สปสช.ย้ำบัตรทอง30บาทรักษาโควิดฟรี
สปสช.แจ้งความคุ้มครองประชาชนสิทธิบัตรทอง กรณีมีอาการสงสัยป่วย "โรคโควิด-19"
สปสช.แจ้งประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท หากมีอาการเข้าข่ายสงสัยป่วยโรคโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์ล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขที่ปรับปรุงเมื่อวันที่ 21 มี.ค.63สามารถเข้ารักษา รพ.ตามสิทธิ ไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมย้ำ หากอาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ แต่อยากทราบว่าติดเชื้อหรือไม่ ไม่ต้องไป รพ.เพื่อขอตรวจ จะเพิ่มความเสี่ยงรับเชื้อโดยไม่จำเป็น
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง 30 บาทนั้น หากมีอาการเข้าข่ายสงสัยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโรคโควิด-19 ให้โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลของท่าน โดยต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ แจ้งประวัติ ไม่ปกปิดข้อมูลใด ๆ เพื่อตรวจเชื้อ หากพบว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19 จะได้รับการรักษาตามขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งโรงพยาบาลตามสิทธิของท่านจะประสานส่งตัวเข้ารับการรักษาอย่างมีมาตรฐานในโรงพยาบาล โดยผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้หลักเกณฑ์การเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) นั้น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 ดังนี้
1.ผู้ป่วยที่มีประวัติไข้ หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง (ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หรือหายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก) และมีประวัติในช่วง 14 วัน ก่อนวันเริ่มมีอาการ คือ
ก.มีการเดินทางไปหรือมาจากประเทศ หรือ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการรายงานการระบาดต่อเนื่องของ COVID-19หรือ
ข.เป็นผู้ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดต่อเนื่องของCOVID-19หรือ
ค.มีประวัติใกล้ชิดหรือสัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยที่ยืนยันCOVID-19 ตามแนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค
ง.เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือสารคัดหลังจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยสงสัยหรือยืนยัน COVID-19 โดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม
จ.มีประวัติไปในสถานที่ที่ประชาชนหนาแน่นที่พบผู้ป่วยยืนยันในช่วงเวลาเดียวกันตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประกาศ
2.ผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีประวัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ก.มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19 หรือ
ข.เป็นบุคลากรทางการแพทย์ หรือ
ค.เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้และรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 48-72 ชั่วโมง หรือ
ง.เป็นผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่มีลักษณะเข้าได้กับCOVID-19
3.การพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน
ก.กรณีเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่ 3 รายขึ้นไป ในแผนกเดียวกันในช่วงสัปดาห์เดียวกัน (หากสถานพยาบาลขนาดเล็ก เช่น คลินิก ใช้เกณฑ์ 3 รายขึ้นไปในสถานพยาบาลนั้นๆ)
ข.กรณีไม่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่ 5 รายขึ้นไป ในสถานที่เดียวกัน ในช่วงสัปดาห์เดียวกันโดยมีความเชื่อมโยงกันทางระบาดวิทยา
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่หวาดกลัว แล้วต้องการไปขอรับการตรวจเชื้อจากโรงพยาบาล โดยที่ไม่มีอาการและประวัติการสัมผัสโรคและไม่เข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังโรคอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะส่งผลให้โรงพยาบาลเกิดความแออัด และอาจทำให้ผู้ติดเชื้อตัวจริงเข้าไม่ถึงบริการ ในกรณีนี้ สปสช.ขอแนะนำประชาชนให้ทำตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่แนะนำให้ไปขอตรวจและขอใบรับรองแพทย์เนื่องจาก
1.การไปตรวจหาเชื้อในช่วงที่ไม่มีอาการ โอกาสพบเชื้อน้อยมาก หรือหากตรวจแล้วพบว่าเป็นลบก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะไม่ป่วยจึงไม่มีความจำเป็นที่จะไปขอตรวจ ในขณะที่ไม่มีอาการ
2.การไปโรงพยาบาลโดยไม่มีความจำเป็น จะเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้อจากโรงพยาบาล และที่สำคัญอาจนำเชื้อต่าง ๆ ไปติดผู้ป่วยในโรงพยาบาลซึ่งมีร่างกายไม่แข็งแรงได้
3.เมื่อมีอาการตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข รีบไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิของท่าน โดยต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ แจ้งประวัติ ไม่ปกปิดข้อมูลใด ๆ
โดยสรุปการปฏิบัติตัวสำหรับประชาชนสิทธิบัตรทอง30 บาท คือ
1. หากมีอาการเข้าข่ายสงสัยป่วยโรคโควิด-19 รีบไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิของท่าน กรณีไปต่างจังหวัดให้ไปที่โรงพยาบาลของรัฐ เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 จะถูกส่งตัวรักษาตามกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
2. หากอาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ แต่สงสัยเองว่าจะป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้วต้องการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เอง โดยที่แพทย์ไม่ได้วินิจฉัยให้ ต้องจ่ายเงินเอง ทั้งนี้ขอย้ำว่า ในกรณีนี้ไม่แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจเอง แม้จะจ่ายเงินเอง แต่การไปโรงพยาบาลโดยไม่มีความจำเป็น จะเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้อจากโรงพยาบาล และเพิ่มภาระให้บุคลากรสาธารณสุขโดยไม่จำเป็น