ข่าว

ทูตสหรัฐฯส่งหนังสือคัดค้านแบน ไกลโฟเซต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทูตสหรัฐฯส่งหนังสือคัดค้านแบนไกลโฟเซต BIOTHAI วิเคราะห์ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทยเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ

      นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ก่อนเดินทางมาจีนมีเจ้าหน้าที่เอาเอกสารมาให้เซ็นที่สนามบิน ระบุว่า สถานทูตสหรัฐฯ บอกว่าหากแบนไกลโฟเซตจะมีผลเสีย ขอให้มีตัวนี้อยู่ เพราะยังหาตัวอื่นมาทดแทนไม่ได้ 

         รมว.อุตสาหกรรม ยอมรับว่า ต้องศึกษารอบด้านในการหาสารทดแทนเข้ามาใช้ เพราะกระทบหลายส่วน การทำงานเมื่อเป็นปัญหาการเมืองมักมีปัญหาตามมา

      นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐ แทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของบรรษัทเทคโนโลยีชีวภาพ

       ย้อนรอยไปในปี 2540 หรือกว่า 20 ปีที่แล้ว เครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย ซึ่งเป็นชื่อของเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาสังคม ซึ่งต่อมารู้จักกันภายใต้ชื่อ BIOTHAI ได้ร่วมกับสถาบันการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในขณะนั้นมีแพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ เป็นผู้อำนวยการ ร่วมกันร่างกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พร้อมกับที่ในด้านหนึ่งได้ร่วมกันผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งทั้งสองร่างมีหลักการสำคัญคือ ป้องกันมิให้เกิดกรณีโจรสลัดชีวภาพ ที่มีบรรษัทข้ามชาติเข้าใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วนำไปจดสิทธิบัตรผูกขาด ซึ่งนอกจากเจ้าของทรัพยากรไม่ได้ประโยชน์ใดๆแล้ว ยังปิดกั้นมิให้เจ้าของทรัพยากรสามารถวิจัยและพัฒนาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความรู้ท้องถิ่นของตนเองได้ในอนาคตด้วย

      ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นโมเดลกฎหมายแรกๆของโลกที่พัฒนาขึ้นจากหลักการ “สิทธิอธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากรชีวภาพ” เพื่อตอบโต้กับบรรดาโจรสลัดชีวภาพ

      ในระหว่างกระบวนการร่างกฎหมาย จู่ๆมีหนังสือจากสถานฑูตสหรัฐฯส่งมายังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อข่มขู่ว่าการร่างกฎหมายดังกล่าวขัดกับความตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์การค้าโลก และคุกคามผลประโยชน์ของบรรษัทยาและบริษัทเมล็ดพันธุ์สหรัฐฯ แต่คณะผู้ร่างกฎหมายทั้งจากฝั่งของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรฯหาได้หวั่นไหวไม่

     พวกเราตอบโต้ โดยจัดประชุมวิชาการระหว่างประเทศเพื่อประกาศว่า การออกกฎหมายทั้งสองฉบับของประเทศไทย เป็นไปตามหลักการกฎหมายระหว่างประเทศใน “อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “หน้าต่างของความตกลง TRIPS” ขององค์การค้าโลกเอง ที่เปิดให้แต่ละประเทศสามารถออกกฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะหรือ Sui generis ได้ ตัวแทนของผู้เข้าร่วมประชุมยังได้เดินทางไปพบนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่ทำเนียบรัฐบาล จนในที่สุดรัฐสภาได้ผ่านกฎหมาย คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชในปี 2542 เป็นผลสำเร็จ

    การแทรกแซงกิจการภายในครั้งนั้นของสหรัฐมีผู้รู้เห็นเป็นประจักษ์พยานหลายท่าน บางท่านเป็นข้าราชการในกรมทรัพย์สินทางปัญญา บางท่านเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ บางท่านเดินทางเข้าออกประชุมอยู่ในทำเนียบรัฐบาล บางท่านเป็นนักกฎหมายใหญ่ของสำนักกฎหมายระหว่างประเทศ และหลายท่านเป็นเอ็นจีโอที่ยังคงทำงานในแวดวงต่างๆ

    เช่นเดียวกับการต่อสู้เพื่อให้ยกเลิกการใช้สารพิษร้ายแรงครั้งนี้ ที่ประเทศไทยต้องยืนหยัดต่อสู้กับการแทรกแซงกิจการภายในจากรัฐบาลต่างประเทศและบรรดาบริษัทข้ามชาติ เพราะเราต่างก็รู้ดีว่า ทั้งไกลโฟเซตและพืชดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ต้านทานไกลโฟเซตนั้น มีบริษัทมอนซานโต้เป็นผู้ครอบครองตลาด

     พวกเขาผลักดันพืชจีเอ็มก็เพื่อจะได้ขายไกลโฟเซตมากขึ้น ในขณะที่การแบนไกลโฟเซตก็จะทำให้ตลาดพืชจีเอ็มที่มียีนต้านทานไกลโฟเซตที่มอนซานโต้เป็นผู้ผูกขาดจะถูกปิดตายในอนาคตไปด้วย ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องทั้งส่งเสริมพืชจีเอ็มโอและค้านการแบนไกลโฟเซตไปพร้อมๆกัน

     ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลเวียดนามประกาศห้ามนำเข้าไกลโฟเซต นาย Sonny Perdue รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรสหรัฐ กล่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเวียดนามว่า การแบนไกลโฟเซต “ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการผลิตทางการเกษตรทั่วโลก” แต่รัฐบาลเวียดนามตอบโต้กลับอย่างรวดเร็วว่า “การตัดสินใจของเวียดนามเป็นไปตามกฎหมายภายในของเวียดนาม ระเบียบระหว่างประเทศ และสอดคล้องกับเงื่อนไขทางสังคม-เศรษฐกิจของเรา” (https://www.reuters.com/…/u-s-criticizes-vietnam-ban-of-gly…)

    แผนภาพขององค์กรชื่อ Food Democracy Now ในสหรัฐ ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์และบทบาททับซ้อนของผู้มีบทบาททางการเมือง หน่วยงานของรัฐในสหรัฐกับบริษัทมอนซานโต้เจ้าของผลิตภัณฑ์ไกลโฟเซตและพืชจีเอ็ม RoundUp Ready

   ตัวอย่างความสัมพันธ์ทับซ้อน เช่น นาย Mickey Kantor บอร์ดของมอนซานโต้ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐ นาง Linda Fisher รองประธานบริษัท ฝ่ายรัฐกิจและประชาสัมพันธ์ ต่อมาได้รับตำแหน่งรองประธานฝ่ายบริหารของ EPA เป็นต้น

  การแทรกแซงของสหรัฐในกิจการภายในของเรา ชี้ให้เห็นแล้วว่า การแบนพาราควอตและไกลโฟเซตนั้น มิได้เป็นเพียงเรื่องเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลสหรัฐด้วย

   รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยควรตอบโต้เฉกเช่นรัฐบาลเวียดนาม โดยควรตอบกลับฑูตสหรัฐไปว่า นี่เป็นกิจการภายในของประเทศไทยที่การแบนสารพิษนี้ เป็นไปเพื่อคุ้มครองเกษตรกรและผู้บริโภค เป็นไปตามกฎหมายของไทย และสอดคล้องกับรายงานเกี่ยวกับรายงานความเป็นพิษขององค์การอนามัยโลกว่าไกลโฟเซตเป็นสารก่อมะเร็ง หน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐที่สมควรทำคือการดูแลประชาชนของตนเอง ไปบังคับคดีให้บริษัทไบเออร์-มอนซานโต้ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวอเมริกันที่ป่วยเพราะโรคมะเร็งจากไกลโฟเซต ตามคำตัดสินของศาลสหรัฐโดยเร็วต่างหาก

   เราเชื่อว่ารัฐบาลไทยจะไม่อ่อนไหวตามแรงกดดันของสหรัฐ !?

    ทั้งนี้ รายละเอียดเนื้อหาของหนังสือรัฐบาลสหรัฐฯส่งตรงถึงนายกรัฐมนตรี และ 7 รัฐมนตรีของไทย อ้างกระทบผลประโยชน์ของสหรัฐ 51,000 ล้านบาท

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เนื้อหาสำคัญว่ากระทรวงเกษตรสหรัฐได้ตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยในการห้ามสารเคมีเกษตร 3 ชนิดที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา 

     ทางสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยยังได้แนบเอกสารจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐ ส่งถึงนายกรัฐมนตรีของไทยด้วยว่า การแบนสารไกลโฟเซต โดยไม่พิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีของไทย จึงหวังว่าประเทศไทยจะพิจารณาความกังวลนี้ เพราะไกลโฟเซทเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยาฆ่าแมลงที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและศึกษาอย่างจริงจังในโลก หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (EPA) ประเมินแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ สอดคล้องกับความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานอื่นทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และองค์การเกษตรแห่งสหประชาชาติ จึงขอให้ชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับไกลโฟเซต เพื่อหาทางออกสำหรับสหรัฐอเมริกา 

      คาดการณ์ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการห้าม 3 ประการ คือ 1.เกษตรกรไทยจะต้องเผชิญกับต้นทุนสารเคมีทดแทนสูงขึ้น 75,000-125,000 ล้านบาท ของราคาตลาดของไทยในปัจจุบัน 2.หากไม่พบสารเคมีทดแทนที่เหมาะสม (เนื่องจากกลูโคซิเนต มีแอมโมเนียมมีพิษมากกว่า ไกลโฟเซท แต่น้อยกว่าพาราควอต) ทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นสำหรับการปราบวัชพืช ทำให้การควบคุมรวมกับการสูญเสียผลผลิตพืช คาดว่าจะสูงถึง 128,000 ล้านบาท 3.สิ่งที่สหรัฐกังวลมากที่สุด คือ จะมีผลกระทบต่อการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล และองุ่น จากสหรัฐ มูลค่า 51,000ล้านบาท ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นยังไม่รวมถึงผลกระทบที่ตามมาของผู้ผลิตอาหาร เช่น อุตสาหกรรมเบเกอรี่และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่พึ่งพาข้าวสาลีที่นำเข้า 100% เพื่อมาดำเนินธุรกิจมูลค่า 40,000 ล้านบาท 

   

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ