ข่าว

"แบงก์รัฐ" เร่งปรับหนี้ สกัด "เอ็นพีแอล" ลาม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แบงก์รัฐ" เดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ก่อนสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ช่วงปลายปีนี้ หวั่นหนี้เสียท่วมพอร์ต โดยธ.ก.ส.ทยอยปรับแล้ว 1 แสนล้าน "ออมสิน" ลุยปรับช่วงไตรมาสสี่ ด้าน "เอสเอ็มอีแบงก์" คาดลูกหนี้ 30% ส่อจ่ายไม่ได้ตามปกติ ขณะ ธอส.ไร้กังวลหนี้เสียพุ่ง


นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ในช่วงที่ธนาคารพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้สินเชื่อซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรายย่อยและเอสเอ็มอีนั้น ธนาคารได้เริ่มดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนกำหนดให้แก่ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวไปด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการเป็นหนี้เสียภายหลังจากสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้

 


ปัจจุบันลูกหนี้ที่เข้าสู่โครงการพักชำระหนี้นั้น มีอยู่เกือบ 100% ของลูกค้าสินเชื่อทั้งหมด หรือ ประมาณ 3.28 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 9.2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ ธนาคารได้ทยอยดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้แล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท สำหรับระยะเวลาสิ้นสุดการพักชำระหนี้รอบสุดท้ายนั้น คือ ต้นปี 2565


“ในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ในพื้นที่ จะทยอยคุยกับลูกค้า เพื่อดูสุขภาพการเงินของลูกค้า หากรายใดยังไม่ดี เราก็จะทำการปรับโครงสร้างหนี้ให้ ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้แล้ว ระดับหนี้เสียเราจะไม่เพิ่มมากนัก”


ทั้งนี้ ในจำนวนลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้นั้น เป็นเอสเอ็มอีเกษตรประมาณ 2.6 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 8.1 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้ จะสิ้นสุดระยะเวลาการพักชำระหนี้ประมาณก.ย.นี้ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ผ่อนปรนขยายระยะเวลาไปจนถึงสิ้นเดือนธ.ค.นี้


ปัจจุบัน ระดับหนี้เสียของธนาคารอยู่ที่ 4.03%ของสินเชื่อคงค้าง 1.5 ล้านล้านบาท ลดลงจากต้นปีบัญชีเมื่อสิ้นเดือนมี.ค.2563 ซึ่งอยู่ที่ 4.3%ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการพักชำระหนี้และแม้ลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้าสู่โครงการพักหนี้ แต่ก็มีลูกค้าส่วนหนึ่งที่ยังชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยนับตั้งแต่ต้นปีบัญชี มียอดชำระหนี้เงินต้นประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 30%


สำหรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารนั้น ในปีบัญชี 2563 นี้ ธนาคารได้ปรับเป้าหมายลดลงจาก 6 แสนล้านบาท เหลือ 3.7 แสนล้านบาท สาเหตุหลักจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้วประมาณ 1.7 แสนล้านบาท เชื่อว่า ทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมาย


เขากล่าวด้วยว่า แม้สถานการณ์โควิด-19จะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ในภาคเกษตรกรนั้น ถือว่า ได้รับผลกระทบที่น้อยกว่า โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่ยังพอไปได้ อาทิ ข้าว ซึ่งราคายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ข้าวโพดและอาหารสัตว์นั้น ยังไม่ดีนัก


ออมสินเริ่มปรับหนี้ไตรมาสสี่ปีนี้
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ธนาคารมีแผนจะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกค้า หลังจากที่ได้ประกาศขยายระยะเวลาพักชำระหนี้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19)จากสิ้นเดือนก.ย.นี้เป็นสิ้นเดือนธ.ค.นี้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสียหลังหมดระยะเวลาพักชำระหนี้ดังกล่าว


“เรากำลังเตรียมแผนปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่พักชำระหนี้ เพราะประเมินว่า ลูกหนี้บางส่วนอาจยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 ซึ่งอาจจะกลายเป็นหนี้เสียตั้งแต่ต้นปีหน้า ดังนั้น ช่วงไตรมาสสี่ เราจะเรียกลูกค้าเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้”


ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการพักชำระหนี้นั้น ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบาง คิดเป็น 95%ของลูกค้ารายย่อยกว่า 3 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 1.2 ล้านล้านบาท


เขากล่าวว่า ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ธนาคารจะเปิดให้ลูกหนี้ดังกล่าวได้แจ้งความประสงค์ว่า จะเข้าสู่กระบวนการพักชำระหนี้ หรือไม่ โดยจะมีโปรแกรมให้เลือกหลากหลาย เช่น พักเฉพาะเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หรือ จ่ายในสัดส่วนที่น้อยลง เป็นต้น ซึ่งจะให้แจ้งผ่านโมบายแบงก์กิ้ง


สำหรับสถานการณ์หนี้เสียนั้น ยังอยู่ในลักษณะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 3%นับจากต้นปี เนื่องจาก อยู่ในช่วงพักชำระหนี้
 

ธอส.ไม่หวั่นหนี้เสียพุ่ง
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคาอาคารสงเคราะห์(ธอส.)กล่าวว่า ธอส.ไม่ห่วงต่อสถานการณ์หนี้เสียที่จะเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกค้า ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการสุดท้ายในช่วงเดือนม.ค.2564 เนื่องจาก ลูกค้าสินเชื่อบ้านของธนาคารนั้น เป็นรายย่อย มียอดการชำระหนี้ต่อเดือนไม่สูงต่างจากสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ต่างๆ และที่ผ่านมา ธนาคารก็ได้พักชำระหนี้และลดอัตราดอกเบี้ยให้ ขณะเดียวกัน สินเชื่อบ้านก็เป็นสินเชื่ออันดับแรกที่ลูกค้าต้องรักษาไว้ จึงเชื่อว่า เมื่อสิ้นสุดโครงการลูกค้าจะสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ยกเว้นลูกค้าจะถูกเลิกจ้าง


อย่างไรก็ดี ขณะนี้ เรายังไม่สามารถประเมินได้ว่า ระดับหนี้เสียของธนาคารจะเป็นอย่างไร เนื่องจาก ยังอยู่ในช่วงของมาตรการพักชำระหนี้ ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผ่านการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยจำนวนหลายมาตรการนั้น มาตรการแรกจะสิ้นสุดในสิ้นเดือนส.ค.นี้ ซึ่งจะมีมูลหนี้ประมาณ 1 แสนล้านจากทั้งหมด 4.1 แสนล้านบาทที่จะต้องออกจากมาตรการ ดังนั้น ในเดือนถัดไปที่เป็นรอบการชำระหนี้ เราจึงจะพอประเมินสถานการณ์หนี้เสียได้


“เราจะมีระยะเวลาประมาณ 60 วัน หลังสิ้นสุดการพักชำระหนี้ เพื่อติดต่อกับลูกค้า ถ้าเขาไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ เราจะทำการปรับโครงสร้างหนี้ให้”


ทั้งนี้ หลังจากสิ้นสุดมาตรการแรกในสิ้นเดือนส.ค.นี้แล้ว มาตรการที่ถัดไป จะสิ้นสุดในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งจะมีลูกค้าในกลุ่มนี้ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท หรือเกือบ 40%จากนั้น มาตรการทั้งหมดจะสิ้นสุดในสิ้นเดือนม.ค.2564


ธพว.คาดลูกหนี้30%ชำระไม่ปกติ
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.).กล่าวว่า ธนาคารมีความกังวลเรื่องตัวเลขหนี้เสียที่จะเกิดขึ้นหลังการพักชำระหนี้ จึงเร่งลงไปสำรวจสถานะของลูกหนี้ทุกราย เช่น ลูกค้าที่ค้างชำระแล้ว 1-3 งวด ซึ่งขณะนี้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้แล้ว


ธนาคารประเมินว่า จากจำนวนลูกค้าที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ทั้งหมดนั้น จะมีประมาณ 30%ที่อาจจะกลับมาชำระหนี้ในจำนวนเดิมไม่ได้ ในส่วนนี้ธนาคารจะเข้าไปเสนอเงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อให้ลูกค้าเดินต่อไปได้ และให้เงินทุนบ้างบางส่วนเพื่อประกอบธุรกิจต่อไป แต่ลูกค้าต้องพยายามรักษาเครดิตตัวเองไว้จะได้กู้เงินเพิ่มได้ในอนาคต


สำหรับลูกค้าที่เข้าสู่โครงการพักชำระหนี้นั้นมีจำนวน 4.3หมื่นราย คิดเป็นมูลค่ารวม 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนต.ค.นั้นอย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้ มีลูกค้าที่หยุดการใช้สิทธิ์พักชำระหนี้จำนวนแล้ว 30% จากจำนวนลูกค้าที่เข้าโครงการ


“หากหมดเวลาพักพักชำระหนี้ ธนาคารจะเร่งสำรวจลูกค้าที่อยู่ในมาตรการทั้งหมดว่ามีสภาพธุรกิจเป็นอย่างไรแล้วจึงจัดโครงการไว้หลายๆ แบบ เพื่อรองรับลูกค้า เช่นโครงการพักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยการลดดอกเบี้ยลงครึ่งหนึ่งเป็นต้น”


ส่วนหนี้เสียนั้น ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าอยู่ที่ประมาณ 18-19% ต่อปีในขณะที่ปัจจุบันเอ็นพีแอลอยู่ที่ 17% ต่อปี น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีหนี้เสียอยู่ที่ 19% เนื่องจาก ขณะนี้ยังมีการพักชำระหนี้ทำให้หนี้เสียไม่พุ่งขึ้น ประกอบกับลูกค้าที่เป็นหนี้เสียได้เข้ามาพูดคุยกับธนาคาร จึงช่วยปรับโครงสร้างหนี้และทำให้ลูกค้าเหล่านี้กลับขึ้นไปเป็นหนี้ปกติ ส่วนรายที่เริ่มอ่อนแอหรือมีสัญญาหยุดการจ่ายหนี้ ธนาคารเข้าไปดูแลเพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเหล่านี้

 

..................

ที่มา : เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ