ข่าว

การทำแมมโมแกรมหามะเร็งเต้านม มีความเสี่ยงจริงหรือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประเด็นในโลกโซเชียลที่มีการระบุว่า การทำแมมโมแกรมหามะเร็งเต้านม มีความเสี่ยง ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่ ล่าสุด ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องนี้

ประเด็นในโลกโซเชียลที่มีการระบุว่า การทำแมมโมแกรม (Mammogram) ตรวจมะเร็งเต้านม อ้างว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมนั้น ซึ่งโพสต์ดังกล่าว มีผู้แชร์ไปมากกว่า 7,000 ครั้ง และมีคนเข้ามาดูคลิปกว่า 2 แสนครั้ง 

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ล่าสุด (10 มิ.ย.2563) ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ยืนยันว่า การทำแมมโมแกรม (Mammogram) ตรวจมะเร็งเต้านม ไม่เป็นอันตราย พร้อมระบุว่า 

 

ตามที่มีกระแสข่าวในสื่อสังคมเรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ขอยืนยันว่า

 

1. การคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยภาพรังสีเต้านม (mammography หรือ mammogram) ถือว่าเป็นการตรวจคัดกรองมาตรฐานสำหรับมะเร็งเต้านมที่ทำกันมาอย่างยาวนานและแพร่หลาย มีข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ถึงประโยชน์ และความคุ้มค่า อย่างเพียงพอ และเป็นเครื่องมือตรวจที่ได้รับการพิสูจน์จากผลการวิจัยทั่วโลก ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

 

โดยสามารถลดอัตราตายจากมะเร็งเต้านมเนื่องจากสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะก่อนแสดงอาการ ทำให้สามารถเริ่มการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วย และเพิ่มคุณภาพชีวิตภายหลังการรักษา

 

2. การตรวจด้วยเครื่องตรวจแมมโมแกรม มีการควบคุมปริมาณรังสีให้ปลอดภัยต่อผู้รับการตรวจตามมาตรฐานทางรังสี ได้รับการยอมรับจากสมาคมรังสีแพทย์แห่งอเมริกาและยุโรปเพื่อในการใช้ตรวจคัดกรองหามะเร็งเต้านมในผู้หญิง ปริมาณรังสีที่ได้รับจากการตรวจแมมโมแกรมมีค่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณรังสีทั่วไปที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน

 

โดยพบว่าการตรวจแมมโมแกรมหนึ่งครั้งได้รับปริมาณรังสีโดยเฉลี่ยเพียง 0.4 mSv ซึ่งเท่ากับปริมาณรังสีที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อมประมาณ 7 สัปดาห์ (รังสีที่บุคคลทั่วไปได้รับจากธรรมชาติ ประมาณ 3.0 mSv ต่อปี)

 

3. สำหรับการตรวจ MRI ของเต้านมนั้นไม่แนะนำให้ตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้ป่วยทั่วไปเนื่องจากใช้เวลาในการตรวจนาน พบผลบวกลวงจากการตรวจได้บ่อยและมีข้อจำกัดในการตรวจหามะเร็งเต้านมบางชนิด โดยทั่วไปตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยใช้เครื่อง MRI มักจะใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น

 

ตัวอย่างกลุ่มผู้ป่วยที่อาจมีความจำเป็นต้องได้การตรวจ MRI เต้านมในทางคลินิก ได้แก่


3.1 ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือตรวจพบยีน BRCA 1/2 (มีความเสี่ยงสูงกว่าบุคคลทั่วไปร้อยละ 15-20) โดยแพทย์จะประเมินจากหลายปัจจัยร่วมกัน จะทำการตรวจปีละ1 ครั้ง เพิ่มเติมจากการคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยภาพรังสีเต้านม (mammography หรือ mammogram) และอัลตราซาวด์

 

3.2 ตรวจเพื่อวินิจฉัย หรือเพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติม, เพื่อดูความลุกลามของมะเร็งเต้านม กรณีที่สงสัยว่ามีจำนวนหลายก้อนในข้างเดียวกัน หรือในเต้านมอีกข้างหนึ่ง, เพื่อดูการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด หรือ เพื่อช่วยวินิจฉัยหากสงสัยการกลับเป็นซ้ำของโรคหลังผ่าตัดรักษา

 

อย่างไรก็ตามเครื่องมือแต่ละชนิดทั้งแมมโมแกรม อัลตราซาวด์และ MRI มีคุณสมบัติในการตรวจวินิจฉัยเต้านมที่แตกต่างกันไป การตรวจ MRI ควรเลือกตรวจเฉพาะรายที่จำเป็นเท่านั้น แมมโมแกรมยังถือเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ใช้ตรวจคัดกรองและวินิจฉัยมะเร็งเต้านมที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว และเหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนที่จากกระแสข่าวดังกล่าว ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยจึงขอยืนยันว่าควรตรวจเต้านมเป็นประจำทุกปีด้วยแมมโมแกรมในสตรีที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนการตรวจเต้านมด้วย MRI นั้นทำเฉพาะในผู้ที่แพทย์เห็นว่ามีความจำเป็นเท่านั้น

 

คณะอนุกรรมการ หลักสูตรเพื่อประกาศนียบัตรในวิชาชีพเวชกรรม อนุสาขาด้านภาพวินิจฉัยเต้านม ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย

 

 

 

 

CR ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ