เจ้าของคลิปช้างบุกครัว เปิดใจนาทีระทึกกลางดึก ทำได้แต่ตะโกนไล่พร้อมอัดคลิป
เจ้าของคลิปและภาพช้างบุกพังกำแพงห้องครัว รื้อค้นสิ่งของ จนถูกแชร์เป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ เล่านาทีช้างบุกเข้ามากลางดึก ทำเอาตกใจ
จากกรณีเฟซบุ๊กของ รัชฎาวรรณ ผึ้งประสพพร ได้โพสต์ภาพและคลิปวีดีโอ "ช้างบุกครัว" โดยช้างได้เข้ามาบริเวณห้องครัวของบ้าน ซึ่งภายหลังมีคนแชร์ภาพช้างบุกครัวดังกล่าวออกไปเป็นจำนวนมาก ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้า วันที่ 20 มิถุนายน 2564 นางรัชฎาวรรณ ผึ้งประสพพร อายุ 29 ปี ชาวหมู่บ้านเฉลิมเกียรติพัฒนา ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าของโพสต์ช้างบุกครัวดังกล่าว เปิดเผยว่า เมื่อช่วงตี 2 ที่ผ่านมาขณะนอนหลับสนิทอยู่กับครอบครัวภายในบ้านปูนชั้นเดียว ต้องตกใจตื่นกับเสียงโครมครามคล้ายของสิ่งของตกหล่นภายในครัว
นางรัชฎาวรรณ บอกว่า จึงออกมาดูถึงกลับตกตะลึงพบช้างป่าละอูจำได้ว่าเป็น "พลายบุญช่วย" ช้างป่าละอูที่ออกหากินตามชุมชนอยู่เป็นประจำกำลังใช้หัวมุดกำแพงครัวที่พังเป็นรูใหญ่ใช้งวงรื้อหาของกินอย่างจ้าละหวั่น จนหม้อ - กระทะตกหล่นกระจาย โชคดีช้างติดเคาเตอร์ครัวเข้ามาในบ้านไม่ได้
นางรัชฎาวรรณ เล่าต่อไปว่า จากนั้นได้ตะโกนขับไล่พร้อมนำโทรศัพท์มือถือถ่ายภาพไว้ หลังจาก "พลายบุญช่วย" รื้อหาของกินจนหนำใจแล้วได้เดินหายไปกับความมืด จนรุ่งเช้าจึงแจ้งเจ้าหน้าที่
สำหรับ "พลายบุญช่วย" ก่อนหน้านี้ 2 เดือน ได้เข้ามาหากินถึงบ้านพัก ก่อนใช้หัวดันทะลุกำแพงบ้าน เสียหายเกือบ 5 หมื่นบาท หลังเกิดเหตุได้แจ้งให้ อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ทราบแต่เรื่องก็เงียบ ไม่นาน "พลายบุญช่วย" ก็ย้อนกลับเข้ามาหาของกินที่บ้านหลายครั้ง ซึ่งพยายามเก็บอาหารให้มิดชิดไม่ให้มีกลิ่น ยังถูกช้างบุกต่อเนื่อง
ด้าน นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี สั่งการให้อุทยานแก่งกระจาน ประสาน อบต.ช่วยเหลือวัสดุก่อสร้างโดยให้เจ้าหน้าที่อุทยาน ฯช่วยซ่อมแซมบ้าน สำหรับช้างป่าละอูที่มีพฤติกรรมดื้อไม่ตอบสนองต่อการขับไล่และการผลักดันของเจ้าหน้าที่ มีพฤติกรรมชอบเดินบนถนนและหาออกกินในชุมชนเวลากลางคืน สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาระหว่างช้างกับคนให้เข้าไปอยู่ในป่าลึกห่างชุมชน อยู่ระหว่างการดำเนินการโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นายพิชัย กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯอนุมัติให้คณะเจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ติดตามพฤติกรรมโดยเสนอการติดปลอกคอติดตามตัวสัตว์สัญญาณดาวเทียม (GPS Collar) เพื่อทราบเส้นทางการเคลื่อนที่ การหากินทางด้านนิเวศวิทยาเพื่อเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้ช้างเข้าสู่เขตชุมชน รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่รองรับที่จะนำช้างไปปล่อยทั้งด้านความสมบูรณ์ของพื้นที่ แหล่งน้ำ-อาหาร และประชากรช้างป่า