ข่าว

กมธ.ระดมกึ๋นรื้อรธน.4กลุ่มปชช.ชงแก้"เหลื่อมล้ำ-สร้างงาน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"พีระพันธุ์" นำคณะรับข้อเสนอครช.หน้าสภา ยันเร่งดำเนินการให้ทันสมัยประชุมหน้า พร้อมเปิดรับฟังความเห็นนศ. 45 สถาบัน ด้าน ปชช. 4 กลุ่ม เน้น "แก้ความเหลื่อมล้ำ – สร้างอาชีพ" "6 พรรคเล็ก"ด้าน ไล่ปชป.พ้นรัฐบาล

          วันที่ 13 มีนาคม คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ร่วมกับเครือข่าย People Go และแนวร่วม เดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที สถานีกำแพงเพชร ผ่านตลาด อ.ต.ก. แยกประดิพัทธ์ ถนนพระราม 6 ไปรัฐสภาแห่งใหม่ แยกเกียกกาย เพื่อยื่นข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560

          โดยมีข้อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1.สร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เข้มแข็ง ไม่นำเหตุความมั่นคงมาอ้างในการจำกัดเสรีภาพ ให้ประชาชนเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สร้างหลักประกันด้านรัฐสวัสดิการ และ 2.สร้างกลไกเข้าสู่อำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน กำหนดให้ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. และ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด การปฏิรูปประเทศหรือยุทธศาสตร์ชาติ ต้องไม่เกิดขึ้นโดยคนกลุ่มเดียวและต้องไม่นิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร

 

 

 

 

          กลุ่ม ครช. และแนวร่วม ยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับกระบวนการ ให้มีการตรา พ.ร.บ.การรับฟังความเห็นของประชาชนว่าสมควรให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพื่อให้การรับฟังความเห็นของประชาชนมีผลในทางกฎหมาย และแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. จากการเลือกตั้ง แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ใช้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเท่านั้น และกำหนดบทเฉพาะกาลให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 จัดการเลือกตั้งให้รัฐบาลชุดใหม่ เพื่อดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ และจัดทำประชามติให้ประชาชนให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

          นายอนุสรณ์ อุณโณ ประธาน ครช. กล่าวว่า ทางกลุ่มจะติดตามความคืบหน้าโดยเฉพาะข้อเรียกร้องข้อที่ 1 ให้มีการตรา พ.ร.บ.การรับฟังความเห็นของประชาชนว่าสมควรให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยหวังว่าจะได้รับการบรรจุเป็นระเบียบวาระในสมัยประชุมครั้งต่อไป ส่วนทางกลุ่ม ครช. ก็จะดำเนินกิจกรรมต่อไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมย้ำว่า แม้ประธานคณะกรรมาธิการจะมีเจตนาอันแน่วแน่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลไกที่วางเอาไว้ในรัฐธรรมนูญยากเกินกว่าที่จะเข้าถึง จึงต้องอาศัยพลังของประชาชน โดยสิ่งที่ทางกลุ่มทำในวันนี้ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อสังคมในวงกว้างให้ร่วมกันแสดงออกซึ่งเจตจำนงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและประสานความร่วมมือต่อไป

กมธ.ยันเร่งนำเข้าที่ประชุมสมัยหน้า

          นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานกมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นำคณะรับข้อเสนอ พร้อมกล่าวว่า ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่มีนายวัฒนา เมืองสุข เป็นประธาน รวบรวมความเห็น เช่นเดียวกับที่รับฟังความเห็นของประชาชนทั่วไป และขอให้มั่นใจว่าข้อเสนอจะนำไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ พร้อมยืนยันแนวทางของคณะกรรมาธิการ เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น มุ่งแก้ไขในส่วนที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยไม่สนว่าจะกระทบฝ่ายผู้มีอำนาจหรือไม่ เบื้องต้นวางไว้ว่าคณะกรรมาธิการจะทำงานให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และจะทำรายงานสรุปภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้บรรจุเป็นระเบียบวาระในสมัยประชุมหน้า ส่วนการเลื่อนขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

กมธ.รับฟังความเห็นของนศ.

          วันเดียวกัน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนักศึกษา จำนวน 45 สถาบัน โดยมีนายพีระพันธุ์ เป็นประธานและกล่าวเปิดเวทีว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่คำนึงถึงแต่ตัวเอง การที่คิดว่ามีสิทธิเสรีภาพจะทำอะไรก็ได้นั้น ถือว่า ไม่ใช่ เพราะความจริงต้องคิดถึงคนอื่นด้วย เนื่องจากคนอื่นก็มีสิทธิเหมือนเรา ถ้าเราไม่คำนึงสังคมก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้น หัวใจรัฐธรรมนูญ คือ หมวดที่ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และหมวดว่าด้วยการบริหารประเทศ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว. และองค์กรอิสระ เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญมีสองส่วนที่เกี่ยวกับประชาชน คือ เรื่องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และเรื่องสิทธิในการบริหารประเทศ ดังนั้น ทางกมธ.จึงได้หารือว่า ต้องทำรัฐธรรมนูญไม่ให้เป็นของฝ่ายการเมืองหรือคู่มือของฝ่ายการเมือง การที่เราจะทำแบบนี้ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงได้ตั้งคณะอนุ กมธ. รับฟังขึ้นมารับฟังทุกกลุ่มตามระยะเวลาที่กมธ.มีอยู่ หนึ่งในกลุ่มที่สำคัญคือกลุ่มนักศึกษา ซึ่งท่านจะบอกว่าเป็นเด็กไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นวัยที่กำลังเติบโต

          จากนั้นได้เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้แสดงความคิดเห็น โดยนายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง ภาคีนักศึกษาศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเราไม่ได้เลือกมา เราไม่มีปากเสียงอะไรเลย ดังนั้น ต้องคิดว่า จะทำอย่างไรจึงทำให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้มากที่สุด ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้ กมธ.เปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยเต็มที่

          ด้านนายวิริยะ ก้องศิริ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นที่อยากเรียกร้อง คือ 1.เรื่องสิทธิเสรีภาพ เช่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ให้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น แต่ห้อยท้ายว่า “เว้นแต่มีกฎหมายความมั่นคงของรัฐ” จึงขอเสนอให้เขียนให้ชัดเจนว่า กฎหมายเหล่านี้ควรตีความอย่างไร รวมถึงวิธีการคำนวณ ส.ส. รวมถึงที่มานายกรัฐมนตรีควรมาจาก ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา ควรแก้ไขมาตรา 256 ที่กำหนดให้ต้องใช้เสียง ส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญ องค์กรตรวจสอบอำนาจของกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

 บิ๊กป๊อกหนุนแก้รัฐธรรมนูญ

          พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่กลุ่มเครือข่ายนิสิตนักศึกษาเดินขบวนไปที่รัฐสภาเพื่อขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ทราบว่ามีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาและพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว ส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะสังคมมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความสงบ หากจะแก้ไขก็ต้องแก้ไข แต่ขอให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมาที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายให้มากที่สุด รวมถึงกลุ่มนักนิสิตนักศึกษาที่กำลังเคลื่อนไหวแสดงออกในเรื่องดังกล่าวขณะนี้ด้วย

          ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มนักศึกษาหลายสถาบันรวมตัวกันเดินขบวนไปยังรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้มีการเเก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า ไม่รู้ และเพิ่งทราบ ซึ่งก็สามารถทำได้ ไม่มีปัญหาหากเดินไปอย่างสงบเรียบร้อย พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีการสั่งห้ามแต่อย่างใด แต่ถามว่าเขาจะไปยื่นอะไร เพราะขณะนี้สภาปิดอยู่ เขาให้เข้าหรือไม่ก็ยังไม่รู้เลย

ปชช.หนุนแก้เหลื่อมล้ำ-ผุดอาชีพ

          น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกกมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แถลงสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้พิการ ประชาสังคม สตรี และกลุ่มแรงงาน โดยแต่ละกลุ่มมีตัวแทนเข้าร่วมประมาณ 30 คน โดยกลุ่มผู้พิการได้มีการเสนอแนะเกี่ยวกับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ มาตรา 71 ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการเข้าถึงและโอกาสที่เท่าเทียมกันเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร กระบวนการยุติธรรม กฎหมาย รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องมือในการเข้าถึงการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นคุณภาพความเป็นอยู่ การดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และความสามารถในการสร้างอาชีพ เพื่อมีรายได้อย่างไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และร้องขอให้เปลี่ยนถ้อยคำจาก “ผู้ด้อยโอกาส” เป็นคำอื่นที่มีศักดิ์ศรีมากกว่านี้

          น.ส.ธณิกานต์ กล่าวว่า ในส่วนภาคประชาสังคม มีการกล่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 60 เช่น เรื่องการมีส่วนร่วม ที่มาของรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ การทุจริต การเลือกตั้ง ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา และขั้นตอนกระบวนการได้มาของรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรม รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรและการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม ขณะที่กลุ่มสตรีได้ให้ความสำคัญในเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง รวมถึงเพศทางเลือก การมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การมีสัดส่วนในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 มีการกำหนดหลักการให้คำนึงถึงสัดส่วนชายและหญิง แต่รัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ได้มีการกำหนด ส่วนกลุ่มแรงงานนั้น ได้แสดงความต้องการในส่วนของการมีส่วนร่วม และการสนับสนุนในการสร้างสหภาพแรงงานในสถานประกอบการ

          โฆษกกมธ. กล่าวด้วยว่า รัฐสภาก็มีความห่วงใย จึงมีการจุดคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ และมีเจลแอลกอฮอล์ไว้ให้บริการ เนื่องจากขณะนี้ยังคงมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทราบว่าทางคณะที่เดินทางมาก็มีการป้องกันอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามที่แสดงความคิดเห็นนั้น ทาง กมธ.ก็ยินดีรับฟัง แต่ก็ขอให้คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย

6พรรคเล็กค้านไล่ปชป.พ้นรัฐบาล

          ที่รัฐสภา นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ แถลงว่า เป็นตัวแทนของ 6 พรรคเล็ก ประกอบด้วย พรรคพลังชาติไทย  พรรคประชาภิวัฒน์  พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน  พรรคประชานิยม พรรคพลเมืองไทย ซึ่งจากการแถลงข่าวของ นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ กรณีไล่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกจากรัฐบาลนั้นเป็นความเห็นของนายสุรทินเพียงพรรคเดียว พรรคอื่นในกลุ่มพรรคเล็กไม่เห็นด้วยในทิศทางนั้น เราเห็นว่าควรเป็นไปตามครรลองคลองธรรมที่ดี

          นพ.ระวี กล่าวต่อว่า สำหรับจุดยืนของพวกเราในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลนี้ประสบปัญหามาต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่สงครามการค้าระดับโลกระหว่างจีนกับอเมริกา วิกฤติภัยธรรมชาติน้ำท่วมสลับกับภัยแล้ง ตามมาด้วยวิกฤติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่กว่าจะผ่านได้ มาจนถึงวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกลุ่มพรรคเล็กเรามองว่านี่คือสงครามชีวภาพเป็นสงครามที่ไม่ได้ประกาศสงคราม ดังนั้น สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยอีกไม่นานจะก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่พรรคการเมืองและนักการเมืองจากทุกพรรคไม่ว่าจะฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย ต้องร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียวที่จะทำให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติโควิด- 19 หรือสงครามชีวภาพในครั้งนี้ไปได้

          “ทุกคนต้องช่วยกันพายเรือประเทศไทยในครั้งนี้ ใครไม่พายก็ไม่ว่า แต่ไม่ควรเอาเท้าลงมาราน้ำ เราขอเรียกร้องพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค และท่านที่สร้างกระแสความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในช่วงนี้พิจารณาพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศชาติ ว่าสิ่งที่ท่านทำนั้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นรัฐบาลหรือไม่ ทำให้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศลดน้อยลงหรือไม่ นี่คือจุดยืนของกลุ่มพรรคเล็กที่เห็นว่าควรให้โอกาสต่อรัฐบาลในการดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศไปก่อน แล้วเมื่อผ่านพ้นวิกฤติของประเทศไปแล้ว พรรคฝ่ายค้าน หรือพรรคร่วมรัฐบาล จะมาขย่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ หรือขย่มรัฐบาลต้องลาออกก็เป็นสิทธิ” นพ.ระวี กล่าว

 

 

 

 

“คารม”ยัวะลิ่วล้ออนค.คอยถากถาง

          นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 มีนาคม นี้ จะยังไม่เข้าไปสมัครสมาชิกพรรคก้าวไกล ตามที่ ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่หลายคนได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ และยอมรับว่าไม่พอใจกับคำพูดของนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. และนายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ออกมาโจมตีในทำนองว่า ที่ได้เป็น ส.ส.เพราะพรรคอนาคตใหม่ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า เวลานี้ยังไม่ได้ตัดสินใจไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไหนทั้งสิ้น

“ผมยอมรับว่า ผมได้เป็น ส.ส.เพราะพรรคอนาคตใหม่ แต่ผมก็ช่วยพรรคอนาคตใหม่เต็มที่ ใน จ.ร้อยเอ็ด ผมก็ทำทุกอย่าง จนได้คะแนนมาจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เขตของนักศึกษา ผมรู้สึกไม่ดีเลย ถ้าก้าวล่วงผมแบบนี้ ผมเป็นทนายความ ก็ดูอยู่เหมือนกัน เป็นคำพูดที่แย่มาก และเสียความรู้สึก ผมกำลังตรวจสอบทุกอย่าง เพื่อจะได้รู้ว่าวางตัวอย่างไรดี” นายคารม กล่าว

          นายคารม กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นเรื่องโครงสร้างของพรรคใหม่ ไม่ได้ต้องการตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค เป็นการเสนอไปตามหลักการ ที่ต้องการให้พรรคมีโอกาสสร้างพื้นที่ทางการเมืองในภาคอีสานให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเชิญชวนให้มาสมัครเป็นสมาชิกพรรค อีกทั้ง ไม่ได้ว่ากล่าวพาดพิงบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ดังนั้น การออกมาพูดในทำนองให้ร้ายตน เป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกไม่ดีอย่างมาก

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ