ข่าว

ผอ.ซูเปอร์โพล ยันผลสำรวจ รมต.กปปส.สอบตก ไม่ได้จงใจบลัฟผลงานช่วงใกล้ปรับ ครม.

ผอ.ซูเปอร์โพล ยันผลสำรวจ รมต.กปปส.สอบตก ไม่ได้จงใจบลัฟผลงานช่วงใกล้ปรับ ครม.

13 ก.ค. 2563

 ผอ.ซูเปอร์โพล "นพดล กรรณิกา"ยันผลสำรวจ รมต. กปปส.สอบตก ไม่ได้จงใจบลัฟผลงานช่วงใกล้ปรับ ครม. ลั่นไม่ใช่โพลล์เฉพาะกิจ เก็บตัวอย่างครบ  แม่นยำที่สุดจนนานาชาติเชิญไปถ่ายทอดประสบการณ์ 

กลายเป็นประเด็นขึ้นมาสำหรับผลสำรวจร้อนๆของ "ซูเปอร์โพล" ที่ไปพาดพิงรัฐมนตรีในกลุ่มอดีตแกนนำ กปปส.ว่าไม่มีผลงานถึงร้อยละ 59.6 ทำให้ฝ่ายการเมืองออกมาตอบโต้ โดยเฉพาะนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ  รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะอดีตแกนนำ กปปส. ทำนองว่ามีการตั้งประเด็นสำรวจแบบเฉพาะเจาะจงเกินไป พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าโพลล์นี้มีเบื้ิองหลัง หรือเชื่อมโยงกับใครหรือไม่นั้น

 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการซูเปอร์โพล ชี้แจงเรื่องนี้ว่า ทั้งเรื่องความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองและการตั้งคำถามแบบเฉพาะเจาะจง ยืนยันว่าทางซูเปอร์โพลไม่มีทั้ง 2 เรื่อง โดยในส่วนของการตั้งคำถาม ก็เคยถามถึงกลุ่มการเมืองอื่นๆ มาแล้ว ไม่ใช่ถามเฉพาะกลุ่ม กปปส. และหลายๆ ครั้งมีการถามเจาะจงยิ่งกว่านี้ด้วยซ้ำไป บางโพลล์เจาะไปที่รายชื่อเลย ก็มีให้เห็นอยู่ ทั้งรายชื่อรัฐมนตรี รายชื่อ ครม.ทั้งคณะ แต่ครั้งนี้ซูเปอร์โพลไม่ได้ระบุชื่อบุคคล

สาเหตุที่ใช้คำว่า "รัฐมนตรี กปปส." เพราะทุกครั้งเวลาไปทำสำรวจ ประชาชนจะไม่รู้จักชื่อของนักการเมืองบางคน การใช้ถ้อยคำในแง่กลุ่ม จะช่วยให้ประชาชนรื้อฟื้นความจำได้ เพราะประชาชนรู้จัก กปปส.มากกว่าชื่อบุคคล เพราะการเคลื่อนไหวของ กปปส.เป็นจุดเปลี่ยนของบ้านเมืองในช่วงหนึ่ง 
 "ฉะนั้นการถามว่ารัฐมนตรีที่เคยเป็นแกนนำ กปปส. มีผลงานอย่างไรบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติของการทำโพลล์ ส่วนที่รัฐมนตรีบางรายออกมาตอบโต้ ก็เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนกัน ถือเป็นเรื่องปกติเวลาถูกพาดพิง ส่วนตัวจึงรู้สึกเฉยๆ"
 ผศ.ดร.นพดล ย้ำว่า "ซูเปอร์โพล" ไม่ใช่สำนักโพลล์ที่ทำโพลล์แบบเฉพาะกิจ ทำครั้งเดียวแล้วเงียบหายไปแต่ทำมาหลายปีแล้ว เจาะกลุ่มนั้น กลุ่มนี้ กลุ่มโน้นมาโดยตลอด เวลาไปเจาะกลุ่มอื่นก็เกิดคำถามเหมือนกัน 
  "จะเห็นได้ว่าผลสำรวจชุดเดียวกันกับผลงานของรัฐมนตรี กปปส. ก็มีการถามถึงเรื่องเงินบริจาคของคณะก้าวหน้า จากการจัดกิจกรรม เมย์เดย์ เมย์เดย์ รวมถึงผลกระทบที่เกิดกับพรรคก้าวไกลด้วยปรากฏว่าความเชื่อใจของประชาชนลดลงครึ่งหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่าซูเปอร์โพลไม่ได้โพลล์แบบเจาะจงเฉพาะกลุ่ม"
 ขณะที่ผลสำรวจก่อนหน้านี้ที่มุ่งไปที่การลาออกจากพรรคของกลุ่มสี่กุมาร ส่งผลให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อพรรคพลังประชารัฐลดลงและมีการระบุถึง "วาทกรรม" ต่างๆ เช่น เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพลนั้น ผู้อำนวยการซูเปอร์โพล บอกว่า เนื้อหาของผลสำรวจมาจากถ้อยคำที่ประชาชนตอบ ไม่ใช่สิ่งที่ทางสำนักโพลพูดหรือคิดขึ้นมา วาทกรรมหลายๆ อย่างมีกระแสข่าวตั้งแต่แรกๆ ที่เกิดเรื่องแล้ว ยืนยันว่าสิ่งที่ซูเปอร์โพลทำออกมา สะท้อนให้เห็นความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่ต้องการให้นักการเมืองทำบ้านเมืองให้สงบสุข ไม่วุ่นวาย

ผศ.ดร.นพดล  ยังแสดงความเห็นส่วนตัวว่า มีการแก่งแย่งตำแหน่งกัน มีการพยายามหาผู้ใหญ่มากดดันนายกฯ ทั้งหมดนี้ประชาชนเห็น มีสื่อมวลชนรายงาน จึงสะท้อนออกมาผ่านผลสำรวจ ฉะนั้นถ้าฝ่ายการเมืองมองว่าเป็นเรื่องไม่จริง ก็ให้บอกมา แต่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่ามีการแก่งแย่งชิงตำแหน่งกันจริงหรือไม่ กับสิ่งที่กำลังเคลื่อนไหวกันอยู่ตอนนี้

เมื่อถามถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับจำนวนตัวอย่างที่ทำการสำรวจถือว่าน้อยเกินไปจนอาจทำให้ผลสำรวจเบี่ยงเบนหรือไม่ ผู้อำนวยการซูเปอร์โพล ย้ำว่า เรื่องจำนวนตัวอย่าง  ไปดูได้เลยว่าซูเปอร์โพลเคยทำนายการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยแถลงล่วงหน้า 2 สัปดาห์ว่าประชาชนจะเห็นชอบร้อยละ 61.5 ต่อมาเมื่อมีการลงประชามติจริง กกต.ประกาศว่ามีประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญร้อยละ 61.4 ตอนนั้นเก็บข้อมูลเพียง 1,400 ตัวอย่างเท่านั้น หลังจากการทำสำรวจในครั้งนั้น มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันได้เชิญตนไปบรรยายกับนักวิชาการที่ทำโพลล์ทั่วโลก เพื่อบอกว่าทำโพลล์อย่างไรถึงมีความคลาดเคลื่อนน้อยกว่าร้อยละ 1

หลายคนยังเคยตั้งคำถามว่า ที่โพลล์ออกมาแม่นยำ เป็นเรื่องฟลุคหรือไม่ ตนขอบอกว่าถ้าฟลุคต้องเกิดขึ้นครั้งเดียว แต่ซูเปอร์โพลทำนายถูกต้องมาหลายครั้ง อย่างการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สำรวจสมาชิกพรรค 600 ตัวอย่าง ผลออกมาว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้รับชัยชนะ ร้อยละ 52.7 ผลคะแนนจริงออกมาร้อยละ 52.9 นี่คือคำตอบว่าตัวอย่างน้อยไปหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าโพลล์เก็บตัวอย่างน้อยที่สุด แต่แม่นยำที่สุด แล้วจะไปเก็บตัวอย่างเยอะๆ ให้สิ้นเปลืองงบประมาณทำไม

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นญาติกับ นายวัชระ กรรณิการ์ เลขานุการ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือไม่นั้น ผอ.ดร.นพดล บอกว่า เคยตอบไปหลายครั้งแล้วว่าไม่ใช่ญาติกัน นามสกุลก็ไม่เหมือนกัน ในประเทศไทยมีคนชื่อ "นพดล กรรณิกา" เขียนเหมือนกันทั้งชื่อและนามสกุลมากกว่า 10 คน และทุกคนก็ไม่ได้เป็นญาติกัน ส่วนนายวัชระ กรรณิการ์ นามสกุล ก็เขียนไม่เหมือนของตน จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกันแน่นอน