Lifestyle

5 โรคทางเดินอาหาร มาแบบเงียบๆ แต่นำไปสู่โรคร้ายแรง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ไขมันสูง ทำให้อัตราผู้ป่วย "โรคทางเดินอาหาร" และตับ เป็นปัญหาสุขภาพ คร่าชีวิตคนไทยจำนวนมาก มีโรคอะไรบ้าง อาการเริ่มต้นเป็นอย่างไร และตอนไหนควรเข้ารับการคัดกรอง ติดตามจากรายงาน

5 "โรคทางเดินอาหาร" และตับที่พบได้บ่อย คือ ปวดท้องกระเพาะ ไวรัสตับอักเสบ ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ โรคอ้วน นิ่วในถุงน้ำดี หากเจอช้าสามารถพัฒนาเป็น "โรคร้ายแรง" รักษาไม่หายและเสียชีวิตในที่สุด วันนี้ "พญ.สาวินี จิริยะสิน" แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต อธิบายไว้ที่นี่

พญ.สาวินี จิริยะสิน แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต

 

 

 

  • ปวดท้องกระเพาะ 

"ปวดท้องกระเพาะ" สามารถพัฒนาเป็น "มะเร็งกระเพาะอาหาร" ได้ โรคนี้พบถึง 1 ใน 4 ของประชากร หมายความว่า คนเดินมา 4 คน จะมีคนปวดท้องกระเพาะ 1 คน สาเหตุสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตในยุคเร่งรีบ ทำให้มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง ติดเชื้อแบคทีเรีย "เอชไพโลไร" (H.pylori) เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่โรคกระเพาะอาหารอักเสบ 

แม้ว่าโรคกระเพาะอาหารอักเสบจะเป็น "โรคทางเดินอาหาร" ที่ไม่ใช่โรคที่รุนแรง แต่ถ้าหากปล่อยไว้เรื้อรังอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร จนเกิดภาวะแทรกซ้อน อีกทั้ง ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

 

 

ดังนั้น หากมีอาการปวดท้อง จุก แสบใต้ลิ้นปี่ คลื่นไส้หรืออาเจียนหลังรับประทานอาหาร อ่อนเพลีย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และหากมีคนในครอบครัวเป็น "มะเร็งกระเพาะอาหาร" และอายุ 50 ปีขึ้นไป ทานยาแล้วไม่หาย อาการไม่ดีขึ้นต้องไปพบแพทย์ให้เร็วขึ้น

 

 

  • ไวรัสตับอักเสบบีและซี 

"ไวรัสตับอักเสบบีและซี" หากปล่อยถึงขั้นตับอักเสบเรื้อรังจะพัฒนาเป็น "มะเร็งตับ" ความเสี่ยง คือ คนที่มีญาติเป็นโรคตับ หรือญาติเป็น "มะเร็งตับ" ในครอบครัว คนที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีและซีเรื้อรัง เพราะไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้ติดต่อกันทางเลือด และทางเพศสัมพันธ์ 

 

 

ใครที่มีประวัติครอบครัวดังกล่าวต้องได้รับการตรวจคัดกรอง ยิ่งเจอเร็ว สามารถรักษาหายขาดได้ ยกเว้นไวรัสตับอักเสบซีที่มีความเสี่ยงรักษาไม่หายขาด และอีกกลุ่มที่ต้องคัดกรอง คือ คนที่เกิดก่อนปี 2535 และเคยรับบริจาคเลือดจากโรงพยาบาล เพราะเลือดอาจมีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีที่ในอดีตไม่มีนวัตกรรมคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี แต่ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองเชื้อในเลือดทุกถุงก่อนนำมาให้กับผู้ป่วย

 

 

 

ภาพขณะส่องกล้องกระเพาะอาหาร

 

 

 

  • "ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่" 

"ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่" สามารถพัฒนาเป็น "มะเร็งลำไส้ใหญ่" ได้ โรคนี้ไม่แสดงอาการ เจอจากการส่องกล้องเท่านั้น อัตราผู้ป่วยสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหญิงและชาย และพบในอายุน้อยลง จากเดิมตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ปี แต่ปัจจุบันเป็น 45 ปี ตัวเลขที่ลดลงมีความสัมพันธ์กับการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานเนื้อแดง ไม่ทานผัก ไม่ทานไฟเบอร์ ทำให้ติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็น "มะเร็งลำไส้ใหญ่" 

 

 

ดังนั้น ใครที่อายุ 45 ปีขึ้นไป มีพฤติกรรมการกินที่เสี่ยง รวมถึงคนในครอบครัวมีประวัติเป็น "มะเร็งลำไส้ใหญ่" ต้องเข้ารับการตรวจคัดกรอง เพราะหากตรวจเจอติ่งเนื้อก็สามารถตัดออกได้เลย

 

 

ภาพประกอบ

 

 

 

  • "โรคอ้วน"

"โรคอ้วน" สามารถพัฒนาไปสู่ "มะเร็งตับ" ได้ โรคนี้เกิดจากพฤติกรรมการทานอาหารที่มีไขมันสูง นำไปสู่ไขมันพอกตับ เมื่อตับมีไขมันไปแทรกก็เกิดการอักเสบ เป็นพังผืด กลายเป็นตับแข็ง และพัฒนาเป็น "มะเร็งตับ" ตามมา 

 

 

 

การตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ

 

 


ดังนั้น ต้องดูแลตัวเองมากขึ้น ลดน้ำหนักโดยการควบคุมปริมาณและคุณภาพอาหาร​ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

 

 

 

  • "นิ่วในถุงน้ำดี" 

"นิ่วในถุงน้ำดี" เป็น "โรคทางเดินอาหาร" ที่สามารถเกิดขึ้นได้ และมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตหากไม่รีบรักษา ผู้ป่วยบางรายหลังทานข้าวเสร็จ มีอาการปวดท้องเหมือนโรคกระเพาะ แต่ปวดท้องด้านขวาบน เกิดถุงน้ำดีอักเสบ ช็อกเสียชีวิต เพราะเกิดจากการตกตะกอนของคอเลสเตอรอลในน้ำดีเยอะ 

 

 

 

ผู้ป่วยโรค "นิ่วในถุงน้ำดี" มีแนวโน้มค่อนข้างสูงขึ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการก็ไม่ทำอะไร ส่วนอาการ "นิ่วในถุงน้ำดี" อาจไม่แสดงอาการใดๆ หรือมีบางอาการที่คล้ายปวดท้องกระเพาะ เช่น ปวดท้อง จุก แสบใต้ลิ้นปี่ ชายโครงด้านขวา 

 

 

 

5 โรคทางเดินอาหาร มาแบบเงียบๆ แต่นำไปสู่โรคร้ายแรง

 

 

 

"พญ. สาวินี" สรุปให้ว่า หากคัดกรองเจอโรคเร็ว รักษาตรงจุด ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายและกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นาน สุดท้ายกลายเป็นโรคร้ายแรง ดังนั้น "โรงพยาบาลวิมุต" จึงมีศูนย์คัดกรองและรักษา ด้วยนวัตกรรมส่องกล้องและหน่วยเฉพาะทางการเคลื่อนไหวระบบทางเดินอาหารที่ทันสมัย ตอบโจทย์สังคมและไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ