ข่าว

"บิ๊กดำ พ.ต.ท.กรวัชร์ " ผงาด นั่งเก้าอี้ "อธิบดี" ไม่ใช่ใครที่ไหน ที่แท้ลูกหม้อ "ดีเอสไอ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"บิ๊กดำ พ.ต.ท.กรวัชร์ " ผงาด นั่งเก้าอี้ "อธิบดี" ไม่ใช่ใครที่ไหน ที่แท้ลูกหม้อ "ดีเอสไอ"

               28 เม.ย.63   ที่ ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ แต่งตั้ง  พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ตามที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอ

 

 

 

 

 

ย้อนไปเมื่อวันที่  15 ต.ค. 62 มติ ครม. อนุมัติ แต่งตั้งโยกย้าย พ.ต.ท.กรวัชร์  รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่จับตาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก พ.ต.ท.กรวัชร์ เป็นหัวเรือสำคัญในการดำเนินคดีการหายตัวไป ของนายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก - บางกลอย ซึ่งมีการพบถังน้ำมันที่ภายในมีกระดูกมนุษย์ ทิ้งอยู่บริเวณใต้สะพานภายในอุทยานแห่งชาติแห่งกระจาน หลายคนเป็นห่วงว่างานนี้อาจจะมีอะไรในกอไผ่ ถึงขั้นลือว่ามีขบวนการล้มคดีนี้หรือไม่
แต่ในที่สุดหลายฝ่ายออกมาแจงว่าการขยับตำแหน่งเป็นการแต่งตั้งตามวาระประจำปีและเลื่อนระดับตำแหน่งสูงขึ้นจากระดับซี 9 ขึ้นไปเป็นซี 10

 
แต่วันเวลาผ่านไป ไม่กี่เดือน   วันที่ 20 ก.พ.63 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระรวงยุติธรรม  ลงนาม ในคำสั่งแต่งตั้งให้ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ไปรักษาราชการ ในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เนื่องจากพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ มีอาการป่วย ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้นานกว่า 1 เดือนแล้ว โดยนายสมศักดิ์ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากเป็นผู้มีประสบการณ์ เคยเป็นรองอธิบดีดีเอสไอมาก่อน และมีอาวุโสสามารถปกครองคนดีเอสไอได้ไม่มีปัญหา 

 

                                                         "บิ๊กดำ พ.ต.ท.กรวัชร์ " ผงาด นั่งเก้าอี้ "อธิบดี" ไม่ใช่ใครที่ไหน ที่แท้ลูกหม้อ "ดีเอสไอ"

 

จะว่าไปแล้ว พ.ต.ท.กรวัชร์  ถือว่าเป็นลูกหม้อ ดีเอสไอ เป็นมือปราบ ที่โชว์ฝีมือคดีดังหลายคดีด้วยกัน   ​

พ.ต.ท.กรวัชร์  หรือ บิ๊กดำ เกิดวันที่ 9 มีนาคม 2504 จบโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 20  ที่มีเพื่อนร่วมรุ่น อย่าง "บิ๊กแดง" พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหาร  นรต.36   ที่รู้จักกันดี เช่น "บิ๊กแป๊ะ" พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  และอีกหลายคน  

โดยเฉพาะหลังปี 2545 ที่เมืองไทยมีองค์กรใหม่ที่เรียกว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษแห่งราชอาณาจักรไทย หรือ ดีเอสไอ เป็นหน่วยงานของรัฐสังกัดกระทรวงยุติธรรม

พ.ต.ท.กรวัชร์ ได้ขยับตำแหน่งสูงขึ้นจากระดับซี 9 ขึ้นไปเป็นซี 10 

อย่างที่รู้กันว่าดีเอสไอก่อตั้งในยุคของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร โดยมี พล.ต.ท.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ เป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษคนแรก

รอยต่อช่วงปี 2549 มีการโอนย้ายนายตำรวจไปสังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษลอตใหญ่ถึง 227 นาย ตอนนั้นมี ไกรสร บารมีอวยชัย รักษาการอธิบดีดีเอสไอ

ครั้งนั้นนอกจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่ไปเป็นนักบริหาร 9 ก็ยังมี พ.ต.ท.กรวัชร์ ที่อยู่ในรายชื่อ 227 นายด้วย โดยย้ายไปเป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 8ว

ว่ากันว่าด้วยจำนวนโยกย้ายมากจึงมีการแซะว่านี่เกือบจะกลายเป็น “กรมตำรวจน้อย” กันเลยทีเดียว

 
จากนั้น  ก็ไต่ระดับเรื่อยมา ตั้งแต่  ผอ.ส่วนคดีอาญาพิเศษ 3 ดีเอสไอ ในยุค ที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นอธิบดีดีเอสไอ

ปี 57 ขึ้นเป็นผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาคดีเอสไอ ในยุคของ สุวณา สุวรรณจูฑะ เป็นอธิบดีดีเอสไอ

 

กระทั่งปี 2560 ขยับจาก ผบ.สำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค (อำนวยการเฉพาะด้านพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ) ขึ้นเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ

ระหว่างทาง กว่าจะมีวันนี้ พ.ต.ท.กรวัชร์  ผ่านผลงานมามากมาย สางคดีระดับประเทศมานับไม่ถ้วน แต่คดีที่จดจำก็คงหนีไม่พ้น  3 คดีดังคือ คดีรถหรูเลี่ยงภาษี, คดีเณรคำ และคดีร้อนบิลลี่ พอละจี


 

"มือปราบรถหรู"
 
ฉายาที่ได้มาจากการทำ คดีมหากาพย์ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 โดยมีจุดเริ่มต้นจากอุบัติเหตุรถบรรทุกรถยนต์จดประกอบนำเข้าที่เกิดไฟไหม้ระหว่างการขนย้าย จนดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษที่ต่อเนื่องอย่างยาวนาน
 

งานนี้เรื่องใหญ่ ตอนนั้นพบรถอยู่ในข่ายความผิดมากมาย มีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัท นักการเมืองท้องถิ่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ เซเลบ ดารา กลุ่มผู้นำเข้ารถจดประกอบและผู้ที่ยื่นขอจดทะเบียน

 
ตอนนั้นดีเอสไอยังขยายผลตรวจสอบประสานขอข้อมูลกับหลายประเทศโดยเฉพาะหน่วยต่อต้านการโจรกรรมรถยนต์ของสหราชอาณาจักร
 

การดำเนินการส่งผลถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่รับผลกระทบ ตัดสินใจนำเรื่องนี้ไปฟ้องศาล ช่วงนั้นจึงมีข่าวลือว่า “กลุ่มเกรย์มาร์เก็ต” มีการลงขันเพื่อกดดันให้เปลี่ยนเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนคดีนี้ออกไป
 
จนราวปี 2560 หลังจาก พ.ต.ท.กรวัชร์   พร้อมพนักงานอัยการเพียรเดินทางเข้าออกประเทศอังกฤษและอิตาลีอยู่หลายรอบ เพื่อดำเนินการเรื่องนี้
 

ที่สุดก็พบตัวเลขการนำเข้ารถยนต์หรูยอดฮิตของตลาดเมืองไทยที่น่าเชื่อว่าผ่านขบวนการนำเข้าแบบสำแดงเท็จเพื่อชำระภาษีต่ำกว่าจริง อยู่ที่ 10,000 คัน เป็นการนำเข้าจากกลุ่มผู้นำเข้าอิสระนับ 100 แห่ง

 

โดยดีเอสไอประสบความสำเร็จในการประสานกับประเทศต้นทางผู้จำหน่ายรถยนต์ให้ส่งหลักฐานราคาขายที่แท้จริงย้อนหลัง 5 ปี ให้ทางการไทยสอบสวน ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

 

                                                       "บิ๊กดำ พ.ต.ท.กรวัชร์ " ผงาด นั่งเก้าอี้ "อธิบดี" ไม่ใช่ใครที่ไหน ที่แท้ลูกหม้อ "ดีเอสไอ"

 

ร่วมลุยคดีเณรคำ

มาถึงคดีดัง “เณรคำ” นาย วิรพล สุขผล หรืออดีตพระวิรพล ฉัตติโก ในคดีฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 

คดีนี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552-27 มิถุนายน 2556 ตอนนั้นดีเอสไอในยุคของ ธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดีดีเอสไอ  และพ.ต.ท.กรวัชร์ ขณะนั้นเป็น ผบ.สำนักคดีปฏิบัติการพิเศษภาค ได้เข้าตรวจสอบในส่วนของเบาะแสที่อดีตพระเณรคำซื้อรถเบนซ์หรูจำนวนมากถึง 22 คันรวมเป็นเงินกว่า 95 ล้านบาท 

เรื่องราวดำเนินมาจนถึงยุคของ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง เป็นอธิบดีดีเอสไอ ที่จัดแถลงข่าวพร้อมกับรองดำ ว่าได้รับแจ้งจาก U.S. Marshals ว่าจับกุมตัวเณรคำได้ที่บ้านพักที่เมืองริเวอร์ไซด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย จนมาถึงการส่งตัวมารับโทษแล้วในปัจจุบัน

 
 
 บิลลี่จะถูกลืม?

คดีบิลลี่ ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี  57  ที่ พ.ต.ท.กรวัชร์  เข้าไปดำเนินการติดตามจนทำให้คดีเดินทางมาไกลพอสมควร   จนกระทั่ง มีมติ ครม. ให้ พ.ต.ท.กรวัชร์  พ้นจาก ตำแหน่งรองอธิบดีดีเอสไอ ไปเป็นผู้ตรวจการฯ 

 

                                                    "บิ๊กดำ พ.ต.ท.กรวัชร์ " ผงาด นั่งเก้าอี้ "อธิบดี" ไม่ใช่ใครที่ไหน ที่แท้ลูกหม้อ "ดีเอสไอ"

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ