Lifestyle

"วันไบโพลาร์โลก" รู้จัก โรคไบโพลาร์ อาการแบบไหนถึงจะเข้าข่ายป่วย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

30 มีนาคม "วันไบโพลาร์โลก" (World Bipolar Day) รู้จัก โรคไบโพลาร์ อาการแบบไหนถึงจะเข้าข่ายป่วย รักษา และ ป้องกัน ได้อย่างไร

"วันไบโพลาร์โลก" (World Bipolar Day) ตรงกับวันที่ 30 มีนาคมของทุกปี เริ่มต้นขึ้นจากความคิดริเริ่มของเครือข่าย โรคไบโพลาร์ ของทวีปเอเชีย (Asian Network of Bipolar Disorder) ซึ่งได้ร่วมกับอีก 2 องค์กรอย่าง International Bipolar Foundation และสมาพันธ์โรคไบโพลาร์สากล (International Society for Bipolar Disorders) ในการขับเคลื่อนและทำงานร่วมกันในวันดังกล่าวนี้ โดยถือเอาวันที่ 30 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของ วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent van Gogh) ศิลปินผู้ล่วงลับ ที่คาดว่าน่าจะเป็นหนึ่งใน ผู้ป่วยไบโพลาร์ มาจัดตั้ง "วันไบโพลาร์โลก" ขึ้น

 

 

"วันไบโพลาร์โลก" เป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาและเข้าใจโรคไบโพลาร์ให้มากขึ้น โดย องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเนื่องจากความเจ็บป่วยหรือพิการมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งมีผู้ป่วยถึง 1 ใน 5 ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ

 

 

รู้จักกับ โรคไบโพลาร์

 

โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ โดยมีอารมณ์ดีมากจนผิดปกติหรืออยู่ในภาวะอารมณ์ดีตื่นตัวผิดปกติ (Mania) สลับกับมีภาวะซึมเศร้าอย่างหนัก (Depression) ทำให้เกิดความยากลำบากต่อการทำงาน การเข้าสังคม และการใช้ชีวิต

 

 

อาการของ โรคไบโพลาร์

 

ผู้ป่วย โรคไบโพลาร์ มี 2 ลักษณะเด่นสลับกัน คือ มีภาวะอารมณ์ดีผิดปกติและภาวะซึมเศร้าสลับกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยมีอาการสังเกตที่เด่นชัด ดังนี้

 

 

ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania)

 

  • รู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา มีพลังงานสูงมากจนผิดปกติ
  • อารมณ์ดี ร่าเริงเกินไปอย่างไม่สมเหตุสมผล อยู่ไม่นิ่ง
  • โต้ตอบต่อสิ่งเร้าอย่างรวดเร็วและรุนแรง หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย อารมณ์ไม่คงที่ ไม่มีเหตุผล
  • ทำกิจกรรมต่างๆ มากๆ ในคราวเดียวกัน
  • หุนหันพลันแล่น คิดเร็ว พูดมาก พูดเร็ว ทำสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว
  • มีความต้องการทางเพศสูง อาจมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าได้ง่ายโดยไม่ป้องกัน
  • ประมาท ตัดสินใจได้ไม่ดี มีความผิดพลาดสูง ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง ใช้เงินฟุ่มเฟือย

 

 

ภาวะซึมเศร้า (Depression)

 

  • รู้สึกไร้เรี่ยวแรง อ่อนเพลีย หมดพลังงาน ไม่สดชื่น
  • ซึมเศร้า เก็บตัว เสียใจง่าย ร้องไห้ง่าย
  • เหนื่อยหน่าย เบื่อ ท้อแท้ สิ้นหวัง
  • ครุ่นคิด วิตกกังวลต่อสิ่งต่างๆ ฟุ้งซ่าน มองโลกในแง่ร้าย
  • ไม่มีความสุขในชีวิต ไม่มีอารมณ์ขัน ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ทำให้รู้สึกดีหรือผ่อนคลาย
  • รู้สึกผิดหวัง ว่างเปล่า โดดเดี่ยว ไร้ค่า มีความคิดอยากตายหรืออยากฆ่าตัวตาย
  • มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ ไม่สามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้ ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งใดให้สำเร็จลุล่วง
  • ทำกิจกรรมต่างๆ ลดน้อยลงมาก ไม่อยากทำอะไร
  • มีปัญหาในการนอน นอนไม่หลับ นอนมากหรือน้อยเกินไป
  • มีปัญหาด้านการกิน กินอาหารปริมาณมากหรือน้อยจนเกินพอดี
  • มีแนวโน้มใช้สารเสพติด

 

 

การรักษาโรคไบโพลาร์

 

ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตามกระบวนการที่เหมาะสมกับความรุนแรงและลักษณะอาการ อย่างไรก็ตาม โรคไบโพลาร์ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถใช้ยาปรับสมดุลสารสื่อประสาทและการบำบัดเพื่อช่วยบรรเทาและควบคุมอาการป่วยได้

 

 

การป้องกันโรคไบโพลาร์

 

แม้จะไม่มีวิธีที่แน่นอนในการป้องกัน โรคไบโพลาร์ แต่อาจป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หรือป้องกันการเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนอื่นได้ เช่น

 

  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ
  • รักษาสุขภาพจิตให้ดี หลีกเลี่ยงการเผชิญความเครียดต่างๆ
  • เข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ และกินยาตามคำสั่งของแพทย์ เพื่อให้สภาวะทางอารมณ์คงที่ และป้องกันการเกิดอารมณ์แปรปรวนที่ควบคุมไม่ได้
  • ไม่หยุดการรักษา และไม่เลิกกินยากลางคันเพราะคิดว่าอาการดีขึ้นแล้ว เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่อาการจะกลับมา หรืออาการอาจกำเริบหนักกว่าเดิม
  • ระมัดระวังเรื่องการใช้ยาชนิดอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อระดับสารเคมีในสมองที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์
  • สังเกตอาการที่เป็นสัญญาณสำคัญของโรคหรืออาการแทรกซ้อนต่างๆ แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมหากพบความผิดปกติ

 

 

ข้อมูล : Pobpad

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ