ข่าว

'สภาพัฒน์' เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/63 จีดีพีติดลบ 6.4% แนะ 8 เรื่องต้องทำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'สภาพัฒน์' เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/63 จีดีพีติดลบ 6.4% ระบุเป็นการปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับการลดลง 12.1% ในไตรมาสก่อนหน้า แนะ 8 เรื่องต้องทำ

 

วันที่ 16 พ.ย.2563 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสสามของปี 2563 ปรับตัวติดลบ 6.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการติดลบ 12.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวติดลบ 6.7%

 

โดยเป็นผลมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้น การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าติดลบ 8.2% น้อยกว่าในไตรมาสก่อนหน้าที่ 17.8% การบริโภคภาคเอกชนติดลบ 0.6% น้อยกว่าในไตรมาสก่อนหน้าที่ติดลบ 6.8%

 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2563 คาดว่าจะติดลบ 6.0% โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับตัวติดลบ 7.5% การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมปรับตัวติดลบ 0.9% และ3.2% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ -0.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.8% ของ GDP

 

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 3.5 – 4.5% โดยมีแรงสนับสนุนจาก การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ, การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจ และฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563

 

ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 4.2% การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัว 2.4% และ 6.6% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้ อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ช่วง 0.7 – 1.7% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6% ของ GDP

เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังกล่าวถึงประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ในช่วงที่เหลือของปี 2563 และปี 2564 ควรให้ความสำคัญกับ 8 เรื่องหลัก ดังนี้

1.การป้องกันการกลับมาระบาดระลอกที่สองในประเทศ

2.การดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว

การเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองสาขาและพื้นที่เศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว การช่วยเหลือและดูแลแรงงาน การรณรงค์ให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคอย่างรัดกุม และการดำเนินการด้านวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

 

3.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ

การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 94.4% งบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% งบเหลื่อมปีให้ไม่น้อยกว่า 85% และการเบิกจ่ายโครงการตามพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ให้ได้ไม่น้อยกว่า 70%

 

4.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน

การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด-19 การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า การให้ความสำคัญกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า การลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สำคัญ ๆ การป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท และ การส่งเสริมการตลาดเชิงรุกผ่านช่องทางออนไลน์

5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน

เร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561 – 2563 ให้เกิดการลงทุนจริง การขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มการใช้กำลังการผลิต การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ การประชาสัมพันธ์จุดแข็งของประเทศไทย และการขับเคลื่อนมาตรการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง

6.การดูแลราคาสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด และการเตรียมการรองรับปัญหาภัยแล้ง

7.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ

8.การเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกและการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ