Lifestyle

'ลางานหัวหน้าไม่ให้ลา' กาง กฎหมายแรงงาน ลางาน ให้ ลาออก ทำได้หรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ลางานหัวหน้าไม่ให้ลา' กาง กฎหมายแรงงาน ลางาน ให้ ลาออก 'ลูกจ้าง' มีสิทธิ ได้รับเงินชดเชย นายจ้าง มีความผิดหรือไม่

กำลังเป็นประเด็นดราม่าบนโลกโซเชียล “ลางานหัวหน้าไม่ให้ลา” หลังมีการโพสต์แชร์แชทข้อความ ที่ “ลูกจ้าง” ขอ “ลางาน” เพราะแม่เสียชีวิต แต่ “หัวหน้า” กลับให้เขียนใบลาออกแทน ล่าสุด กระทรวงแรงงาน สั่งสอบ พร้อมกางข้อกฎหมายสิทธิลากิจธุระ

 

 

 

 

 

คมชัดลึก รวบรวมข้อควรรู้ เกี่ยวกับ “กฎหมายแรงงาน 2566” สิทธิการ ลางาน ทั้ง ลากิจ ลาป่วย ลาพักร้อน ลูกจ้าง มีสิทธิลาได้กี่วัน หัวหน้างานห้ามลา ได้หรือไม่

 

กฎหมายแรงงาน 2566

 

 

 

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 34 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ “ลูกจ้าง” มีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และให้นายจ้าง จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลากิจ เพื่อกิจธุระอันจำเป็น เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 3 วันทำงาน เนื่องจากการลากิจธุระอันจำเป็น เป็นสิทธิพื้นฐานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กำหนดสิทธิให้ลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิลากิจได้ แม้จะเป็นลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างประเภทอื่น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเท่าเทียมกัน

 

 

 

 

จากกรณีดราม่า ลางานหัวหน้าไม่ให้ลา เพจหลักกฎหมายแรงงาน ระบุว่า การไปดูแลแม่ที่ป่วยหนักกรณีนี้ ก็อาจเป็นเรื่องจำเป็นที่ขอลาได้ เมื่อจำเป็น แม้หัวหน้างาน นายจ้างไม่อนุญาตให้ลา ก็ไม่ถือว่าลูกจ้างขาดงาน ละทิ้งหน้าที่ จึงไม่ผิดวินัย ไม่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ เพราะเป็นการใช้สิทธิลาตามที่กฎหมายคุ้มครองรอรับสิทธิไว้แล้ว นายจ้าง จึงนำมาเป็นเหตุลงโทษทางวินัย เลิกจ้างไล่ออก โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าสินไหม ก็คงไม่ได้

 

และการที่ลูกจ้างลาไปแล้ว มาบอกให้เขียนใบลาออก ก็อาจถือว่า มีเจตนาเลิกจ้าง ตามนิยามความหมายในมาตรา 118 วรรคสอง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ได้ และเมื่อเลิกจ้างไม่มีความผิด ก็อาจต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าว ค่าเสียหายให้ลูกจ้าง

 

 

 

 

ทั้งนี้ ถ้าไม่ใช้สิทธิลากิจธุระอันจำเป็น ก็อาจใช้สิทธิขอหยุดพักผ่อนประจำปี แล้วนายจ้าง หัวหน้างานตกลง (ชัดแจ้ง หรือปริยายก็ได้) ให้หยุดก็หยุดได้ ไม่ถือเป็นการทำผิดวินัย ผิดข้อบังคับของนายจ้าง

 

 

 

วันลาตามกฎหมายแรงงาน 2566

 

 

ลาป่วย

 

ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยจะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติ ตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี การลาป่วยตั้งแต่วันที่ 31 เป็นต้นไป ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง หากลาป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป (นับเฉพาะวันทำงาน) นายจ้างสามารถขอดูใบรับรองแพทย์จากลูกจ้างได้ ถ้าไม่มีใบรับรองแพทย์จะต้องแจ้งให้นายทราบ

 

 

ลาพักร้อน

 

ในทางกฎหมายจะเรียกว่า ‘วันหยุดพักผ่อนประจำปี’ โดยลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี จะมีสิทธิลาพักร้อนได้ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานต่อปี โดยจะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติ ตลอดระยะเวลาที่ลา ทั้งนี้ บางบริษัทอาจกำหนดวันลาพักร้อนประจำปีให้มากกว่า 6 วันทำงานก็ได้ หรือในกรณีที่เราไม่ได้ใช้สิทธิวันลา บางบริษัทก็อาจให้สามารถเก็บวันลาพักร้อนของปีนี้ไปรวมกับวันลาพักร้อนประจำปีของปีถัดไปได้

 

 

ลาคลอด

 

ลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน รวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย และให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย โดยลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างระหว่างลาคลอดบุตรจากประกันสังคม 45 วัน และจากนายจ้างอีกไม่เกิน 45 วัน

 

 

ลาเพื่อเกณฑ์ทหาร

 

ลูกจ้างที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่เกณฑ์ทหาร หรือเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดสอบความพรั่งพร้อม สามารถลาได้เท่ากับจำนวนวันที่ทางการทหารเรียก แต่จะได้รับค่าจ้างตามปกติ ปีละไม่เกิน 60 วัน

 

 

ลาเพื่อทำหมัน

 

ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อทำหมันได้ และมีสิทธิลาเนื่องจากการทำหมัน ตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนดและออกใบรับรอง

 

 

ลาเพื่อฝึกอบรม

 

ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรม หรือพัฒนาความรู้ความสามารถ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันลานั้น

 

 

อย่างไรก็ตาม ยกเหตุในกรณีลูกจ้าง ลาป่วย แม้นายจ้าง หรือ หัวหน้า ไม่ให้ลา แต่ลูกจ้างยังคงลาป่วย เพื่อพักรักษาอาการป่วย เจ็บ โดยไม่ไปทำงานให้นายจ้าง ก็มิใช่การขาดงาน ละทิ้งหน้าที่ หรือทำผิดวินัย ตามระเบียบ ข้อบังคับ ที่นายจ้างจะลงโทษทางวินัยได้ และแม้จะลงโทษ ก็ลงเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย

 

 

 

และ เมื่อลาป่วยตามสิทธิ แล้วก็มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาป่วย และเป็นหน้าที่ของนายจ้าง ที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้ แม้ลูกจ้างจะไม่ได้ทำงานให้ เพราะกฎหมายบังคับให้นายจ้าง จ่ายให้แก่ลูกจ้าง 

 

 

 

 

 

ที่มา : กฎหมายแรงงาน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ