Lifestyle

ประวัติ "พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์" ผู้สอน การเจริญสติ ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สิ่งที่ "พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์" ได้เป็นแบบอย่างให้กับเหล่าสาวกทั่วโลกไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนไปกว่าการ การเจริญสติ และ การมีความสุขอยู่กับทุกอริยาบท ไม่ว่าจะล้างจาน เรียนหนังสือ หรือจัดทำงานศิลปะ เพราะ ชีวิตไม่ใช่การแสวงหาความสุข แต่ความสุขเกิดจากการใช้ชีวิต

ความหมายของ "ติช นัท ฮันห์"

ติช :  ในเวียดนามใช้เรียกพระ มีความหมายว่าเป็นผู้สืบทอดพุทธศาสนา

นัท ฮันห์ :  เป็นนามทางธรรมของท่าน มีความหมายว่า การกระทำเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งก็คือการ "เจริญสติ"

 

ประวัติ \"พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์\" ผู้สอน การเจริญสติ ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน

 

ชีวิตของเราเป็นดั่งงานศิลป์

"ถ้าเราเพียงกระทำด้วยความตระหนักรู้และมีศีลธรรมจรรยา ศิลปะของเราจะผลิบาน
และเราไม่จำเป็นต้องพูดคุยถึงงานศิลปะของเราเลย เมื่อเรารู้วิธีดำรงอยู่ในความสงบสุข
เราพบว่าศิลปะเป็นหนทางอันวิเศษในการแบ่งปันความสงบสุขของเรา ความเป็นศิลปะจะแสดงออกในทางใดทางหนึ่ง
แต่การดำรงอยู่นั้นต่างหากคือเนื้อแท้ ดังนั้นเราต้องกลับมาที่ตัวเราเอง และเมื่อเรามีความเบิกบานและสันติสุขในตัวเราเอง การสร้างสรรค์ศิลปะของเราจะเป็นธรรมชาติ และงานศิลปะเหล่านั้นจะมีประโยชน์ต่อชาวโลกในทางที่ดีงาม"



 

หากกล่าวถึง "พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์" สิ่งที่ท่านได้เป็นแบบอย่างให้กับเหล่าสาวกและพุทธศาสนิกชนทั่วโลกไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนไปกว่าการ การเจริญสติ และ การมีความสุขอยู่กับทุกอริยาบท ไม่ว่าจะล้างจาน เรียนหนังสือ หรือจัดทำงานศิลปะอย่างที่เราได้ยกตัวอย่างไปข้างต้น เพราะท่านต้องการจะบอกให้รู้ว่า ชีวิตไม่ใช่การแสวงหาความสุข แต่ความสุขเกิดจากการใช้ชีวิต

 

"ติช นัท ฮันห์" ในภาษาเวียดนามอ่านว่า ทิก เญิ้ต หั่ญ เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดกว๋างจิ ในภาคกลางของประเทศเวียดนาม ท่านมีชื่อเดิมว่า เหงียน ซวน เบ๋า เมื่อได้เริ่มรู้จักกับประวัติของพระพุทธเจ้าท่านจึงได้แจ้งพ่อและแม่ว่าอยากจะเป็นให้ได้ดังนั้น ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดตื่อฮิ้ว เมื่อพ.ศ. 2485 ขณะมีอายุได้ 16 ปี และได้อุปสมบทเป็นพระในเวลาต่อมา

 

จุดเริ่มต้นการเผยแพร่พุทธศาสนา

ช่วงแรกที่อยู่ในเวียดนาม ท่านได้พยายามฟื้นฟูพระพุทธศาสนาด้วยการเขียนบทความ แต่กลับได้รับการต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลเป็นอย่างมาก

 

กระทั่งในปี พ.ศ. 2505 ท่านได้รับทุนไปศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ ณ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา ท่านได้ศึกษาที่นั่นเป็นเวลา 1 ปี แม้จะได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียต่อ แต่ท่านตัดสินใจเดินทางกลับเวียดนามเพื่อก่อตั้ง โรงเรียนยุวชนรับใช้สังคมผ่านการทำงานด้านความร่วมมือระหว่างพระพุทธศาสนานิกายมหายานและเถรวาทในเวียดนาม ที่นี่ ท่านพยายามสอนแนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนา พื่อฟื้นฟูความเสียหายจากสงคราม รณรงค์ให้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ รณรงค์ให้หยุดการสนับสนุนสงความโดยเฉพาะการแทรกแซงของสหรัฐฯ ท่านพยายามพัฒนาวงการสงฆ์ด้วยการสอนและเขียนในสถาบันพระพุทธศาสนาชั้นสูง จนมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King , Jr) เสนอพระอาจารย์ชื่อ  ติช นัท ฮันห์ เข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยกล่าวว่า

 

"ข้าพเจ้าไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัวอีกที่จะมีคุณค่าพอสำหรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
นอกเหนือไปจากพระผู้มีเมตตาจากเวียดนามผู้นี้"

แต่การรณรงค์เพื่อหยุดการสนับสนุนสงครามของท่านทำให้รัฐบาลเวียดนามที่ถึงแม้จะรวมประเทศได้แล้วก็ตาม ไม่ยอมรับท่าน และปฏิเสธการเข้าประเทศของท่าน ทำให้ท่านต้องลี้ภัยอย่างเป็นทางการที่ประเทศฝรั่งเศส และก่อตั้ง "หมู่บ้านพลัม"  ในปี พ.ศ. 2525

 

หมู่บ้านพลัม

"หมู่บ้านพลัม" เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของชุมชนสงฆ์ ตั้งอยู่ที่เมืองบอร์โดซ์ ประเทศฝรั่งเศส หมู่บ้านพลัมนี่เองเป็นสถานที่ที่ท่านสร้างหลังจากลี้ภัยอย่างไปยังฝรั่งเศส เมื่อเวียดนามปฏิเสธการกลับเข้าประเทศ  งานของติช นัท ฮันห์ ได้รับการสานต่อโดนชุมชน "หมู่บ้านพลัมนานาชาติ" ซึ่งเป็นเครือข่ายรากหญ้าระดับโลกที่นักบวชผู้นี้ก่อตั้งขึ้น ปัจจุบันมีชุมชนการปฏิบัติธรรมแห่งหมู่บ้านพลัมกระจายอยู่ในหลายประเทศ อาทิ ประเทศฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมัน ฮ่องกง และล่าสุดที่ประเทศไทยโดยมีนักบวชกว่า 500 รูป จาก 20 ประเทศทั่วโลก และมีกลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางหมู่บ้านพลัม หรือ “สังฆะ” เกือบหนึ่งพันกลุ่ม กระจายอยู่ใน 31 ประเทศทั่วโลก

 

ทั้งนี้ เนื่องจาก ช่วงปี 2557 พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ มีความเจ็บป่วยเนื่องจากมีเลือดออกในสมอง หลังจากนั้นจึงต้องเฝ้าระวังดูแลอาการอย่างใกล้ชิด เพราะท่านอายุมากแล้วก่อนที่จะมรณภาพลงอย่างสงบในเวลาเที่ยงคืนของวันเสาร์ที่ 22 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ