ตั้งกองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ขับเคลื่อนสินค้า GI
กรมทรัพย์สินทางปัญญาผลักดันตั้ง "กองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์" สำเร็จ เตรียมลุยขับเคลื่อนสินค้า GI เพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจฐานรากเต็มสูบ มั่นใจปีนี้ดันสินค้า GI มีครบทุกจังหวัด พร้อมเดินหน้าผลักดันขึ้นทะเบียนรายการใหม่ ล่าสุดพาณิชย์จังหวัดส่งรายชื่อ 147 สิน
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยได้มีการปรับฐานะงานด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากเดิมที่มีฐานะเป็นกลุ่มงานอยู่ภายใต้สำนักเครื่องหมายการค้า ปรับฐานะใหม่ขึ้นเป็นกองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเทียบเท่าระดับสำนัก ทำให้ภารกิจของงานด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะมีความคล่องตัวมากขึ้น และขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ได้ดีขึ้น
“การปรับหน่วยงานด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นกองดังกล่าว ใช้เวลานานถึง 17 ปี ตั้งแต่กรมฯ ดูแลเรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยผลจากการมีหน่วยงานเฉพาะ ทำให้การทำงานเรื่องสินค้า GI ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่รัฐบาลให้ความสำคัญจะขับเคลื่อนได้ดีขึ้น เพราะมีคนทำงานเป็นของตัวเอง ไม่ต้องอยู่ภายใต้สังกัดกองอื่น สามารถตั้งงบประมาณทำงานเองได้ ซึ่งกรมฯ มั่นใจว่าจากนี้ไปงานขับเคลื่อนสินค้า GI จะดีขึ้นอย่างแน่นอน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากด้วยสินค้า GI ก็จะทำได้ดีขึ้น” นายทศพล กล่าว
อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวอีกว่า สำหรับการผลักดันการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียน GI ได้แล้ว 75 จังหวัด เหลือเพียง 2 จังหวัด คือ ปทุมธานี และอ่างทอง ที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI แต่ในส่วนของจังหวัดปทุมธานี กำลังอยู่ระหว่างการประกาศโฆษณาคำขอขึ้นทะเบียนกล้วยหอมทองปทุม คาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนในเร็วๆ นี้ ส่วนจังหวัดอ่างทอง ได้ยื่นคำขอจดทะเบียน GI สินค้ากลองเอกราช ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาและคาดว่าจะได้รับการขึ้นในเร็วๆ นี้เช่นเดียวกัน หาก 2 จังหวัดที่เหลือได้รับการขึ้นทะเบียน GI ก็จะทำให้ 77 จังหวัดของไทยมีสินค้า GI ครบทุกจังหวัด
ทั้งนี้ กรมฯ ยังมีแผนเดินหน้าขึ้นทะเบียนสินค้า GI รายการใหม่ๆ โดยล่าสุดได้รับการแจ้งรายชื่อสินค้าที่มีโอกาสขึ้นทะเบียน GI จากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเข้ามาแล้วรวม 147 สินค้า จาก 50 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผลไม้ ผ้าไหม เกษตรแปรรูป หัตถกรรม เครื่องจักรสาน ซึ่งกรมฯ กำลังจะส่งทีมลงพื้นที่ไปประชุมหารือร่วมกับจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร ผู้ประกอบการชุมชน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน GI โดยเบื้องต้นมีสินค้าเป้าหมาย 7 สินค้า จาก 6 จังหวัด ได้แก่ ผ้าไหมปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา , พุทราบ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ , มะม่วงหนองแซง และเผือกหอมบ้านหอม จังหวัดสระบุรี มังคุดคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช , มันแกวบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และพริกไทยปะเหลียน จังหวัดตรัง
ปัจจุบัน ตั้งแต่ พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 มีผลบังคับใช้ มีคำขอยื่นเข้ามาทั้งหมด จำนวน 228 คำขอ ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 135 สินค้า เป็น GI ไทย จำนวน 118 สินค้า และ GI ต่างประเทศ จำนวน 17 สินค้า