ข่าว

พบหวีวุ้นชนิดใหม่ใต้ทะเลลึก ชื่อทางการ Duobrachium Sparksae คล้ายลูกโป่ง (คลิป)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิทยาศาสตร์ยืนยันการพบสิ่งมีชีวิตใหม่ใต้ทะเลลึก 4 กม. หวีวุ้นรูปร่างคล้ายลูกโป่งมีหนวดยาว 2 เส้น ครั้งแรกนักวิทย์ยืนยันสิ่งมีชีวิตใหม่ผ่านคลิปคมชัดสูง

 

ทีมวิจัยสำนักงานบรรยากาศและมหาสมุทรของสหรัฐอเมริกา (โนอา) ประกาศเรื่องการค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ในไฟลัมทีโนฟอรา หรือหวีวุ้นชนิดใหม่ สัตว์ที่มีรูปร่างภายนอกคล้ายแมงกะพรุนแต่เป็นคนละชนิดกัน ระหว่างการส่งหุ่นยนต์ ดีป ดิสคอฟเวอร์เรอร์ ( Deep Discoverer ) ลงสำรวจใต้ทะเลลึกนอกชายฝั่งใกล้เปอร์โตริโก  โดยเจ้าสิ่งมีชีวิตใหม่มีชื่อทางการว่า Duobrachium Sparksae  พบที่ความลึก 4 กม. ลักษณะคล้ายลูกโป่งที่ใช้ในงานรื่นเริง  เปล่งแสงคล้ายปริซึมขณะยืดหดตัวเคลื่อนไหวไปตามกระแสน้ำ 

 


แม้ทีมวิจัยไม่มีตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่มาใช้ศึกษาในห้องแลบ แต่คลิปคมชัดสูงจากหุ่นยนต์สุดล้ำ ช่วยให้ข้อมูลมากพอในการทำความเข้าใจกายสัณฐานวิทยาในรายละเอียดที่มีขนาดแค่ 1 มิลลิเมตร จนแยกความแตกต่างจากทีโนฟอราชนิดอื่นๆ  เช่น ตำแหน่งของอวัยวะสืบพันธุ์  นับเป็นครั้งแรกของการยืนยันพบสิ่งมีชีวิตใหม่จากก้นมหาสมุทรจากคลิปคมชัดสูง และเป็นเหตุผลของการใช้เวลานานกว่าจะยืนยันได้ นับจากค้นพบเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

 

พบหวีวุ้นชนิดใหม่ใต้ทะเลลึก ชื่อทางการ  Duobrachium Sparksae คล้ายลูกโป่ง (คลิป)

 

 

ไมค์ ฟอร์ด นักวิทยาศาสตร์สัตว์น้ำ กล่าวว่า  Duobrachium Sparksae ทีโนฟอราชนิดใหม่ เป็นสิ่งมีชีวิตมีเอกลักษณ์และสวยงาม เคลื่อนที่เหมือนกับบอลลูนร้อน การพบเห็นถึง 3 ตัวในพื้นที่เล็กๆ จึงเชื่อว่าไม่ได้หายากจนเกินไป  ทั้งสามตัวมีรูปทรงกลมเหมือนลูกโป่งที่มีเชือกจับ 2 เส้น ความน่าสนใจอยู่ที่หนวด (เทนตาเคิล) 2 สาย ที่มีตัวหนึ่งใช้ยึดเกาะกับพื้นทะเล  นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าหนวดของมันใช้ทำหน้าที่นี้หรือไม่ แต่ทั้งสามตัวถูกพบอยู่เหนือพื้นทะเลราว 2 เมตร เป็นไปได้ว่าอาจใช้หนวดรักษาระยะห่างจากพื้นทะเล 

 

 

ทั้งหมดถูกพบในบริเวณที่เรียกว่า  Arecibo Amphitheater ในร่องลึกกัวคาตากา แคนยอน แหล่งอาศัยตามธรรมชาติที่พบทีโนฟอรา เป็นจุดลึกที่สุดของมหาสมุทร จึงไม่ง่ายและบ่อยนักที่มนุษย์จะพบเจอสิ่งมีชีวิตลี้ลับเหล่านี้  แม้นักวิจัยหวังว่าจะสามารถเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ในอนาคต แต่โอกาสจะเจอหวีวุ้นชนิดใหม่นี้อีกครั้ง อาจจะใช้เวลาเป็นหลายสิบปีเลยก็เป็นได้  

ที่มา sciencealert

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ