยมีม็อบเลย และวันนี้รัฐบาลกับกระทรวงพาณิชย์ก็จะเดินหน้าแก้ไขด้วยความจริงใจแต่ด้วยหลายปัจจัยที่ท้าทายการทำงานของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์แต่เราก็จะทำให้ได้ไวและจะทำให้ได้จริง

 

โครงการประกันรายได้เกษตรกรพืช 5 ชนิด กำลังเดินหน้าปีที่ 3 ของรัฐบาลและหนึ่งในนั้นคือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหรือชาวนา งวดแรกจ่ายส่วนต่างวันที่ 9 พฤศจิกายน 64 จากนั้นก็ตามไป เราช่วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน ข้าวหอมมะลิประกันรายได้ที่ 15,000 บาทต่อตัน (14ตัน) ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน (16ตัน) ข้าวหอมปทุม 11,000 บาทต่อตัน (25ตัน) ข้าวเจ้า10,000 บาทต่อตัน (30ตัน) และข้าวเหนียว 12,000 บาทต่อตัน (16ตัน) 

 

"ชาวนาจะได้เงินสองกระเป๋า คือได้จากการขายข้าว หากราคาตกต่ำ ก็จะได้เงินส่วนต่างเข้ากระเป๋าชาวนาเอง แต่ถ้าราคาข้าวดีขึ้นกว่ารายได้ที่ประกันไว้ตามนั้น และก็แปลว่าเกษตรกรจะได้เงินกระเป๋าเดียวจากราคาข้าว แต่เป็นราคาที่สูงจากการยกระดับราคานั่นเอง"

 

รัฐบาลเล็งจ่ายค่าส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 9 พ.ย. นี้

รัฐบาลเล็งจ่ายค่าส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 9 พ.ย. นี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ