ข่าว

"ต๊ะ-พิภู" โพสต์ถึง "คดีน้องชมพู่" บทเรียนราคาแพงของวงการสื่อ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ต๊ะ-พิภู พุ่มแก้วกล้า' ผู้ประกาศ เนชั่นทีวี22 โพสต์ผ่านเพจ "People Persona" ให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีน้องชมพู่ กับ ความรับผิดชอบของสื่อ 

     เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน  ‘ต๊ะ-พิภู พุ่มแก้วกล้า’ ผู้ประกาศ เนชั่นทีวี22 ได้โพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊ก "People Persona" ความคิดเห็นเกี่ยวกับคดี "น้องชมพู่" ที่กลับมาเป็นกระแสบนหน้าสื่ออีกครั้ง หลังเมื่อกว่า 1 ปี ที่ผ่านมา คดีดังกล่าวสร้างปรากฎการมากมายบนหน้าสื่อทั้งดีและร้าย สำหรับคนทำสื่อ 

     ต๊ะ ภิภู จวกหัวไว้ว่า  “สังคม สังเคราะห์ สื่อ...... สื่อ สังเคราะห์ สังคม”

     ก่อนที่จะเริ่มข้อความ ตอนแรก ผมว่าจะไม่เขียนและไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่พิลึกพิลั่น (คำนี้กำลังฮิต LoL) ที่สร้างความสับสน สัปดน อลหม่าน ให้กับประเทศไทย หรือคนไทย(บางกลุ่ม) ตลอดช่วง 1 ปี กับอีกเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมาอยู่แล้ว 

     กะว่าจะขอเป็นแค่คนเฝ้าสังเกตุการณ์อยู่ห่าง ๆ เหมือนเดิม เพราะบทสรุปที่ใกล้เข้ามา ก็ไม่ได้ไกลที่จากผมและหลาย ๆ คนคาดเดาเท่าไหร่ เมื่อความจริงเริ่มกระจ่าง เมื่อแสงบาง ๆ สว่างมากขึ้น เมื่อคนหลาย ๆ คนเลิกหลับหูหลับตาหาประโยชน์ และเมื่อหลักฐานชิ้นสำคัญของตำรวจมาถึง ทุกอย่างก็จะชัดเจนในตัวมันเอง... และที่สำคัญ ผมก็โคตรจะงานยุ่งเลยด้วย ช่วงปีนี้!

     แต่แล้วเมื่อเห็น การซัดกันไปมา โจมตีและโยนความผิดในเรื่องนี้ให้แก่กันและกัน ของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า "สื่อ" พี่น้องที่ไม่ได้มาจากท้องเดียวกันแต่เคยทำงานหรืออยู่ในวงการร่วมกัน ก็ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า เราจะปฎิเสธความจริงและความรับผิดชอบเรื่องนี้ง่าย ๆ อย่างงั้นหรือ 

     "ว่าไม่เกี่ยวกับกู กูไม่เคยนำเสนอเรื่องราวนอกเหนือจากคดี ไม่เคยให้ความสำคัญกับมุมบันเทิงต่าง ๆ ของผู้ต้องสงสัย ไม่ได้สนใจและปล่อยผ่านไปมาตลอด กูไม่ได้ช่วยปั้นใครเป็นซุปเปอร์สตาร์ ซะหน่อย?" …. เพราะในมุม ๆ นึง ผมเองก็คือผู้สื่อสารคนนึงที่เคยทำงานในช่องสถานีโทรทัศน์หลัก ๆ มามากมายตลอด 10 ปีที่ผ่านมา      

     การปล่อยผ่านเรื่องบางเรื่อง ก็อาจเท่ากับการละทิ้งหน้าที่อันพึงกระทำ พึงรับผิดชอบต่อสังคมไม่ต่างกัน โดยปล่อยให้เรื่องราวมันมั่ว ๆ ซั่ว ๆ ไป สังคมก็สนุกกันแบบมั่ว ๆ ไป แบบนั้น
ผมยังจำว่าได้เมื่อสิบกว่าปีก่อน ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล เคยมาเป็นวิทยากร อบรมให้พวกเราผู้ประกาศของสำนักข่าวไทย ตั้งแต่สมัยยังละอ่อน เป็นแค่ผู้ประกาศฝึกหัด 

     โดยบอกว่า การเป็นนักข่าว เป็นผู้สื่อข่าว ต้องไม่รวย ต้องไม่ขายวิญญาญให้ขั้วตรงข้ามของความจริง ให้ชื่อเสียง หรือเงินทอง คนข่าวไม่ควรเป็นแม้กระทั่งพรีเซนเตอร์ (ตอนนั้นผมแอบยิ้มในใจ ว่า โคตรเท่ แต่ทำยากจังฮะจารย์ ^^”) 

     แล้วท่านก็ยังบอกอีกว่า ให้ไปหาหนังสือเรื่อง The Elements of Journalism มาอ่าน โดยบอกว่านักข่าวทุกคนต้องอ่าน .....แต่ด้วยความสัตย์จริง 12 ปีผ่านมาผมก็ยังไม่เคยอ่านซักกะหน้า จนกระทั้งวันนี้.......

     Journalism’s first obligation is to the truth “หน้าที่แรก ที่สำคัญที่สุดของการเป็นนักสื่อสารมวลชนคือพันธะผูกพันต่อความจริง”

     แค่ข้อแรกก็จุกและ ไม่ต้องไปถึงเรื่องจรรยาบรรณของสื่อหรือ การบายอ่งบายแอส เลือกข้างอะไร เพราะถ้ามองให้ลึก เมื่อเราปล่อยผ่านก็เท่ากับละเลยความจริงที่ซ่อนอยู่ตรงหน้านั่นเอง
ในวันที่หลายคนหลงลืมจุดเริ่มต้นของการเริ่มต้นทำงานในสายนี้ แล้วเลือกที่จะทำข่าว หรือสื่อสารเอากระแส ความดัง เงิน และ เรตติ้ง 

     ผมเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ ยังคงมีมุมมองในมุมบวกให้เราได้ศึกษา วันนี้เราได้เรียนรู้แล้วว่า โลกที่เปลี่ยนไป กับเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าล้ำสมัย รวดเร็วฉับไว และใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ เมื่อทุกคนมีบทบาท มีน้ำหนักมากขึ้นในการเป็นสื่อส่วนบุคคลที่เมื่อสื่อสารออกไป พูดหรือโพสต์ออกไปรวมกันมาก ๆ ก็กลายเป็นสื่อโซเชี่ย เอ้ย โซเชียล!  ก็กลายเป็นพลังสื่อมวลชนแบบย่อม ๆ (ที่ไม่ต้องผ่านการอบรม ผ่านการคัดกรอง หรือรับผิดชอบใดๆ) 

     ดังนั้นกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า "สื่อสารมวลชนตัวจริง" ที่ร่ำเรียนมา ผ่านการฝึกฝนอบรมมา และทำงานมาด้วยอุดมการณ์ที่มุ่งมั่น ยิ่งควรมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เลือกนำเสนอออกไปในแต่ละครั้งมากยิ่งขึ้น... การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ผิด แต่ถ้าจะผิดก็คงมาจากการเลือกนำเสนอผิดมุม ผิดวิธี ผิดเรื่องราว จนมองข้ามหรือหลงลืมข้อเท็จจริงไป   

     คดีของเด็กสาววัย 3 ขวบที่เสียชีวิตเมื่อปีก่อน จะเป็นบทเรียนราคาแพงที่แลกมาจากความอัปยศอีกครั้งของวงการสื่อ ซึ่งเราทุกคนควรรับผิดชอบร่วมกัน มากกว่าจะมัวแต่หาว่าต้นตอมาจากใคร โทษกันไปมาว่าใครควรรับผิดชอบในเรื่องนี้ เพราะมันคงสายเกินไปแล้ว...

     อยากเขียนมากกว่านี้ แต่ง่วงนอนแล้ว สุดท้ายนี้อยาก ขอขอบคุณ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากใจ ที่ฉลาด ไม่ไขว้เขว ทำคดีอย่างใจเย็นและตรงไปตรงมา (เมื่อดีก็ต้องชม) เพราะในวันข้างหน้า จะยังคงมีเรื่องอีกมากที่ประชาชนต้องพึ่งพาพวกท่าน 

     และไม่ว่าในท้ายที่สุดคดีนี้จะจบลงยังไง สังคมไทยก็ต้องเติบโต และช่วยสังเคราะห์แสงให้กันและกัน เพราะในวันที่ทุกคนเป็นสื่อได้ สื่อย่อมต้องเป็นมากกว่าสื่อ และสื่อ ต้องกลับมาเป็นเส้นเสียงใหญ่ เป็นกระบอกเสียงสำคัญให้กับประชาชนอย่างแท้จริงอีกครั้ง...

     และในขณะเดียวกัน“Citizens, too, have rights and responsibilities when it comes to the news.” ประชาชนคนไทยเอง ก็มีสิทธิ์และความรับผิดชอบต่อข่าวและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศด้วยเช่นกัน

 

เครดิต https://www.facebook.com/254779257876595/posts/4280528028635011/


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ