ข่าว

"พระปกเกล้า" วอน หยุดสร้างวาทกรรมแบ่งขั้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระปกเกล้า ปชช.ร้อยละ 95.9 ยันใช้สิทธิ โค้งสุดท้ายตัวผู้สมัครมีความสำคัญแซงหน้านโยบายพรรค ต่างจังหวัดเลือกที่ตัวผู้สมัคร ขณะที่คน กทม.แคนดิเดตนายกฯ มีผลตัดสินใจ


   

                 สถาบันพระปกเกล้า -13 มี.ค.62-พระปกเกล้า เปิดผลสำรวจ ปชช.ร้อยละ 95.9  ยันออกไปใช้สิทธิ โค้งสุดท้ายตัวผู้สมัครมีความสำคัญแซงหน้านโยบายพรรค คนต่างจังหวัดเลือกที่ตัวผู้สมัคร ขณะที่คน กทม.แคนดิเดตนายกฯ มีผลต่อการตัดสินใจ พบนโยบายแก้ปัญหาเกษตร เพิ่มค่าแรง แก้จน ยังมาแรง คาดเลือกตั้งรอบนี้คนหน้าตาหล่อ ฝีปากดี ไม่สำคัญเท่าการทำงานในพื้นที่ พร้อมเรียกร้องให้หยุดสร้างวาทกรรมฝ่ายสืบทอดอำนาจ – ประชาธิปไตย ทำให้เกิดการแบ่งขั้ว เกลียดชัง

\"พระปกเกล้า\" วอน หยุดสร้างวาทกรรมแบ่งขั้ว

                  นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า พร้อมด้วยนายสติธร  ธนานิธิโชติ รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ร่วมแถลงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "นโยบายอะไรโดนใจประชาชน ผู้สมัครพรรคและว่าที่นายกฯแบบไหนที่นั่งในใจแล้วเข้าตา" ระหว่างวันที่ 7-10 มี.ค. จำนวน 1,540 ตัวอย่าง โดยผลสำรวจประเด็นแรกนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองที่ประชาชนพึงพอใจและเห็นว่าทำได้จริง พบว่าอันดับ1 ร้อยละ 20.4 คือเพิ่มราคาพืชผลทางการเกษตร อันดับ 2 ร้อยละ 16.6 เพิ่มค่าจ้างแรงงาน และ อันดับ 3 ร้อยละ15.6 ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเหลือคนจน  ถือว่านโยบายแก้ปัญหาการเกษตร ค่าแรง แก้ปัญหาความยากจน โดนใจมากที่สุด โดยคนกรุงเทพฯ ชอบนโยบานลดความเหลื่อมล้ำ คนภาคกลางชอบนโยบายเพิ่มค่าแรง ขณะที่คนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ชอบนโยบายเพิ่มราคาพืชผลทางการเกษตร ลดต้นทุนทางการผลิต  แต่เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุพบว่าคนรุ่นใหม่ช่วงอายุระหว่าง 18 -25 ปี ชอบนโยบายเรียนฟรี ปฏิรูปการศึกษา คนวัยทำงาน อายุตั้งแต่ 26- 35 ปี ชอบนโยบายเพิ่มค่าจ้างแรงงาน และลดความเลื่อมล้ำ ช่วยเหลือคนจน ส่วนคนสูงอายุ 61 ปีขึ้นไปชอบนโยบายเพิ่มราคาพืชผลทางการเกษตร

 

\"พระปกเกล้า\" วอน หยุดสร้างวาทกรรมแบ่งขั้ว

 

          ประเด็นที่ 2 ปัจจัยในการเลือกผู้สมัคร พรรคการเมือง และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พบว่าความซื่อสัตย์ มีวิสัยทัศน์ แก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ เป็นปัจจัยหลัก โดยความซื่อสัตย์มีความสำคัญมากร้อยละ 78.2 มีวิสัยทัศน์และความคิดก้าวหน้า ร้อยละ 66.8 ความสามารถในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 59.5  และเมื่อถามประชาชนว่า พรรคการเมืองแบบไหนที่ประชาชนจะเลือกอันดับ 1. ร้อยละ 64 ให้ความสำคัญกับนโยบายของพรรค อันดับ 2. ร้อยละ 53.7 ให้ความสำคัญกับแนวทางการดำเนินการทางการเมืองของพรรค และอันดับ 3. ร้อยละ 51.1 ให้ความสำคัญกับอุดมการณ์ และเจตนารมณ์ของพรรค

\"พระปกเกล้า\" วอน หยุดสร้างวาทกรรมแบ่งขั้ว

          เมื่อถามถึงปัจจัยที่มีความสำคัญสำหรับผู้ที่จะเป็นนายกฯ อันดับ 1. ร้อยละ 82.2 ระบุว่าต้องเป็นบุคคลที่มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต อันดับ 2. ร้อยละ 77.6  ต้องมีความโปร่งใสในการทำงาน และอันดับ 3. ร้อยละ 72.8 ต้องมีภาวะผู้นำ โดยพบว่าประชาชนไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องความเชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วาทะศิลป์ในการสื่อสาร รวมถึงประสบการณ์ทางการเมือง ขณะที่การตัดสินใจเลือกส.ส.แบบแบ่งเขตพบว่า ประชาชนร้อยละ 38.8 ให้ความสำคัญกับตัวผู้สมัครในเขต รองลงมาคือนโยบายพรรค พรรคการเมืองที่สังกัด และรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ทั้งนี้เมื่อสำรวจเป็นรายภาคจะพบว่า คนต่างจังหวัดตัดสินใจเลือกจากตัวผู้สมัคร ขณะที่คนกรุงเทพฯ นำรายชื่อแคนดิเดตนายกฯนำมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือก

\"พระปกเกล้า\" วอน หยุดสร้างวาทกรรมแบ่งขั้ว

          สำหรับประเด็นที่ 3 เป็นการสอบถามเรื่องความเชื่อมั่นในพลังเสียงของตัวเอง และความมุ่งมั่นในการไปใช้สิทธิ โดยพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 94 เห็นด้วยว่า หนึ่งเสียงของตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศให้ดีขึ้นได้ และประชาชนร้อยละ 95.9 ยืนยันว่าจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างแน่นอน

          นายวุฒิสาร กล่าวอีกว่า จากการสำรวจความคิดเห็นทั้ง 5 ครั้ง พบว่าทิศทางและหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกของประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อมีความสุกงอมทางการเมืองมากขึ้น ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับนโยบาย วันนี้เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับผู้สมัครในแต่ละเขต โดยเน้นในเรื่องคุณธรรม ความซื่อสัตย์ และการแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่ ส่วนเรื่องรูปร่างหน้าตา พูดจาฉะฉาน หรือประสบการณ์ทางการเมืองไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้คนหน้าใหม่จึงมีโอกาสที่จะได้รับเลือกมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่ารายชื่อแคนดิเดตนายกฯมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

\"พระปกเกล้า\" วอน หยุดสร้างวาทกรรมแบ่งขั้ว

           นายวุฒิสาร กล่าวถึงคำร้องหลายเรื่องของที่มีต่อหลายพรรคการเมืองซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกกต.ว่ามีผลต่อการตัดสินใจออกเสียงของประชาชนหรือไม่ว่า ส่วนตัวคิดว่าไม่มีผล เนื่องจากคำตัดสินสุดท้ายอยู่ที่ศาล อีกทั้งหลายคดีจะได้ข้อสรุปหลังวันที่ 24 มี.ค. นอกจากนี้ผู้มีสิทธิบางกลุ่มได้ตัดสินใจแน่นอนแล้วว่าจะเลือกใคร อย่างไรก็ตาม ตนมีความเป็นห่วงเรื่องการใช้วาทกรรมในการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น "สืบทอดอำนาจ" และ "ฝ่ายประชาธิปไตย" ในอดีตเราเคยมีวาทกรรม พรรคเทพ-พรรคมารมาแล้ว แต่เมื่อเข้าไปดูในนโยบายก็เหมือนกันทั้ง 2 ข้าง ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้หยุดการสร้างนิยาม หรือวาทกรรมเพราะจะทำให้คนคิดว่าออกเสียงแบบนี้แล้วตัวเองจะกลายเป็นคนในกลุ่มนั้นหรือไม่ ซึ่งทำให้เกิดความเกลียดชังมีการแบ่งขั้วเกิดขึ้นในการเมืองไทย และไม่ได้เป็นเจตนารมณ์ในการเลือกตั้งที่ต้องทำให้การเลือกตั้งเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ของประชาชนและปราศจากอคติ โดยจะต้องคำนึงถึงนโยบายของพรรคการเมือง เป็นหลักมากกว่าการใช้วาทกรรมที่เกิดขึ้นในขณะนี้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ