ข่าว

จัดหนัก ประยุทธ์ ไฟเขียว ทุนใหญ่ เลื่อนจ่ายค่าสิทธิ ‘ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พิจารณ์ จัดหนัก ประยุทธ์ ไฟเขียว ทุนใหญ่ เลื่อนจ่ายค่าสิทธิ ‘ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน’ ส่อพฤติกรรมจับประชาชนเป็นตัวประกันเอื้อทุนใหญ่ด้วยผลประโยชน์ของชาติ

วันที่ 30 ต.ค. 64 ห้องนวมทอง ไพรวัลย์ อาคารอนาคตใหม่ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.แบบบัญชีราย และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน สืบเนื่องมาจากกรณี‘โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน’ ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์ โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานบอร์ดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ขยายระยะเวลาการชำระเงินตามเงื่อนไขสัญญาการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งก็คือ บจก.คู่สัญญา Asia Era One ที่ถือหุ้น70% โดยกลุ่ม CP เพื่อเป็นการขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าสิทธิในการบริหารรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน หรือ Airport Rail Link (ARL) มูลค่า 10,671 ล้านบาท

 

ต้องเรียนว่าเป็นอีกครั้งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการกระทำที่เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ด้วยผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเอาประชาชนเป็นตัวประกัน ทำไมผมถึงพูดแบบนี้ เพราะจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 ต.ค. อ้างชัดเจนว่า หากเอกชนคู่สัญญาไม่สามารถรับโอน ARL จะทำให้ต้องหยุดให้บริการประชาชนเพราะการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่ได้เตรียมคนและงบประมาณ

 

พูดง่าย ๆ คือ รฟท. เชื่อมั่นว่า เมื่อส่งมอบให้บริษัทคู่สัญญาแล้วจะเดินรถได้ตามเงื่อนไขสัญญาแน่นอน ดังนั้น เพื่อดำเนินการให้เดินรถได้ก็เลยกลายเป็นว่า ยอมให้บริษัทคู่สัญญารับสิทธิการเดินรถไปก่อน โดยปรากฏเป็นข่าวว่า มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงนี้ หรือ MOU ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลา หรือ 1 วัน
ให้หลังจากการออกมติ เรียกว่ารวดเร็วจริง ๆ แล้วก็ให้ Asia Era One ได้จ่ายค่าสิทธิเพียง 10% หรือ ประมาณ 1,067ล้าน จากเดิมที่ต้องจ่าย 10,671ล้านในครั้งเดียว

 

 

 

พิจารณ์ กล่าวต่อว่า จากนี้อีก 3 เดือน จะมีการพิจารณาร่วมกันของ รฟท. ,สำนักงาน EEC และคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ เพื่อแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ หรือพูดง่าย ๆ คือจะให้ตามคำขอของกลุ่มทุนนี้หรือไม่ คำถามก็คือ สามารถทำแบบนี้หรือไม่เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าเอกชนคู่สัญญาทำผิดเงื่อนไข แต่รัฐยังเปิดโอกาสให้เดินรถได้โดยชำระเงินเพียง 10%

 

โดยการแถลงในวันนี้จะมี 4 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ ประเด็นแรก พฤติกรรม ‘จับประชาชนเป็นตัวประกัน’  เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน ประเด็นต่อมา ภาครัฐมีความพยายามปกปิดข้อมูล ประเด็นที่สาม มีความผิดปกติตั้งแต่ก่อนเริ่มประมูล และประเด็นสุดท้าย การลด แลก แจก แถม หลังการประมูล 

 

***เปิดความเป็นมาของโครงการ **

พิจารณ์ เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงภาพรวมและที่มาที่ไปของโครงการดังกล่าวว่า "โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน" แบ่งออกมาได้เป็นสามช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่สนามบินดอนเมืองถึงพญาไท เรียกว่า แอร์พอร์ต เรียลลิงค์ ช่วงต่อขยาย ระยะทาง 22 กิโลเมตร

 

ช่วงที่ 2 คือช่วงที่เป็นปัญหาตอนนี้ได้  พญาไท-สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นแอร์พอร์ต
เรียลลิงค์เดิมที่ปัจจุบันเดินรถอยู่แล้ว ระยะทาง 20 กิโลเมตร และ ช่วงที่ 3 เป็นช่วงของรถไฟทำความเร็วสูงสุดที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจากสนามบินสุวรรณภูมิไปที่สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร 

 

 

สำหรับช่วงที่ 1 และ ช่วงที่ 2 มีความพยายามตลอดสองปีที่ผ่านมาที่จะเวนคืนเพื่อส่งมอบที่ดินให้กับเอกชนแต่ช่วงที่ 2 เป็น ARL เดิมที่ไม่ต้องมีการเวนคืนที่ดินใด ๆ เพราะ รฟท.ก่อสร้างไว้เสร็จแล้ว เพียงแต่ให้เอกชนเข้ามาลงทุนปรับปรุงระบบต่าง ๆ หลังลงนาม เพื่อเตรียมความพร้อมในการเดินรถและเชื่อมต่อตั้งแต่สนามบินดอนเมืองถึงอู่ตะเภา ทั้งหมด

 

มูลค่าการลงทุนอยู่ที่มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท โดยการลงทุน แบ่งออกเป็น สามส่วน ส่วนที่ 1 มูลค่าการก่อสร้าง งานโยธาต่างๆ ค่ารถไฟความเร็วสูง ระบบต่างๆ 168,718ล้านบาทและส่วนที่3 มูลค่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พื้นที่สนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร แบ่งเป็น  มักกะสัน 41,642 ล้านบาท และศรีราชา 3,513 ล้านบาท 

 

ส่วนที่เป็นปัญหาตอนนี้คือ ส่วนที่ 2 มีค่าสิทธิการเดินรถ  ARL 10,671ล้าน และมีการขอยืดเวลาชำระโดยภาพรวมทั้งโครงการ การลงทุนทั้งหมดคิดเป็นกว่าสองแสนล้านบาทเอกชนต้องลงทุนไปก่อนในการก่อสร้าง ใช้เวลา 5 ปีตามกรอบสัญญา ปีที่ 6 จึงเดินรถ จากนั้นค่อยมารับเงินสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งรัฐบาลจะร่วมลงทุนในยอดเงิน 149,650ล้านบาทจ่ายให้ 10 ปี หรือ 10งวด โดยงวดแรกจะเริ่มจ่าย เมื่อรถไฟเปิดดำเนินการไปแล้ว 6 เดือน  นอกจากโครงการเดินรถโครงการที่พ่วงมาด้วยกัน คือ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บนพื้นที่บริเวณสถานีมักกะสัน 140 ไร่ มูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาท และบริเวณสถานีศรีราชา 25 ไร่

 

ซึ่งส่วนนี้ต้องบอกว่าเป็นโครงการที่หอมหวน และดึงดูดให้เจ้าสัวมาลงทุน เพราะเป็นที่ดินผืนขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานครผืนสุดท้าย มีศักยภาพในการรังสรรค์ให้เป็น ICONIC หรือ Landmark แห่งใหม่ ที่จะให้ผลกำไรอย่างงดงามยิ่งกว่าการเดินรถไฟความเร็วสูงมากนัก โดยจากที่ปรากฏเป็นข่าว ในกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 25ตุลาคมที่ผ่านมา ว่ากลุ่ม CP กำลังจะลงทุนในพื้นที่มักกะสัน 1.4 แสนล้าน 

 

*** เอื้อประโยชน์ทุนใหญ่ จับประชาชนเป็นตัวประกัน**

พิจารณ์ กล่าวว่า ในประเด็นการเอื้อประโยชน์ ARL จะเห็นว่าการชำระเงินงวดแรก 10,671ล้านบาท ถือว่าไม่แพงเลย เพราะ รฟท.ลงทุนไปแล้วใน ARL จากพญาไทไปถึงสุวรรณภูมิใช้เม็ดเงินทั้งสิ้น 33,290 ล้านบาท แต่ในการให้สิทธิเอกชนบริหาร 50 ปี ลงทุนเพียงหนึ่งหมื่นล้านบาทเท่านั้น เป็นดีลที่ดีมาก ๆ ซึ่งอยากให้คิดตามว่า การกำหนดค่าสิทธิแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใช้การคิดง่าย ๆ ว่าจากสามหมื่นล้าน

 

แบ่งเป็นเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด 22,558 ล้านบาท โอนจาก รฟท. ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบหนี้ส่วนนี้ ส่วนเอกชนรับผิดชอบแค่ส่วนของรถจักร ระบบอาณัติสัญญาณต่าง ๆ โดยให้จ่ายแค่มูลค่าการลงทุน 1ใน 3 ของมูลค่าที่รัฐลงทุนมา แม้ว่าอาจต้องไปลงทุนปรับปรุงอีกประมาณ 2-3พันล้าน แต่ก็ได้สิทธิถือครองไปอีก 50ปี ผู้โดยสารมีแต่จะขยายตัวมากขึ้น จากการเชื่อมต่อดอนเมืองถึงอู่ตะเภา ว่าอาจต้องไปลงทุนปรับปรุงอีกประมาณ 2-3พันล้าน แต่ก็ได้สิทธิถือครองไปอีก 50ปี ผู้โดยสารมีแต่จะขยายตัวมากขึ้น จากการเชื่อมต่อดอนเมืองถึงอู่ตะเภา 

 

ได้ข้อเสนอที่ดีแบบนี้ก็ยังจะมาขอผ่อนอีกแล้วต้องตั้งคำถามว่าเขาพิจารณากันอย่างไร ถึงยอมให้ยืดเวลาออกไป ลองไปดูเอกสารที่ สำนักงาน EEC ชงเข้า ครม. ซึ่งได้นำเสนอแนวทางข้อเรียกร้องของกลุ่มทุน สรุปได้ว่า มีการขอขยายเวลาการชำระเงิน แต่ขอขยายไปนานเท่าไหร่ไม่รู้ เราไม่เห็นรายละเอียด มีการขอปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินร่วมทุนของโครงการ ซึ่งจะขอเปลี่ยนเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ และขอขยายระยะเวลาโครงการจาก 50 ปี เป็นนานเท่าไหร่ไม่รู้ รายละเอียดเหล่านี้ไม่มีการระบุไว้ในเอกสารที่ชงเข้า ครม.
รวมทั้งเราไม่รู้ว่าบอร์ด EEC ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเยียวยาช่วยเหลือเคสนี้ใช้หลักเกณฑ์อะไรเป็นเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ว่า ในกรณีนี้ต้องเยียวยา เอกชนเสียหาย เดือดร้อน ขัดสนอย่างไร จนต้องช่วยเหลือ เหล่านี้ไม่มีการชี้แจง

 

พิจารณ์ กล่าวต่อไปว่า แต่สิ่งที่เห็นจากในเอกสารคือ  การจับประชาชนเป็นตัวประกัน โดยระบุว่า หากเอกชนคู่สัญญาไม่ชำระค่าสิทธิ ARL  จะทำให้ รฟท.ไม่สามารถถ่ายโอนกิจการ ARL ให้เอกชนคู่สัญญาได้ อาจส่งผลให้บริการเดินรถและการบำรุงรักษา ARL หลังวันที่ 24 ต.ค. 64 สะดุดหรือหยุดชะงักลง จากนั้นก็ให้เหตุผลว่า เนื่องจากหลังลงนามสัญญาร่วมทุน รฟท.ไม่ได้เตรียมงบประมาณ อะไหล่ และอุปกรณ์สำหรับการเดินรถและซ่อมบำรุง ARL ประกอบกับ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด จะต้องไปรับภารกิจโครงการเดินรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) จะเปิดให้บริการเดินรถอย่างเต็มรูปแบบวันที่ 2 พ.ย. 64 จึงไม่มีบุคลากรและทรัพยากรเพียงพอ 

 

อ้างว่ารถไฟจะวิ่งต่อไม่ได้ แต่โควิดไม่ได้เพิ่งเกิด เริ่มมาแล้วตั้งแต่ต้นปี 63 ทั้งรัฐบาลและเอกชนคู่สัญญารับรู้ได้ มีเวลาจัดการ แก้ไขนานก่อนหน้าแล้ว และเรื่องชงเข้าครม. บอร์ด EEC รับรู้ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. มีเวลาอย่างน้อย 20 วันที่จะหารือว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร หากเอกชนไม่สามารถชำระหรือทำตามเงื่อนไขได้ แต่เราไม่เห็นความพยายามเหล่านั้น

 

นอกจากการเอาประชาชนเป็นตัวประกัน ผมยืนยันว่า นี่คือการเอื้อผลประโยขน์ให้กับกลุ่มทุน โดยเอาประชาชนเป็นตัวประกัน แล้วก็เลื่อนการชำระเงิน 10,671ล้านบาท ไปแบบหน้าด้าน ไม่แคร์ความรู้สึกของประชาชนที่เป็นเจ้าของภาษีแม้แต่น้อย ในขณะที่ SMEs เกือบสองปีกว่าจะได้รับการเยียวยา พยุงการจ้างงานผ่านประกันสังคม  ยังไม่นับ SMEs ที่ล้มหายตายจากไปก่อนหน้านี้ เพราะรอการเยียวยาที่กินเวลาถึงสองปีไม่ไหว กู้ Soft loan หนี้ที่รัฐหยิบยื่นให้ก็ไม่ผ่าน

 

แต่สำหรับกลุ่มทุนรายนี้ เข้า ครม. 19 ต.ค. ข้ามมาเพียง1วันก็ลงนามเซ็นต์ MOU ยืดระยะเวลาการชำระเงินทันทีไปอีกสามเดือน และจากต้องชำระหนึ่งหมื่นล้านเหลือเพียงพันล้าน แล้วจะไม่ให้บอกว่า นี่ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์แต่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้อย่างไร  จะไม่ให้เรียกว่า เรากำลังอยู่กับ ระบอบประยุทธ์  ระบอบนายทุนนิยมได้อย่างไรแล้วอีกประเด็นที่น่าห่วงคือจะเป็นการตั้งบรรทัดฐาน ในการเยียวยาให้กับคู่สัญญาการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนอื่นหรือไม่

 

*** ย้ำไม่ใช่ ‘เอื้อประโยชน์’ครั้งแรก 

พิจารณ์ ย้ำว่า สำหรับโครงการนี้ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ครั้งแรกที่ พล.อ. ประยุทธ์ หยิบยื่นข้อเสนอพิเศษให้ โดยพบความผิดปกติตั้งแต่ก่อนการยื่นข้อเสนอ หรือก่อนการประมูล เช่น  รูปแบบการประมูล โดยเอาส่วนของการก่อสร้างและเดินรถไฟความเร็วสูง พ่วงรวมกับการพัฒนาพื้นที่ดินมักกะสันและศรีราชา ทำให้เอกชนที่จะเข้าร่วมลงทุนกับรัฐ ต้องมีความเชี่ยวชาญถึง 3 ด้าน ได้แก่ งานก่อสร้างโยธา การเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา และการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ จึงส่งผลให้จากผู้ซื้อซองประมูล 31 ราย เหลือเพียง 2 กลุ่มทุนส่งผลให้การแข่งขันลดลงและรัฐได้รับผลประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะเป็นแน่นอน   

 

จากการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาของรัฐ พบว่า การตอบแทนจากการแยกประมูลระหว่างการเดินรถไฟฟ้าและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยมีรัฐเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะสามารถทำกำไรหรือ FIRR โดยกำไรอยู่ที่ ร้อยละ 6.85 สำหรับการเดินรถ และ ร้อยละ 10.77 สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งสูงกว่าต้นทุนทางการเงินหรือที่เรียกว่า WeightedAverage Cost of Capital (WACC) ซึ่งหากแยกประมูล"โครงการรถไฟความเร็วสูง"จะมีผู้ร่วมประมูลแน่นอน

 

ดังนั้นการแยกประมูลความเชี่ยวชาญจะทำให้มีจำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขันมากยิ่งขึ้น นำไปสู่ผลตอบแทนให้รัฐสูงยิ่งขึ้น แต่ถึงแม้จะมีการศึกษาจากบริษัทที่รัฐเป็นผู้ว่าจ้าง พล.อ. ประยุทธ์ ก็ยังเลือกที่จะใช้วิธีการประมูลที่มั่นใจได้ว่าผู้เข้าร่วมการประมูลจะได้ที่ดินมักกะสันไป

 

พิจารณ์ กล่าวต่อว่า ยังมีความผิดปกติอีกหลังจากได้ผู้ชนะ กลับมีการเซ็นต์สัญญาที่ล่าช้าไปอีกเป็นปี พอมีการเซ็นต์สัญญาก็พบอีกว่า มีการแก้ไขในตัวสัญญามากมายที่ต่างออกไปจาก ร่างสัญญา หรือ RFP และมีการยื่นสิทธิประโยชน์ ลด แลก แจกแถม โดยร่างสัญญา RFP ระบุ เพียงว่า เอกชนสามารถเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้งสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงให้แตกต่างจากข้อกำหนดของ รฟท. ได้เท่านั้น

 

แต่เมื่อลงนามสัญญาร่วมทุน กลับระบุว่า เอกชนสามารถขอเพิ่ม เปลี่ยน หรือ ย้ายตำแหน่งของสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงต่างจากข้อกำหนดของ รฟท. ได้ เพิ่มแนวเส้นทางรถไฟย่อยออกจากแนวเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงของโครงการได้

 

คำถามคือเมื่อเพิ่มแล้วจะไปลงที่ดินของใคร และสุดท้ายคือ กรณีที่ รฟท. ต้องพัฒนาโครงการย่อยขยายจากสนามบินอู่ตะเภาไประยอง รฟท.ต้องให้สิทธิที่จะปฏิเสธก่อน นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดค่าปรับที่สูงถึง 60% และ
ประเด็นสำคัญคือ ร่างสัญญาเดิมสรุปว่า ถ้าเอกชนไม่ชำระค่าสิทธิหนึ่งหมื่นล้านบาท ตามเงื่อนไขจะต้องเสียค่าปรับวันละ 3,000,000 บาท ปรากฏว่าได้แก้ไขเป็นไม่มีการปรับ นี่เป็นสิ่งที่รัฐใช้ต่อรองกับเอกชนทุกวันที่ผ่านไปได้ แต่สัญญาที่ลงนามตัดตรงนี้ออกไป

 

*** สรุป 4 ความผิดปกติ **

พิจารณ์ กล่าวว่า จากที่ไล่เลียงมาสามารถสรุปและตั้งข้อสังเกตดังนี้

 

หนึ่ง โครงการฯ มีความผิดปกติตั้งแต่ขั้นก่อนการเริ่มประมูล เห็นได้จากการกำหนด รูปแบบการประมูลเพื่อให้แน่ใจว่า เอกชนคู่สัญญาที่ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิในการเข้าบริหารที่ดินมักกะสัน 140ไร่ ,การกำหนดค่าสิทธิในการบริหาร ARL เรียกได้ว่าเป็นการผลักภาระให้กระทรวงคลัง รับผิดชอบหนี้ 22,000ล้านบาท ในขณะที่เอกชนคู่สัญญาที่ชนะการประมูล จะได้รับสิทธิ 50ปี ด้วยราคา 1 ใน3 ของการลงทุนที่รัฐใส่ไปแล้ว

 

สอง หลังเปิดซองประมูล ได้รับผู้ชนะแล้ว กินเวลาเกือบปีกว่าที่จะมีการลงนามในสัญญาร่วมทุน แล้วก็ปรากฏ การแก้ไขสัญญาแบบ ลด แลก แจก แถม ทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์และการลดค่าปรับต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าปรับ 3 ล้านบาทต่อวัน หากไม่ชำระค่าสิทธิ ARL 10,671ล้านบาท ตามกำหนด เป็นไม่มีค่าปรับ

 

สาม หน่วยงานรัฐมีความพยายามปกปิดข้อมูล เพราะตั้งแต่การประชุมของ บอร์ด EEC ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 ต.ค. แม้จะมีการเผยแพร่หัวข้อการประชุมในWebsite ของ EEC แต่ไม่ปรากฎหัวข้อเรื่องข้อเรียกร้อง หรือ ข้อหารือของเอกชนคู่สัญญาให้เห็น จึงเป็นความตั้งใจปกปิดว่าวันนั้นมีการประชุมอะไร และยังใน ครม. ยังปกปิดข้อเรียกร้องของเอกชนว่า หารือด้วยข้อเรียกร้องอย่างไร ก็ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดให้สาธารณะได้รับรู้ บอกแต่เพียงเหตุว่าได้รับผลกระทบจากโควิดต้องได้รับการเยียวยา

 

สี่ เจตนาที่จะใช้ประชาชนเป็นตัวประกันเนื่องจากไม่พบความพยายามของภาครัฐที่จะหาทางออกก่อนครบกรอบสัญญา 24 ต.ค. ซึ่งตนไม่คิดว่าจะไม่มีการพูดคุยนอกรอบก่อนการประชุม วันที่ 4 ต.ค. โดยประธานบอร์ด EEC ก็คือ พล.อ. ประยุทธ์ แทนที่จะเจรจาล่วงหน้า เพื่ออย่างน้อย ก็ให้ รฟท. ได้หาทางรับมือ ในการเดินรถต่อไปได้ แต่ก็ไม่ทำอะไร  สุดท้ายรอให้ครบกรอบเวลา ทำเสียว่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยืดเวลาการชำระเงินให้เอกชน เพื่อให้การบริการไม่หยุดชะงัก จึงต้องเซ็นต์ MOU

 

สิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้ คือ ผลการพิจารณาของคณะทำงานที่ประกอบด้วย รฟท. สำนักงาน EEC คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ ว่าจะเป็นอย่างไร ให้ตามเอกชนขอมาหรือไม่ และถึงแม้ว่าจะมีการจ่ายมาแล้ว 10% หรือ 1,067ล้าน แต่ประเด็นคือ แล้วอีก 90% หรือ 9,600ล้านบาท จะจ่ายอย่างไร

 

ผมต้องเรียนว่า ข้อมูลที่ปรากฏนี้ เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนนำมาเผยแพร่ เพราะเนื้อหาในหนังสือที่ Asia Era One ยื่นหารือต่อภาครัฐนั้น ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ  ผมไม่อาจทราบได้ว่าสิ่งที่สื่อเผยแพร่ ถูกต้องหรือไม่ แต่ผมขอ
พูดดักคอไว้ก่อนเลยว่า หากเป็นไปตามข้อเรียกร้องของเอกชนที่สื่อมวลชนได้นำเสนอไป คือ ขอผ่อนจ่าย6 งวด เป็นเวลา 6 ปี โดยงวดแรกจะขอจ่ายเมื่อโควิดจบแล้ว

 

คือเมื่อภาครัฐได้ยกเลิกมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ตลิงค์แล้ว ถ้าขอกันถึงขนาดนี้ แบบนี้ SMEs ขอบ้างได้หรือไม่   ร้านอาหาร ผับ บาร์ ขอหยุดจ่ายหนี้จนกว่ารัฐจะยกเลิกมาตรการ แล้วให้กลับมามีลูกค้าเหมือนเดิมก่อนได้หรือ แล้วก็ยังขอจ่ายแบบ บอลลูนอีก คือ 5 งวดแรก ทยอยจ่าย 5% 7% 10% แล้วค่อยไปโปะเดือนสุดท้าย 58%

 

พิจารณ์ ย้ำว่า หากจ่ายแบบนี้ แปลว่า กลุ่มทุนนี้แทบจะไม่ได้ควักเงินจากกระเป๋าตัวเองมาจ่าย ค่าสิทธิที่เหลือ 9,600 ล้านบาทเลย แต่เป็นการนำเอารายได้ที่ได้จากการเดินรถมาจ่าย หากเป็นไปตามนี้ เรียกได้ว่า รัฐบาลประยุทธ์ ได้เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนคู่สัญญาเอกชนรายนี้อย่างมากมาย และไม่สามารถอ้างได้ว่า เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนเพราะถ้าเป็นหุ้นส่วนกัน มันคือการแบ่งทุกข์ เฉลี่ยสุข แต่หากอนุมัติให้แบบนี้ มันคือทุกข์อยู่กับประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ แต่สุขอยู่กับเอกชนคู่สัญญา 

 

***‘ก้าวไกล’ กร้าว กัดไม่ปล่อย**

พิจารณ์ ย้ำต่อไปวา พรรคก้าวไกลจะตามติดเรื่องนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนต่อไปอย่างแน่นอน ในวันจันทร์ที่ 1 พ.ย. นี้ คณะอนุกรรมาธิการติดตามงบประมาณการลงทุนขนาดใหญ่ ที่มี สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล เป็นประธาน จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเอกชนคู่สัญญาเข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการ ส่วนตนจะยื่นขอเอกสารและข้อมูลเพิ่มเติม จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่

 

1.หนังสือหารือของ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่ยื่นต่อภาครัฐเพื่อขอปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ

 

2.บันทึกการประชุม และรายงานการประชุม (ชวเลข) ของคณะกรรมการ EEC ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 64 ว่าด้วยมติเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของ"โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน"

 

3. บันทึกข้อตกลงเพื่อให้บริหารสัญญาร่วมลงทุน ในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด รับดำเนินการ แอร์พอร์ต เรลลิงก์ และให้มีบริการได้อย่างต่อเนื่องที่มีการลงนาม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ เอกชนคู่สัญญา บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด

 

4.รายละเอียดความคืบหน้าของ"โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน" ได้แก่ การส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนคู่สัญญา ในส่วนของ ดอนเมือง ถึง พญาไท

 

- การส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนคู่สัญญาในส่วนของ สุวรรณภูมิ ถึง อู่ตะเภา

 

-เวนคืน และรายละเอียดของมูลค่าการเวนคืนที่ดินแต่ละแปลงของประชาชนที่ได้รับไปแล้วทั้งหมด

 

-การเพิ่ม-ลด จำนวนของสถานีรถไฟความเร็วสูง : เอกชนคู่สัญญามีการเพิ่มจากข้อกำหนดของ การรถไฟแห่งประเทศไทยหรือไม่ ถ้ามีขอรายละเอียด
การเปลี่ยน หรือ ย้าย ที่ตั้งของสถานีรถไฟความเร็วสูง

 

5.แผนการพัฒนาโครงการฯ, แบบการก่อสร้าง, มูลค่าโครงการ และรายละเอียดความคืบหน้าของ"โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน" ในส่วนของการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์
·ที่ดิน 140ไร่ บริเวณมักกะสัน
·ที่ดิน 25ไร่ บริเวณศรีราชา
 

ผมขอสื่อสารไปยัง พลเอกประยุทธ์ ขอให้ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง หากมีความจำเป็นที่จะต้องเยียวยา พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสามารถชี้แจงรายละเอียด ต้องสามารถพิสูจน์ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ว่าอะไรคือเหตุสุดวิสัย อะไรคือขนาดของความเสียหาย และจำนวนเงินที่ต้องเยียวยา กระบวนการช่วยเหลือกลุ่มทุนรายนี้ต่อจากนี้ ไม่ว่าผลการพิจารณาในสามเดือนข้างหน้าจะออกมาอย่างไร พรรคก้าวไกลจะเฝ้าติดตาม แล้วนำมารายงานต่อพี่น้องประชาชน ผมและก้าวไกลขอเรียนว่า เราไม่ได้รังเกียจทุนใหญ่ แต่การ
แข่งขันทางธุรกิจต้องอยู่บนกติกาที่เท่าเทียมและเป็นธรรม เหมาะสมกับทุกฝ่ายและเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุ
 

logoline