ข่าว

เปิดเหตุผล "เพชร โอสถานุเคราะห์" ทิ้งหุ้นโอสถสภา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อ "โอสถสภา" ขายหุ้นบิ๊กล็อต 687.72 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 2.27 หมื่นล้านบาท และมีชื่อทายาทคนสำคัญ "เพชร โอสถานุเคราะห์" ผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 4 เทขายหุ้นจำนวน 381.35 ล้านหุ้น มูลค่า 12,584.55 ล้านบาท อะไรคือเหตุผล? กรุงเทพธุรกิจ ชวนวิเคราะห์

โอสถสภา” องค์กรธุรกิจกว่า 100 ปี ภายใต้การดูแลของ “ทายาทโอสถานุเคราะห์ รุ่น 4” ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ตั้งแต่การเปลี่ยนผ่าน ธุรกิจครอบครัว” ให้เป็น มหาชน” ทำให้มีการปรับโครงสร้างภายในมากมาย ทั้งโครงสร้างผู้บริหาร ดึง “คนนอก” ที่มีประสบการณ์ มากฝีมือบนเส้นทางธุรกิรจ ปรับพอร์ตโฟลิโอให้มีความแข็งแรง เป็นต้น 

ล่าสุด ประเด็นฮอตของบริษัท คือการเทขายหุ้น “บิ๊กล็อต” จำนวน 762,718,000 หุ้น คิดเป็น 25.39% ในจำนวนนี้ ผู้ที่ขายหุ้น ปรากฏชื่อของ Orizon Limited ได้จำหน่ายหุ้นสามัญของบริษัทจำนวน 261,060,475 หุ้น คิดเป็น 8.69% และ “เพชร โอสถานุเคราะห์จำหน่ายหุ้นสามัญจำนวน 120,298,525 หุ้น คิดเป็น 4% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ ให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะเจาะจง (Private Placement)

พร้อมกันนี้ โอสถสภา ได้ร่อนจดหมายแจงการขายหุ้น เพราะผู้ถือหุ้นมีความสนใจที่จะอุทิศทรัพยากรของตนไปใช้ในโครงการอื่นๆ ซึ่งมุ่งหมายไปที่โครงการด้านศิลปะวัฒนธรรม วางรากฐานให้วงการ รวมถึงด้านการศึกษาของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งล้วนแล้วต้องใช้ งบประมาณ ในการสนับสนุน แต่เพียงผู้ชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ จะเสกสิ่งต่างๆดังหวัง ดังนั้นการขายหุ้น จึงทำให้ เพชร สานสิ่งที่ตั้งใจได้เต็มที่กว่าเดิม

ทั้งนี้ การเทขายหุ้นดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่ม Orizon มีสัดส่วนหุ้นลดเหลือ 15.06% จากเดิม 27.75% ส่วน นิติ โอสถานุเคราะห์” ที่เข้าซื้อหุ้นของบริษัทฯ เพิ่มเติมจำนวน 215,000,000 หุ้น จึงมีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 23.80%

เปิดเหตุผล \"เพชร โอสถานุเคราะห์\" ทิ้งหุ้นโอสถสภา

 เพชร โอสถานุเคราะห์ กับผลงานศิลปะ "แมวดำ" ณ อาคารหมายเลข ๕ โอสถสภา

หากเปิดเหตุผลที่ เพชร โอสถานุเคราะห์” เทขายหุ้นเกลี้ยงพอร์ตของตัวเอง จากก่อนหน้านี้เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 4 เนื่องจากบุคลิกส่วนตัวที่ชอบ “เก็บตัว” หรือ Introvert ประกอบกับการเป็น “ซีอีโอสุดติ๊สท์” หรือมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัวสูง จึงเห็นการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก 

ทว่า เมื่อบริษัทต้องผันตัวจากธุรกิจครอบครัวเพื่อแปลงเป็น “มหาชน” จึงยอมเล่าถึงทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจบ้าง 

ผมเป็นคนสันโดษ ชอบทานข้าวคนเดียว ชอบไปไหนมาไหนคนเดียว แต่ที่ให้สัมภาษณ์เพราะสื่อสารองค์กรสั่งให้คุณเพชรสัมภาษณ์หน่อย เผื่อหุ้นจะขึ้น” ประโยคสนทนาพร้อมเสียงหัวเราะดัง เมื่อครั้งที่ เพชร เคยให้สัมภาษณ์พิเศษ  กรุงเทพธุรกิจ

 

แม้ เพชร จะจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด จากสหรัฐ แต่กลับไม่ชอบบริหารกิจการครอบครัวอย่าง โอสถสภา มากนัก โดยเลือกทุ่มเทให้กับธุรกิจ การศึกษา ด้วยการบริหาร “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยาวนานกว่า 20 ปี 

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าจะไม่กลับมาดูแลองค์กรร้อยปีที่ทำรายได้ หมื่นล้านบาท” เพราะเรียนจบมา มีโอกาสทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่บิดา สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์” ตั้งแต่ปี 2520 แต่เพียงไม่นานก็ออกไปปลุกปั้นธุรกิจโฆษณา “สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง” เหตุผลเพราะตอนทำงานกับครอบครัว “แสดงความเห็นไม่ได้” ประกอบกับส่วนตัวชอบงานความคิดสร้างสรรค์หรือ Creative จึงลุยเดินหน้ากับธุรกิจตนเอง 

อย่างไรก็ตาม ปี 2558 เพชร หวนคืนบัลลังก์ผู้นำองค์กรอีกครั้ง เมื่อน้องชาย รัตน์ โอสถานุเคราะห์ ที่กุมบังเหียนอยู่โบกมือลาเก้าอี้บริหารด้วยปัญหาสุขภาพ 

เปิดเหตุผล \"เพชร โอสถานุเคราะห์\" ทิ้งหุ้นโอสถสภา

                          Cr.เฟซบุ๊ก Petch Osathanugrah

 

สำหรับการกลับมาของ เพชร เจ้าตัวสลัด Passion ปล่อยวางความชอบส่วนตัวทั้งการเป็นศิลปิน นักแต่งเพลงง นักเขียน ซึ่งการอยู่ในจุดนี้ เพชร ถือว่าเป็น Perfectionist อย่างมาก ส่วนผลงานแม้จะห่างหายการออกอัลบั้มเพลงนานร่วม 20 ปี มีนิยายแต่งทิ้งไว้กว่า 10 เรื่องด้วย

“การบริหารโอสถสภา ทำให้ต้องลดความทะเยอทะยาน ปล่อยวางความชอบส่วนตัวลง”  

อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเป็นกลับเข้ามานำทัพโอสถสภา จึงถือเป็นห้วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะบริษัทต้องจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระหว่างทางมีการดึงผู้บริหารมืออาชีพขั้นเทพ! เสริมทัพมากมาย เช่น กรรณิกา ชลิตอาภรณ์  ประธานคณะกรรมการบริหาร, วรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งคร่ำหวอดในองค์กรยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลก “ยูนิลีเวอร์” รวมถึงเขย่าและรื้อโครงสร้างพนักงาน “นับพัน” ชีวิต เรียกว่าช่วงเวลาก่อนหน้านี้มีการผ่องถ่ายเลือดเก่านับพันชีวิต เสริมทัพเลือดใหม่ร่วม “ร้อยชีวิต”

ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จุดอ่อนของการเป็นธุรกิจครอบครัว “โอสถสภา” คือความไม่ชัดเจนหลายด้านทั้งบริหาร ตัวเลขรายได้ อำนาจการสั่งการ ฯ แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านองค์กรเป็นมหาชน ทำให้ทุกอย่างต้องรายงานอย่าง “เปิดเผย” วางแผนงานไว้ต้องทำเพื่อขับเคลื่อนสู่ “เป้าหมาย” 

เมื่อก่อนการรายงานธุรกิจให้บอร์ดไม่ชัดเจน รายงานเพื่อทราบ แต่ก็ไม่ได้มี Power จริงจัง เพราะมันเป็นบอร์ดครอบครัว ฟังๆ ไม่ได้ Involved มากมาย อย่างคุณรัตน์ น้องชายผมก็อยู่แบบพี่น้อง เพื่อน รักกันมาก วันนี้มีตัวเลขมาให้ดูละเอียด และไม่ใช่แค่บอร์ดที่รับรู้ พนักงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(Stakeholders)เห็นตัวเลขเดียวกันหมด เรายังฉายภาพให้เห็นว่าการเติบโตในอนาคตจะเป็นอย่างไร เป้าหมายชัดเจนและมีความเป็นมืออาชีพมาก เพชร เคยให้เหตุผล 

เปิดเหตุผล \"เพชร โอสถานุเคราะห์\" ทิ้งหุ้นโอสถสภา

                               ทีมคณะกรรมการบริหารโอสถสภา

ส่วนสินค้าที่เคยมองว่าพอร์ตโฟลิโอค่อนข้างสะเปะสะปะ ก็จัดทัพใหม่ให้แข็งแกร่ง สินค้าโดดเด่นแต่ไม่ทำกำไร ซับซ้อนต้องโละทิ้ง จนเหลือ “พระเอกตัวจริง” ที่จะเป็นหัวหอกลุยตลาด สร้างการเติบโตในอนาคต 

เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นพอร์ตโฟลิโอใหญ่ แต่เป้าหมายใหม่ที่บริษัทต้องการโฟกัสมากขึ้นคือ “สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล” หรือ Personal care ที่เคยคาดหวังให้สัดส่วนรายได้เติบโต 10 เท่า รวมถึงเครื่องดื่มหมวดหมู่ใหม่ๆ ผลักดันการเติบโต 

อย่างไรก็ตาม กลางปี 2563 เพชร ส่งสัญญาณถอย! จากเก้าอี้บริหารด้วยการ ลาออก” จากตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยส่งไม้ต่อให้ กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” หญิงแกร่งแห่งวงการธุรกิจ และ ธนา ไชยประสิทธิ์” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในทายาทรุ่น 4 ทำงานเคียงคู่องค์กรมานานกว่า 3 ทศวรรษ  

กระทั่งล่าสุด กับการตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้งพอร์ต เพื่อไปโฟกัสงานศิลปะ วัฒนธรรม และการศึกษาอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่สิ่งที่ต้องจับตาดูคือทิศทางธุรกิจของ “โอสถสภา” จะเป็นอย่างไรต่อไป แผนงานที่เคยประกาศไว้เมื่อครั้งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปรับทัพเปลี่ยนแปลงหรือคงเดิมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจว่าองค์กรจะเติบโต 

เปิดเหตุผล \"เพชร โอสถานุเคราะห์\" ทิ้งหุ้นโอสถสภา

แม้ โอสถสภา จะเป็นมหาชน แต่ภาพธุรกิจครอบครัวที่ยืนหยัดมายาวนานถึงรุ่น 4 ยังเป็นที่จดจำของคนไทย ทว่า ท่ามกลางบริบทการค้าขายที่เปลี่ยนแปลง ปลาเร็วกินปลาช้า พฤติกรรมผู้บริโภคพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ปัจจัยภายนอกแปรผันรุนแรง ฯ และทฤษฎีการสืบทอดกิจการครอบครัวที่เข้าสู่รุ่น 4 มัก ล้มเหลว” มีเพียง 4% ที่สามารถยืนหยัดอยู่รอด (ที่มา:ศ.โยอาคิม ชวาส ผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจศึกษาครอบครัวระหว่างประเทศ สถาบัน MID Global Business Center เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) 

พลังเพื่อเสริมสร้างชีวิต หรือ OSOTSPA THE POWER TO ENHANCE LIFE  เป็นสโลแกนของบริษัท ที่มุ่งมั่นเป็นพลังเพื่อผู้บริโภค พนักงาน สังคม ผู้ถือหุ้น เพื่อทุกคน จึงต้องเกาะติดกันยาวๆว่า โอสถสภา” จะเป็นหนึ่งในเปอร์เซ็นต์ส่วนน้อย ที่จะมีพลังส่งต่อสืบทอดธุรกิจถึงรุ่นถัดไปได้ไกลแค่ไหน 

ที่มา..กรุงเทพธุรกิจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ