Lifestyle

พิธีไหว้ พระแม่ลักษมี 'ดิวาลี 2566' ตรงกับวันไหน และ 'ดิวาลี' มีที่มาอย่างไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จักเทศกาล 'ดิวาลี' หรือ 'ดีปาวลี' สรรเสริญบูชา พระแม่ลักษมี เทวีแห่งโชคลาภ และเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ของชาวฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์

นับเป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของชาวฮินดู กับเทศกาล ดิวาลี หรือเทศกาล ดีปาวลี หรือ เทศกาลไฟ เทศกาลอันเลื่องชื่อซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวฮินดูเชื้อสายอินเดียที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ จะมีการทำพิธีบูชา พระแม่ลักษมี เทวีแห่งโชคลาภ ด้วยเชื่อว่าเมื่อเกิดแสงสว่างขึ้น พระแม่ลักษมีจะประทานพรให้กับมนุษย์ ผู้คนจึงนิยมจุดประทีปบูชาพระแม่ลักษมี เพื่อเปลี่ยนจากความมืดสู่แสงสว่าง โดยจุดให้สว่างตลอดวันตลอดคืน เปรียบเสมือนชัยชนะของความสว่างไสวเหนือความมืดมัว  และในวัน ดิวาลี 2566 ยังนิยมบูชาพระพิฆเนศ เทพเจ้าแห่งความสำเร็จร่วมด้วย

 

เทศกาล ดิวาลี หรือ ดีปาวลี จะกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ ทุกๆ ปีจึงไม่ตรงกัน โดยวัน ดิวาลี 2566 จะตรงกับวันที่ 12 พ.ย. ตามปฏิทินจันทรคติ

 

สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจ ทำการค้าขาย วันนี้ถือเป็นวันสำคัญยิ่งในการบูชาเทพีแห่งทรัพย์ศฤงคาร เจ้าแห่งโชคลาภ และเป็นวันที่ขอพรเรื่องงาน ให้มากมีทรัพย์ได้สัมฤทธิ์ผลที่สุด

 

การเฉลิมฉลอง เทศกาลดิวาลี หรือ เทศกาลดีปาวลี จะจัดทั้งหมด 5 วัน ในเทศกาลนี้ ชาวฮินดูจึงมักจะออกไปจับจ่ายซื้อของ เหมือนกับช่วงตรุษจีนและคริสต์มาส รวมถึงออกมาจุดพลุหรือดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองตลอดทั้ง 5 วัน

 

 

ที่มาของเทศกาล ดิวาลี หรือ ดีปาวลี

 

อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลานทางวัฒนธรรม ฉะนั้นชาวฮินดูแต่ละถิ่นกำเนิดก็จะมีเรื่องเล่าถึงต้นกำเนิดของ เทศกาลดิวาลี ที่แตกต่างกัน แต่ที่นิยมเชื่อกัน จะมาจากความเชื่อของทางอินเดียตอนเหนือ เพราะบ่อยครั้งที่ทางตอนเหนือทำอะไรมักจะมีอิทธิพลมาจากแถบอื่นๆ ของอินเดีย ซึ่งพวกเขามองว่า เทศกาลดิวาลี เป็นการเฉลิมฉลองการเสด็จนิวัติของ พระรามพร้อมกับนางสีดา, พระลักษณ์ และหนุมาน กลับคืนสู่เมืองอโยธยา หลังจากทรงพเนจรอยู่ 14 ปี ซึ่งเวลา 14 ปีนี้รวมถึงช่วงเวลาที่ทรงพิชิตราวณะหรือที่ไทยเรียกว่า “ทศกัณฐ์” ด้วย เรียกว่าเป็นชัยชนะแห่งความดีงามที่อยู่เหนือความชั่วร้าย เปรียบเสมือนกับแสงสว่างของประทีปที่สว่างไสวเหนือความมืดมั่ว อันเป็นที่มาของชื่อเทศกาลนั่นเอง

 

อีกความเชื่อหนึ่งของ เทศกาลดีปาวลี คือ ชาวฮินดูเชื่อว่า พระรามเป็นร่างอวตารของพระวิษณุ และนางสีดาเป็นร่างอวตารของ พระแม่ลักษมี พระชายาของพระวิษณุ ที่อวตารลงมาเคียงข้างพระวิษณุในทุกๆ ภารกิจ ประกอบกับในอินเดียมีคนจำนวนไม่น้อยมองว่า ดิวาลี เป็นวันเกิดของพระแม่ลักษมีด้วย จึงทำให้ผู้คนนิยมบูชาพระแม่ลักษมีในวันนี้

 

logoline