ข่าว

นายกฯ ชี้เสถียรภาพความมั่นคง-การเติบโตทางศก. ต้องเกื้อกูล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"นายกฯ" เลี้ยงอาหารเที่ยง ภาคี องค์กรระหว่างประเทศ ชี้การพัฒนาที่ยั่งยืน เหมือนเหรียญ 2 ด้าน "เสถียรภาพความมั่นคง-การเติบโตทางศก." ต้องเกื้อกูล

 

 

 
          เมื่อวันที่ 4 พ.ย.62 เวลา 11.45 น. ที่ห้อง Grand Diamond Ballroom ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวัน เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (Special Lunch on Sustainable Development) โดยงานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อหารือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ สหประชาชาติ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน และกรรมการผู้จัดการองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้าร่วม

 

นายกฯ ชี้เสถียรภาพความมั่นคง-การเติบโตทางศก. ต้องเกื้อกูล

 

 

          ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระสำคัญของโลก และเป็นประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์ของอาเซียนในการขับเคลื่อนการสร้างประชาคมอาเซียนให้มีความเข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งท้าทายต่างๆ นอกจากนี้ อาเซียนได้ร่วมมือกับภาคีภายนอก โดยไทยเป็นผู้ประสานงานอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ (Complementarities Initiative)

 

          โอกาสนี้ ไทยถือว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของ "ความยั่งยืนในทุกมิติ" ซึ่งเปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้าน ด้านหนึ่งคือ การมีเสถียรภาพและความมั่นคง และอีกด้านคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัต และการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งสองด้านจะต้องส่งเสริมและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนของประชาคมอาเซียน

 

          นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้กล่าวถ้อยแถลงสะท้อน "เสียงของอาเซียน" ที่นครนิวยอร์ก เพื่อบรรลุ SDGs อย่างไรก็ดี อาเซียนยังคงเผชิญกับความท้าทายในอีกหลายเป้าหมาย โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อาเซียนได้ประกาศเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม เช่น การลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 23 ภายในปี ค.ศ. 2025 และในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งอาเซียนได้มีข้อริเริ่มมากมายที่จะลดช่องว่างการพัฒนา ทั้งในประเทศและในภูมิภาคเพื่อไม่ให้ประชาคมอาเซียนทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

          โดยในการหารือ นายกรัฐมนตรีได้เสนอ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.อาเซียนควรเสริมสร้างแรงกระตุ้นในการดำเนินการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค และต่อยอดจากการดำเนินกิจกรรมของศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการดำเนินการตามโรดแม็พความเกื้อกูลฯ 2. การสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในระดับรากหญ้า และ3 การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียนจะต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและภาคีภายนอก

 

         ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นย้ำว่าความร่วมมือและความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน และความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับประเทศคู่เจรจาและภาคีภายนอกของอาเซียน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนประจักษ์ผลเป็นรูปธรรม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ