Lifestyle

วิธีการผ่าตัดรักษา 'โรคอ้วน' แบบใหม่ 'สลีฟพลัส' Sleeve Plus

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิธีการผ่าตัดรักษา 'โรคอ้วน' แบบใหม่ 'สลีฟพลัส' Sleeve Plus การผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟพลัส เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ เนื่องจากผลลัพธ์การลดน้ำหนักที่ดี รักษาโรคเบาหวานได้ดีและความเสี่ยงจากการผ่าตัดต่ำ

โรคอ้วน คืออะไร โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากผิดปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคเส้นเลือดหัวใจหรือสมองตีบตัน โรคกรดไหลย้อน กระดูกสันหลังหรือกระดูกเข่าเสื่อม เป็นต้น นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย 
 

การรักษาด้วยการใช้ยา  
การออกกำลังกายหรือการรับประทานอาหารที่มีพลังงานต่ำ สามารถลดน้ำหนักได้ แต่ไม่สามารถรักษาหรือคงน้ำหนักให้ผู้ป่วยได้ตลอด ผู้ป่วยมักจะมีน้ำหนักตัวกลับมาเพิ่มขึ้นได้ จึงได้มีการรักษาด้วยการผ่าตัดขึ้น ซึ่งสามารถลดน้ำหนักได้มากกว่าและมีผลสามารถคงน้ำหนักได้เป็นระยะเวลานานมากกว่า 7-10 ปีขึ้นไป ในผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกาย ไม่มาก สามารถพิจารณาลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายได้ แต่หากผู้ป่วยมีดัชนีมวลกายที่สูงมากมักมีข้อจำกัดในการออกกำลังกายเนื่องจากมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับโรคอ้วนร่วมด้วย นอกจากนี้ลำพังเพียงการออกกำลังกายและควบคุมอาหารมักไม่สามารถลดน้ำหนักได้มากเพียงพอที่จะทำให้หายจากโรคประจำตัวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคเข่าเสื่อม โรคไขมันในเลือดสูง โรคไขมันเกาะตับ เป็นต้น


การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน คืออะไร 
การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดขนาดกระเพาะให้เล็กลง ร่วมกับลดการดูดซึมของกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก นอกจากนี้ฮอร์โมนความหิวที่ถูกสร้างที่กระเพาะก็จะลดลงหลังผ่าตัดทำให้หลังการผ่าตัดความอยากอาหารก็จะลดลงด้วย จุดประสงค์ของการผ่าตัดเพื่อรักษา "โรคอ้วน"และรักษาโรคร่วมที่มากับโรคอ้วน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นต้น  ทำให้หลังการผ่าตัดผู้ป่วยมีสุขภาพดี แข็งแรงและใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน เหมาะกับใคร 
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักไม่ได้เหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินทุกราย ก่อนการผ่าตัดแพทย์จะให้ข้อมูลกับคนไข้อย่างละเอียด ตรวจร่างกายดูความพร้อมและคัดกรองผู้ป่วยที่เหมาะสม ซึ่งมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้
ผู้ที่ลดความอ้วนด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล
1.ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) > 27.5 kg/m2 ร่วมกับมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคอ้วนที่ไม่สามารถควบคุมได้
2.ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) > 32.5 kg/m2 ร่วมกับมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคอ้วน เช่น เบาหวาน, ความโลหิตดันสูง, ไขมันในเลือดสูง, หยุดหายใจขณะนอนหลับ, ไขมันเกาะตับ เป็นต้น
3.ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) > 37.5 kg/m2
                              

วิธีการผ่าตัดรักษา โรคอ้วน แบบใหม่ สลีฟพลัส Sleeve Plus

 

วิธีการผ่าตัดรักษา โรคอ้วน แบบใหม่ สลีฟพลัส Sleeve Plus


                  
การผ่าตัดรักษา "โรคอ้วน" ที่นิยมแบบเดิม มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร
การผ่าตัดแบบสลีฟ (Sleeve Gastrectomy)    
-ลดน้ำหนักส่วนเกินได้ 60%-70% ในระยะเวลา 1 ปี
-กระเพาะอาหารขนาดลดลงโดยที่หูรูดและทางเดินอาหารยังคงเดิม
ลดโอกาสการเกิด Dumpling Syndrome 
-ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อนรุนแรง เนื่องจากหลังการผ่าตัดขนาดกระเพาะที่ลดลงจะทำให้มีแรงดันในกระเพาะสูงขึ้น
ทำให้มีโอกาสที่จะเป็นกรดไหลย้อนได้ 15%
-ควบคุมน้ำหนักและรักษาโรคเบาหวานได้น้อยกว่าการผ่าตัดแบบบายพาสโดยเฉพาะในคนที่เป็นเบาหวานมานานมากกว่า 5 ปีขึ้นไป
-สามารถส่องกล้องทางเดินอาหารเช็คหรือตรวจกระเพาะได้


การผ่าตัดแบบบายพาส (Roux-en-Y Gastric Bypass)
-ลดน้ำหนักส่วนเกินได้ 70%-80% ในระยะเวลา 1 ปี
-กระเพาะอาหารลดลงร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงทางเดินอาหารโดยมีทางเชื่อมระหว่างกระเพาะและลำไส้เล็กส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการ Dumpling syndrome ได้ 15-30% และมีโอกาสเกิดแผลบริเวณรอยต่อระหว่างกระเพาะและลำไส้เล็กได้ 15%
-เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อน เนื่องจากหลังผ่าตัดแรงดันในกระเพาะลดลงทำให้อาการกรดไหลย้อนดีขึ้นหรือหายได้หลังผ่าตัด
-เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานรุนแรง ควบคุมเบาหวานไม่ได้
-ไม่สามารถส่องกล้องทางเดินอาหารเช็คหรือตรวจกระเพาะได้ เนื่องจากทำทางเชื่อมกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็กใหม่ไปแล้ว
-มีความเสี่ยงในการเกิดไส้เลื่อนได้ในอนาคตและมีจุดตัดต่อลำไส้
และกระเพาะเยอะมากกว่าการผ่าตัดแบบอื่นๆ
            

วิธีการผ่าตัดรักษา โรคอ้วน แบบใหม่ สลีฟพลัส Sleeve Plus

 

วิธีการผ่าตัดรักษา โรคอ้วน แบบใหม่ สลีฟพลัส Sleeve Plus


                          
การผ่าตัดรักษาโรคอ้วนแบบใหม่ สลีฟพลัส (Sleeve Gastrectomy Plus Proximal Jejunal Bypass) การผ่าตัดแบบเดิมยังมีข้อที่ต้องพัฒนาอีก  จึงมีการคิดค้นวิธีการผ่าตัดแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น   การผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟพลัส (Laparoscopic Sleeve Gastrectomy with Proximal Jejunostomy Bypass) เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2010 และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผลลัพธ์การลดน้ำหนักที่ดี รักษาโรคเบาหวานได้ดีและความเสี่ยงจากการผ่าตัดต่ำ โดยเป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้องที่ผสมผสานระหว่างการตัดกระเพาะแบบ Sleeve ร่วมกับการทำทางเชื่อมผ่านจากลำไส้เล็กส่วนต้นไปลำไส้เล็กส่วนกลางเพื่อลดการดูดซึมและกระตุ้นฮอร์โมนความอิ่ม(GLP-1,PYY)ได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ร่วมกับขนาดกระเพาะที่เล็กลงก็จะทำให้ระดับฮอร์โมนความหิว(Ghrelin)ลดลงอีกด้วย  นอกจากนี้การทำทางเชื่อมอาหารระหว่างลำไส้เล็กส่วนต้นและส่วนกลาง ยังทำได้ง่ายกว่าและไม่มีความเสี่ยงเรื่องการเกิดแผลบริเวณรอยต่อซึ่งต่างจากการผ่าตัดแบบบายพาสที่มีแผลบริเวณรอยต่อกระเพาะกับลำไส้เล็กได้


สำหรับผลด้านการลดน้ำหนักและการรักษาโรคเบาหวานพบว่า ไม่ต่างจากการผ่าตัดแบบบายพาสโดยที่มีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าและลดความเสี่ยงจากการขาดวิตามินและสารอาหารได้ดีกว่าแบบการผ่าตัดแบบบายพาสอีกด้วยลดน้ำหนักได้ดีโดยน้ำหนักส่วนเกินลดลง 70-80%

 


นอกจากนี้ยังสามารถพิจารณาทำในผู้ป่วยที่ผ่าตัดแบบสลีฟมาแล้ว แต่อาจจะยังได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ เช่น น้ำหนักส่วนเกินลดลงน้อยกว่า 50% หรือในกรณีที่พบภาวะน้ำหนักฟื้นคืนหลังการผ่าตัดแบบสลีฟ หรือกรณีที่โรคเบาหวานยังไม่หายสามารถพิจารณาทำการผ่าตัดแบบสลีฟพลัสเพิ่มเติมได้

 

ข้อดีของการผ่าตัดแบบ "สลีฟพลัส"    
-ลดน้ำหนักส่วนเกินได้ 70-80% ในระยะเวลา 1 ปี
-กระเพาะอาหารขนาดลดลงโดยที่หูรูดและทางเดินอาหารยังคงเดิม
ลดโอกาสการเกิด Dumpling Syndrome 
-ลดความเสี่ยงในการขาดวิตามิน B12 เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบบายพาส เนื่องจากทางเดินอาหารยังคล้ายของเดิม
-มีรอยตัดต่อระหว่างลำไส้เล็กส่วนต้นและส่วนกลางจุดเดียว
(Single Anastomosis)
-ควบคุมน้ำหนักและรักษาโรคเบาหวานได้ดี
-สามารถส่องกล้องทางเดินอาหารเช็คหรือตรวจกระเพาะได้
-ไม่มีความเสี่ยงในการเกิดแผลบริเวณรอยตัดต่อลำไส้    

 

วิธีการผ่าตัดรักษา โรคอ้วน แบบใหม่ สลีฟพลัส Sleeve Plus

 

ข้อเสียของการผ่าตัดแบบ "สลีฟพลัส"
-ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อนรุนแรง เนื่องจากหลังการผ่าตัดขนาดกระเพาะที่ลดลงจะทำให้มีแรงดันในกระเพาะสูงขึ้น
ทำให้มีโอกาสที่จะเป็นกรดไหลย้อนได้ 15%


จากข้อมูลในปัจจุบันของ นพ.เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์  ศัลยแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องขั้นสูงและผ่าตัดรักษาโรคอ้วน พบว่า ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดไปมากกว่า 50 เคส สามารถลดน้ำหนักได้ดีมากและรักษาโรคเบาหวานได้ดีโดยที่ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนใดๆ หลังผ่าตัด ซึ่งเมื่อเทียบกับข้อมูลรายงานทางการแพทย์ของต่างประเทศตั้งแต่ปี 2010 ก็พบว่า ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจเหมือนกันและยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงใดๆ กล่าวโดยสรุป คือ การรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดแบบสลีฟพลัส (Sleeve Gastrectomy Plus Proximal Jejunal Bypass) เป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคอ้วนเหมาะในผู้ป่วยที่น้ำหนักมากและมีโรคเบาหวานร่วมด้วยโดยแนะนำให้ปรึกษาศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เนื่องจากยังเป็นเทคนิคใหม่ที่ต้องอาศัยความชำนาญในการผ่าตัดและการเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย สนใจติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก โรคอ้วนผ่าตัดได้ By หมอฟง


นพ.เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ 
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดผ่านกล้องและ
การผ่าตัดลดน้ำหนัก คลินิกโรคอ้วน โรงพยาบาลราชวิถี  


 

logoline