ข่าว

ดึง "เอสโตเนีย" ยกระดับแรงงาน นำร่อง 50 พื้นที่ทั่วไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จับมือ ประเทศเอสโตเนีย ยกระดับแรงงานด้อยโอกาสของไทย ริเริ่มระบบทดลองพัฒนาทักษะแรงงานโดยชุมชนเป็นฐานนำร่อง 50 พื้นที่ทั่วไทย

 

        28 พ.ค.62- ที่ห้องอารีย์ 1 โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ อารีย์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมวิชาการนานาชาติ "ยุทธศาสตร์การพัฒนาและการเพิ่มทักษะดิจิตอลให้แก่กลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ด้อยโอกาส : บทเรียนและประสบการณ์จากประเทศเอสโตเนีย" โดยมี ศาสตราจารย์นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุน กสศ. นายแพทย์สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาค นางสาวไครี โซลแมน ผู้บริหารโครงการสำนักการศึกษาและพัฒนาผู้ใหญ่ กระทรวงศึกษาธิการและการวิจัย ประเทศเอสโตเนีย เข้าร่วมเสวนา

 

               ดึง \"เอสโตเนีย\" ยกระดับแรงงาน นำร่อง 50 พื้นที่ทั่วไทย

          ศ.นักสิทธิ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีกลุ่มแรงงานด้อยโอกาสจำนวนมาก และมีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็น แรงงานไทยมีการศึกษา ทักษะค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยผลิตภาพต่ำกว่าของสิงคโปร์และไม่มีแนวโน้มดีขึ้น เป็นแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานด้อยโอกาส ซึ่งมีประมาณ 55% นั้นไม่ได้รับการคุ้มครอง ถ้าจะพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง การพัฒนาแรงงานจึงมีความสำคัญสูงมาก ดังนั้น กสศ. หน่วยงานที่พยายามลดช่องว่างทางการศึกษาของประเทศไทย เพื่อไม่ให้ตกขบวนทางการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการสนับสนุนเด็กนักเรียนยากจน มอบทุนสายอาชีพแล้ว ยังมีหน้าที่ในการพัฒนายกระดับทักษะให้แก่กลุ่มวัยแรงงานด้อยโอกาสด้วย การที่ กสศ. จัดอบรมแรงงานด้อยโอกาส ถือเป็นการลดช่องว่างทางการศึกษาให้คนด้อยโอกาส และได้แรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

          "แรงงานในระบบมีอยู่ประมาณ 17 ล้านคน แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี 4 ล้านคน อาชีวศึกษา 2.2 ล้านคน นอกนั้นอีก 10 ล้านคน เป็นแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับชั้น ม.6 ซึ่งโจทย์ปัญหาแรงงานในประเทศไทยที่ต้องเตรียมรับมือในอนาคตก็คืออีก 5-10 ปี ข้างหน้า แรงงานกลุ่มนี้จะถูกแทนด้วยระบบอัตโนมัติ ประเทศไทยต้องผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการ โดยมีทักษะความรู้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตได้" ศาสตราจารย์นักสิทธิ์ กล่าว

                 ดึง \"เอสโตเนีย\" ยกระดับแรงงาน นำร่อง 50 พื้นที่ทั่วไทย

          ด้าน นพ.สุภกร กล่าวว่า ประเทศเอสโตเนียมีขนาดเท่ากับจังหวัดเชียงใหม่ของประเทศไทย มีประชากรราว 1.3 ล้านคน ได้รับสมญานามว่า ‘Silicon Valley’ ของยุโรปที่พัฒนาไปเร็วมาก ใช้เวลาไม่ถึง 30 ปี เปลี่ยนจากประเทศยากจนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจุบันมีรายได้ต่อหัวมากกว่าประเทศไทยถึง 7 เท่า ผลการสอบ PISA ปี 2015 เอสโตเนียอยู่ในระดับท็อป 5 ของโลก ระบบโรงเรียนสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีขีดความสามารถสูงไม่ขาดสาย การสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเปิดโอกาสให้แรงงานวัยผู้ใหญ่ที่ด้อยโอกาสได้กลับมา RESKILL เพิ่มศักยภาพได้ ประเด็นที่น่าสนใจคือจะสร้างแรงจูงใจอย่างไรให้คนกลุ่มนี้อยากกลับมาเรียน ฝึกอบรมเพิ่มเติม ซึ่งพบว่าประเทศเอสโตเนียใช้วิธีสร้างแรงจูงใจให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง โดยส่วนของนายจ้างหากมีนโยบายส่งเสริมให้ลูกจ้างไปเรียนรู้เพิ่มเติม สามารถที่จะนำโครงการดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้ ในขณะที่ในส่วนของลูกจ้างเอง ได้กำหนดให้สามารถลาหยุดงานเพื่อไปเรียนเพิ่มเติมเฉลี่ยสูงสุดถึง 30 วันต่อปี ขณะเดียวกันยังมีการจัดแคมเปญรณรงค์ให้แรงงานทุกระดับชั้นเข้าเรียนเพื่อเพิ่มทักษะอย่างต่อเนื่อง

       ดึง \"เอสโตเนีย\" ยกระดับแรงงาน นำร่อง 50 พื้นที่ทั่วไทย

          “กสศ. เองได้นำบทเรียนจากเอสโตเนียมาเป็นส่วนหนึ่งของฐานความรู้ในการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่และแรงงานฝีมือโดยใช้ชุมชนเป็นฐานนำร่องใน 50 พื้นที่ทั่วประเทศ ที่มีสัดส่วนความยากจน การว่างงานสูง และมีดัชนีความก้าวหน้าของคนต่ำ โดยจะมีการวิเคราะห์ศักยภาพและจัดทำแผนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดรูปแบบการพัฒนาทักษะอาชีพแบบครบวงจร โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน คาดว่าในปีแรกจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายประมาณ 5,000-10,000 คน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเชิญชวนหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ที่มีศักยภาพในด้านการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น สามารถเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนได้ โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ใน www.eef.or.th ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ เป็นต้นไป”

                       ดึง \"เอสโตเนีย\" ยกระดับแรงงาน นำร่อง 50 พื้นที่ทั่วไทย

          ขณะที่ นางสาวไครี โซมานน์ ผู้บริหารโครงการสำนักการศึกษาและพัฒนาผู้ใหญ่ กระทรวงศึกษาธิการและการวิจัย ประเทศเอสโตเนีย กล่าวว่า รากฐานความสำเร็จของเอสโตเนียเริ่มมาจากการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายระดับชาติที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างชัดเจน ภายใต้ยุทธศาสตร์ Estonia 2020 ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้มีประชากรวัยทำงานที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ภายในปี 2020 จากร้อยละ 10.5 เมื่อปี 2010 ล่าสุดในปี 2018 อยู่ที่ 19.7% โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอียูซึ่งอยู่ที่  11.1%

          "เอสโตเนียให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชากรวัยทำงานเท่ากับการศึกษาขั้นพื้นฐานอาชีวะศึกษาและอุดมศึกษาของเยาวชน เพราะเราเชื่อว่าแรงงานที่มีประสิทธิภาพจะต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ เสมอ และแน่นอนว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องเข้ามาดูแลและลงทุนเรื่องนี้" นางสาวไครี กล่าว   

           ดึง \"เอสโตเนีย\" ยกระดับแรงงาน นำร่อง 50 พื้นที่ทั่วไทย

          นางสาวไครี กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จอีกด้านคือ การทำงานร่วมกันทั้งภายในภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เช่น ภาครัฐให้สิทธิลดหย่อนทางภาษีกับแรงงานที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ขณะที่ภาคเอกชนก็อนุญาตให้ลูกจ้างกลับเข้าศึกษาได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด (30วัน) โดยยังได้ค่าจ้างตามปกติ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสภาการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่แห่งชาติ (National Council for Adult Education) เพื่อกำหนดนโยบายการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะอีกด้วย และต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน โดยภาครัฐจะมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะแรงงานไปที่ผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาในระดับต่ำ ผู้ที่ออกจากโรงเรียนก่อนเวลาอันควร ผู้ใหญ่ที่ไม่มีคุณวุฒิทางวิชาชีพและผู้ใหญ่ที่มีทักษะอาชีพที่จำเป็นต้องพัฒนาให้ทันสมัย   

          ดึง \"เอสโตเนีย\" ยกระดับแรงงาน นำร่อง 50 พื้นที่ทั่วไทย

          "เรายังนำระบบ E-service มาใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียนมากขึ้น รวมถึงการสร้างระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการศึกษาในเอสโตเนียไว้ด้วยกัน โดยฐานข้อมูลนี้จะจัดเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับสถาบันการศึกษา นักเรียน ครู หลักสูตร ความต้องการแรงงานของภาคเอกชนเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ในการวางแผนการศึกษาและผลิตแรงงานในอนาคตได้ตรงกัน เราเชื่อมั่นว่าเราจะไปถึงเป้าหมายได้ภายในปี 2020 และคาดหวังว่าบทเรียนในการพัฒนาการศึกษาของเอสโตเนียจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในการพัฒนาหลักสูตรสำหรับประชากรในวัยทำงานและกระตุ้นให้แนวคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นที่แพร่หลายในไทยมากขึ้น" นางสาวไครี กล่าว

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ