ข่าว

เครื่องจับเท็จ... เด็ดปีกอาชญากร ปลิดชีพ 'น้องชมพู่'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อีกประเด็นที่น่าสนใจกับคดี 'น้องชมพู่' คือการนำตัว 2 คนดัง แห่งบ้านกกกอก 'ลุงพล-ป้าแต๋น' เข้าเครื่องจับเท็จ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ จากมหากาพย์คดีฆาตกรรม แต่หลายคนอาจสงสัยว่า เครื่องมือที่ว่านี้ มีรูปแบบการทำงานอย่างไร มีประสิทธิภาพจับโกหกได้จริงหรือไม่

วันที่ 8 มกราคม 2564 รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรมมหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ 'ข่าวข้นคนข่าว' ทางสถานีข่าวเนชั่นทีวี ถึงขั้นตอนสำคัญของการไขคดีน้องชมพู่ ว่า เครื่องจับเท็จ หรือที่เรียกว่า 'โพลีกราฟ' เป็นอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้บันทึกสัญญาณที่ส่งจากตัวรับสัญญาณ หรือเซนเซอร์ จากร่างกายเพื่อส่งต่อไปยังกราฟคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีการบันทึกการหายใจ การเต้นของชีพจร ความดันโลหิตและการขยายตัวของปอด

ก่อนหน้านี้ มีการนำเครื่องจับเท็จมาใช้ภายในสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 เครื่อง แต่ปัจจุบันยังไม่มีการระบุว่า มีจำนวนเครื่องและการนำไปใช้ในพื้นที่ใดบ้าง

สำหรับการทำงานของเครื่องจับเท็จ เป็นการนำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และเทคนิคทางจิตวิทยามาใช้ควบคู่กัน โดยจะมีการวางตัวรับสัญญาณไว้บนร่างกาย ประมาณ 46 จุด ซึ่งเป็นการจับการเคลื่อนไหวและการขยับเขยื้อนทั้งหมดของผู้เข้ารับการทดสอบไม่ว่าจะเป็น อัตราการเต้นของหัวใจ ความถี่ของการหายใจเข้าออก เหงื่อที่ออกตามจุดต่างๆของร่างกายสีหน้าและแววตา และกริยาพิรุธอื่นๆ เช่น การกัดลิ้น กระดิกเท้า จิกเล็บ เป็นต้น รวมถึงมีการบันทึกเสียงและวิดีโอเพื่อเป็นหลักฐานอีกด้วย

อ.กฤษณพงศ์ บอกอีกว่าการสอบสวนผ่านเครื่องจับเท็จจนทำให้สามารถไขคดีในได้ในที่สุด นั่นคือคดีสะเทือนขวัญคนไทย เมื่อปี 2541 กรณี่ที่นายเสริม สาครราษฎร์ ฆ่าหั่นศพแฟนสาวรุ่นพี่ นางสาวเจนจิรา พลอยองุ่นศรี และอีกหนึ่งคดี คือคดีแท็กซี่กำมะลอ นายสมพงษ์ เลือดทหาร ที่โกหกว่า ตนเองเก็บเงินและทรัพย์สินได้นับสิบล้านบาทแต่สุดท้ายคนร้ายทั้งสองคดีก็มาจนมุมจากนักสืบที่ชื่อว่า "เครื่องจับเท็จ"

แต่สำหรับคดี 'น้องชมพู่' การจะใช้เครื่องจับเท็จให้ได้ผลสำเร็จมากที่สุด ควรจะนำตัวผู้ต้องหาเข้ารับการสอบสวนผ่านเครื่องจับเท็จทันทีหลังเกิดเหตุ หรือเมื่อลงมือกระทำกับน้องชมพู่ เพื่อที่จะได้มีเวลาในการเตรียมตัวหรือหาข้อมูลมาเบี่ยงเบนประเด็นไม่ทันซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถจับพิรุธที่เกิดขึ้นจากตัวผู้ต้องหาได้ไม่ยาก

แม้เครื่องจับเท็จมีส่วนสำคัญในการจับพิรุธพฤติกรรมจากคนร้าย ไม่ต่างจากหลักฐานอย่างกล้องวงจรปิด หรือพยานบุคคล แต่ในทางการพิจารณาของศาลนั้นข้อมูลจากเครื่องจับเท็จก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในการพิจารณาคดีเท่านั้นและสิ่งที่สำคัญก็คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรที่จะมีการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องจับเท็จให้มากขึ้นกว่าเดิมโดยเฉพาะการให้เจ้าหน้าที่ผ่านการอบรมด้านนี้โดยตรง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ