ข่าว

รมว.ยธ. เปิดศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวพร้อมใช้อุปกรณ์ EM  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รมว.ยุติธรรม" สมศักดิ์ เทพสุทิน" เปิดตัวศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว กรมคุมประพฤติ มุ่งลดความแออัดในเรือนจำ พร้อมใช้อุปกรณ์ EM เฝ้าติดตามผู้กระทำผิดตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มความมั่นใจสู่สังคมปลอดภัย

วันที่(11 ก.ย. ) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ (อาคารA) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานใน “พิธีเปิดศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring Control Center หรือ EMCC)” ภายใต้แนวคิด “ให้โอกาส คืนอิสรภาพ เพิ่มความมั่นใจ สู่สังคมปลอดภัย” พร้อมเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมฯ และชมการสาธิตการใช้ระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว โดยมีว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวิวัฒน์ นิติกาญจนาที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฎ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นางอภิรดีโพธิ์พร้อม รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 Mr. Julien Garsany ผู้แทน UNODC พร้อมด้วยนายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติคณะผู้บริหารกรมคุมประพฤติ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องรับรองกระทรวงยุติธรรมชั้น 2 และศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวชั้น 6 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า นโยบายสำคัญของกระทรวงยุติธรรมประการหนึ่งคือมุ่งเน้นการลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยเฉพาะผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษน้อย หรืออาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรือนจำได้เข้าสู่ระบบการคุมประพฤติ ซึ่งจะดำเนินการควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยให้กับสังคม โดยกรมคุมประพฤติได้นำ “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือ EM” มาใช้ในการเฝ้าระวัง ควบคุมดูแล และติดตามกับกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก 2. กลุ่มผู้ถูกคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 และ 3. กลุ่มผู้รอการตรวจพิสูจน์ ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 พร้อมทั้งมี “ศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือศูนย์ EMCC” เป็นศูนย์กลางเพื่อควบคุมติดตามกลุ่มเป้าหมายข้างต้นให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข รวมถึงสามารถบริหารจัดการหากมีผู้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือจงใจฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กำหนดได้อย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นภัยต่อประชาชนและสังคมตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือ EM เป็นนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุม ดูแล ติดตามผู้กระทำผิด อีกทั้งยังช่วยเสริมความเชื่อมั่นและสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่สังคม ตลอดจนให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดในการกลับตนเป็นคนดีคืนสู่สังคมโดยไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ

 อีกทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ยังสามารถดำเนินการได้ในหลายลักษณะ ดังนี้ 1. จำกัดบริเวณให้อยู่ภายในเขตที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ (พร้อมกำหนดกรอบระยะเวลาในการเข้า-ออกที่อยู่อาศัย) 2. กำหนดพื้นที่ห้ามเข้าห้ามออกเป็นการเฉพาะ เช่น เขตพื้นที่จังหวัด, สนามบิน, บ้านผู้เสียหาย เป็นต้น 3. จำกัด ความเร็วในการขับขี่ยานพาหนะ 4. จำกัดเส้นทางในการเดินทาง 5. สามารถดูข้อมูล เส้นทางการเดินทางย้อนหลังได้

ส่วนคุณสมบัติพิเศษของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) 1. GPS Monitoring ติดตามตัวด้วยระบบดาวเทียมที่สามารถระบุตำแหน่งของผู้สวมใส่ได้ 2.ได้รับมาตรฐาน IP68 (International Protection Standard)คือมาตรฐานบอกถึงระดับการป้องกันฝุ่นและน้ำของเครื่องจักร(mechanical casings)และอุปกรณ์ไฟฟ้า(electrical

enclosures) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดย IEC (International Electrotechnical Commission) เทียบเท่ามาตรฐานยุโรป โดยเลข 6 หมายถึง สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้สมบูรณ์ โดยมาตรฐานนี้ถูกทดสอบบนพื้นที่ที่มีการไหลเวียนของอากาศและฝุ่นเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ส่วนเลข 8 หมายถึงป้องกันการแทรกซึมของน้ำจากการแช่ตัวอุปกรณ์ในน้ำได้แบบถาวร ทั้งนี้ยังสามารถรองรับการตกกระแทกที่ระดับความสูง 2 เมตร และสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากการออกกำลังกาย เช่น การวิ่งได้

 ทั้งนี้หากพบผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขคุมความประพฤติหรือผู้มีพฤติการณ์ใดๆ เพื่อทำลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวสามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมคุมประพฤติโทร. 1111 กด 78

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมฯ ได้มีการสาธิตการใช้ระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ทั้งนี้หากผู้ที่ถูกติด EM มีการพยายามถอดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว เครื่องก็จะทำการแจ้งเตือนเข้ามาในระบบทันที

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ