ข่าว

"หมอมงคล" ด่ากราดรัฐบาลไม่ทำประโยชน์สิ้นคิดจะอนุมัติไทยเข้า CPTPP

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นี่คือการใช้อำนาจในการบริหารประเทศมาทำร้ายประชาชนและประเทศชาติโดยตรง

 

              จากการที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ในการประชุม ครม. วันอังคารที่จะถึงนี้ (28 เมษายน 2563)

อ่านข่าว - หมอมนูญ ย้ำ ทุกสถานที่มีเครื่องปรับอากาศใส่หน้ากากอนามัยอย่าถอดออก

 

 

              24 เมษายน 2563  นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แพร่ภาพสดผ่าน Mongkol Na Songkhla ตำหนินโยบายนี้อย่างรุนแรง โดยระบุว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) นี้ เป็นความตกลงที่มีการเจรจาเสร็จสิ้นไปแล้ว ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศริเริ่มการเจรจานี้ ก็ได้ถอนตัวออกไปในยุคของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แต่เนื้อหาของความตกลงฯ ยังเป็นการร่างจากประเทศมหาอำนาจเพื่อหวังเอารัดเอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงยาและเมล็ดพันธุ์พืช แต่รองนายกฯ สมคิด พยายามผลักดันให้ไทยเข้าร่วมความตกลงนี้ตลอดช่วง 6 - 7 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช.

 

 

              “ในช่วงปี 2549 - 2550 ประเทศไทยได้ประกาศบังคับใช้สิทธิ์ (ซีแอล) เพื่อนำเข้ายาต้านไวรัสเอชไอวี / เอดส์ และยามะเร็ง มาใช้ดูแลรักษาประชาชนเป็นแสนๆ คนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้รอดตายมาได้ แต่ถ้ารัฐบาลชุดนี้ไปเข้าร่วม CPTPP จะไม่สามารถทำซีแอลได้ นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัว อีกเรื่อง คือ กระทบกับเกษตรกร เกษตรกรจะไม่ได้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไปได้ ต้องไปซื้อทุกครั้ง ถ้าเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองจะถูกเจ้าหน้าที่จับ เพราะไปทำผิดกฎหมาย ทั้งที่นี่คือจุดแข็งของบ้านเรา การที่ประเทศไทยทำซีแอลทำให้คนไข้เข้าถึงยา เพราะเราไม่ได้ไปลงนามบ้าๆ บอๆ ตามที่คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พยายามผลักดันมาโดยตลอด 6 - 7 ปี ที่อยู่ในรัฐบาล

 

 

              แล้วยิ่งช่วงนี้ จะเห็นว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 น้อยกว่าประเทศอื่น เพราะคนของเราส่วนหนึ่งได้กลับไปต่างจังหวัด ยังมีพืชพันธุ์ธัญญาหารกินประทังชีวิต แต่เมื่อไรที่เมล็ดพันธุ์ถูกผูกขาด เกษตรกรถูกจำกัด จะทำให้ความเข้มแข็งด้านอาหารและด้านเกษตรกรรมของประเทศไทยเดี้ยงไปเลย การที่จะช่วยตัวเองพึ่งพาตัวเองเพื่อช่วยวิกฤติชาติจะไม่มีที่จะพึ่งพิง เพราะฉะนั้น นี่คือการทำความเสียหาย เมื่อเกิดโรคร้ายทำซีแอลไม่ได้ นำเข้าหรือผลิตยาชื่อสามัญไม่ได้ ต้องใช้ยาต้นแบบที่มีราคาแพงเท่านั้น”

              อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ขอให้คนไทยจำชื่อคนเหล่านี้ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และจารึกไว้ที่ใดก็ได้ว่าทำอะไรกับแผ่นดินไทยบ้าง

 

 

              “ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ นายสมคิด เมื่อมาเป็นนักการเมือง เป็นรัฐบาล ทำความดีอะไรให้กับแผ่นดินนี้บ้าง และอะไรที่เขาทำความไม่ดีและทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคนไทย เราจะได้จารึกเอาไว้ จารึกตรงไหนก็ได้ ... ผมมองว่า คุณสมคิด และรัฐบาลชุดนี้ นอกจากจะไม่มีอะไรจารึกไว้ในแผ่นดินในเรื่องของการทำประโยชน์ให้คนข้างหลังได้พูดถึงได้คิดถึง แล้วยังทำสิ่งที่ไม่ดีตราอยู่ในแผ่นดินอีก เพราะฉะนั้น อยากฝากทั้ง นายกฯ และ รองนายกฯ ว่า ท่านจะทำอะไรก็แล้วแต่ ทำไปเหอะ แต่คนที่จะจารึกความดีความชั่วของท่านไว้ในแผ่นดินนี้คือประชาชนคนไทย ขอให้คิดให้หนักก่อนที่จะไปเอาใจผู้ที่มีเงินเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน ตรงนั้นไม่มีประโยชน์ ตายไปก็เอาไปไม่ได้สักอย่าง”

 

 

              นพ.มงคล กล่าวว่า รู้สึกโกรธ เพราะนี่คือการใช้อำนาจในการบริหารประเทศมาทำร้ายประชาชนและประเทศชาติโดยตรง ผมทนไม่ไหว ถ้ามีการเซ็นสัญญาเข้าร่วมความตกลง CPTPP เมื่อไร จะนั่งแช่งทุกวัน ขอฝากให้ประชาชนช่วยกันจับตาการประชุมคณะรัฐมนตรี

              ทั้งนี้ จากเอกสารของกระทรวงพาณิชย์ที่ประกอบการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่จะถึงนี้ ระบุว่า หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไปจากความตกลงเมื่อปี 2558 ภาคีความตกลงฯ ปัจจุบันเหลือ 11 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีเอฟทีเอแล้วกับ 9 ประเทศ มีเพียงแคนาดาและเม็กซิโกที่ถือได้ว่าเป็นตลาดใหม่ ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้จึงค่อนข้างต่ำ คาดว่าจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.12 หรือ 13,323 ล้านบาท การลงทุนจะขยายตัวร้อยละ 5.14 หรือ 148,240 ล้านบาท แต่จะเน้นว่า หากไทยไม่เข้าร่วมจะเสียโอกาสขยายการค้าและการลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามและสิงคโปร์

 

 

              นอกจากนี้ ในเอกสารประกอบวาระการประชุมยังระบุว่า จาก 30 ข้อบทในความตกลง ไทยสามารถปฏิบัติตามได้เพียง 15 ข้อบท ที่เหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปตัดสินใจเชิงนโยบายในประเด็นที่สำคัญและอ่อนไหว โดยเฉพาะ การยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าร้อยละ 99 ของสินค้าทั้งหมด , การยกเลิกมาตรการปกป้องสินค้าเกษตร , การห้ามกำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ , การให้การคุ้มครองการลงทุนตั้งแต่ชั้นก่อนประกอบกิจการและการลงทุนที่มิได้รับการคุ้มครองเป็นลายลักษณ์อักษร , การห้ามเก็บภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านอิเล็กทรอนิกส์อย่างถาวร , การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ , การห้ามให้แต้มต่อหรือสิทธิพิเศษกับผู้ประกอบการไทยในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เช่น

 

 

              ห้ามกำหนดบัญชีนวัตกรรมไทย ห้ามกำหนดว่าต้องใช้สินค้าไทย ห้ามบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี , การบังคับให้เข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ที่ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยชี้ว่าจะทำให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์และมิได้เป็นประโยชน์ต่อนักปรับปรุงพันธุ์และเกษตรกรไทย แต่ในเอกสารดังกล่าวไม่ได้รวมข้อห่วงกังวลของทางกระทรวงสาธารณสุขที่ความตกลงนี้จะจำกัดการประกาศบังคับใช้สิทธิ์ของไทยที่ไม่รวมถึง public non-commercial use หรือเหตุผลการใช้เพื่อสาธารณะโดยไม่แสวงหากำไร ดังที่ประเทศไทยเคยใช้ในช่วงปี 2549 - 2550

              แม้ในเอกสารประกอบการประชุมคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะระบุว่า อาจจะสามารถเจรจาต่อรองได้ แต่ในข้อสรุปมติที่จะขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีกลับระบุให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมพร้อมในการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามความตกลง CPTPP

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ