ข่าว

"ฎีกา" ยืนสั่งจำคุก 2 ปี "ศิริโชค โสภา" หมิ่นประมาทนักธุรกิจทายาทโรงแรมดัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 2 ปี ปรับ 1 แสน "ศิริโชค โสภา" อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นประมาทนักธุรกิจ ทายาท เจ้าของโรงแรมดัง โทษจำให้รอลงอาญา 2 ปี

22 เม.ย.64  ที่ห้องพิจารณาคดี 806 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ที่นายอนุชา สิหนาทกถากุล อายุ 62 ปี นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตระกูลดังบุตรชายของนายมนตรี สิหนาทกถากุล เจ้าของธุรกิจโรงแรมแลนด์มาร์ค เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศิริโชค โสภา อายุ 54 ปี อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค. - 8 ต.ค. 2558 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทำนองว่าบิดาของนายอนุชาโจทก์ เป็นคนไม่ดี ชอบเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ทำให้โจทก์รู้สึกได้รับความเสียหาย จึงนำเรื่องมายื่นฟ้องเป็นคดี โดยนายศิริโชค จำเลยให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามมาตรา 328 จำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท พร้อมทั้งให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับด้วย ได้แก่ ไทยรัฐ, เดลินิวส์, ผู้จัดการ และเดอะเนชั่นภาคภาษาอังกฤษ 

ต่อมาศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2562 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนายมนตรี ผู้เสียชีวิต โจทก์อ้างตนเองเบิกความว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2553 น.ส.เสาวรส โสภา มารดาของนายศิริโชค ได้กู้ยืมเงินจากนายมนตรี บิดาของโจทก์จำนวน 15 ล้านบาท และได้รับเงินเรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ น.ส.เสาวรส เป็นบุคคลล้มละลายตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2550 ก่อนกู้ยืมเงิน ทำให้ น.ส.เสาวรส ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ ผู้ตายจึงฟ้อง น.ส.เสาวรส ต่อศาลแขวงกรุงเทพใต้ แต่ภายหลังได้ถอนฟ้องในชั้นอุทธณ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2558 นายศิริโชค จำเลย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ทำนองว่านายมนตรี บิดาของโจทก์เป็นคนขี้โกง ชอบเอารัดเอาเปรียบ แม่โดนหลอกให้กู้ยืมเงิน โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 สุดท้ายแม่ก็ถูกศาลจำคุก และที่เราแพ้คดีเพราะเรามีหลักฐานไปหักล้างเขาได้ 

ซึ่งข้อความดังกล่าวที่โพสต์ลงในเฟซบุ๊กตั้งค่าเป็นสาธารณะและปักหมุดให้เห็นเป็นหน้าแรก ทำให้ผู้ติดตามแสดงความคิดเห็นตำหนินายมนตรี ผู้เสียชีวิต และโจทก์ซึ่งเป็นบุตร เป็นการทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าผู้เสียชีวิตและครอบครัวโจทก์เป็นคนไม่ดี ได้รับความเสียหายถูกดูหมิ่นเกลียด  ขณะที่นายศิริโชคอ้างว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นของผู้สนับสนุนตนเป็นคนทำขึ้น แต่ศาลเห็นว่า ชื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กศิริโชค ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ เคยโพสต์ข้อความอื่นๆ จริง นอกจากนี้ ทางนำสืบโจทก์ยังระบุว่า ได้มีการตรวจสอบจากวิกิพีเดียด้วยซึ่งระบุว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของนายศิริโชค โดยมีการแสดงข้อมูลไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์โพสต์ข้อความหมิ่นประมาท นาน 2 ปี ขณะจำเลยก็ไม่เคยเข้าโต้แย้งว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง
 

แม้ว่าโจทก์จะนำสืบไม่ได้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องไอพีแอดเดรส ที่จะแสดงตำแหน่งของการโพสต์ในคอมพิวเตอร์ แต่พยานหลักฐานที่นำสืบมาสอดคล้องกับ ที่อยู่บนเว็บไซต์ของอินเตอร์เน็ต หรือยูอาร์แอล (อังกฤษ : URL) ที่ตรงกับเฟซบุ๊กของจำเลย 

ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเคยมีการปลอมของบุคคลผู้มีชื่อเสียง ก็ไม่เคยปรากฏว่าเป็นกรณีของจำเลยมาก่อน จึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยการโฆษณา ตามมาตรา 328 ให้จำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท แต่จำเลยเคยเป็นเลขานุการส่วนตัวนายกรัฐมนตรี เคยทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องการนำรถของทางราชการไปใช้ขนยาเสพติด โดยไม่หวั่นเกรงเรื่องความไม่ปลอดภัย จึงเห็นว่าได้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติมีคุณงามความดี แม้จะกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ก็อาจเยียวยาด้วยการโฆษณาลงในสื่อสิ่งพิมพ์ได้ จึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

อย่างไรก็ตาม วันนี้ นายศิริโชค จำเลย เดินทางมาศาล พร้อมด้วยทนายความ เพื่อฟังคำพิพากษา 

ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษากันแล้ว พิเคราะห์ว่า ข้อเท็จจริงรับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่า เฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของจำเลยจริง และจำเลยได้โพสต์ข้อความที่เป็นการใส่ความนายมนตรี ผู้ตาย ว่าเป็นคนไม่ดี เป็นคนโกง และทำผิดกฎหมาย ย่อมไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาประการอื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน.
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ