นวัตกรรมการผ่าตัดไซนัสผ่านกล้อง Innovative Full House FESS
นวัตกรรมการผ่าตัดไซนัสผ่านกล้อง Innovative Full House FESS คอลัมน์... ดูแลสุขภาพ
ไซนัสคือโพรงอากาศที่อยู่รอบข้างโพรงจมูกซึ่งมีอยู่ด้วยกันสี่คู่ ได้แก่ ไซนัสที่แก้ม (maxillary sinus) ไซนัสที่หัวตา (ethmoid sinus) ไซนัสที่หน้าผาก (frontal sinus) และไซนัสที่ฐานสมองส่วนหลัง (sphenoid sinus) ไซนัสทั้งหมดมีรูระบายมาเปิดในจมูก ดังนั้นน้ำมูกที่ผลิตขึ้นภายในไซนัสจะเคลื่อนที่ออกมาทางรูระบายเหล่านี้ โดยการทำงานของเซลล์ขนที่มีอยู่ที่เยื่อไซนัส ทำให้ไซนัสไม่มีน้ำมูกขัง ไม่มีหนองขัง และไม่เกิดโรค การที่ไซนัสเป็นโพรงอากาศนี้จะช่วยให้กะโหลกศีรษะมีน้ำหนักเบาและทำให้เสียงพูดของเรามีเสียงที่ก้องกังวาน
๐ ไซนัสอักเสบได้อย่างไร อันตรายหรือไม่
หากร่างกายได้รับเชื้อโรคประกอบกับผู้ป่วยมีการอุดตันของรูระบายไซนัส หรือมีน้ำมูกที่ผลิตขึ้นมาในไซนัสเหนียวข้นมากและเซลล์ขนทำงานได้ไม่ดี ไม่สามารถระบายเชื้อโรคและหนองออกจากไซนัสได้ ไซนัสก็จะเกิดการอักเสบทำให้ผู้ป่วยมีอาการบวมคัดแน่นจมูก มีน้ำมูกเหนียวในจมูกหรือไหลลงคอ การได้กลิ่นลดลง และปวดตามใบหน้า การอักเสบเช่นนี้เรียกว่าเกิดไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลันซึ่งเป็นการอักเสบไม่เรื้อรัง หากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีก็จะหายเป็นปกติ
แต่เนื่องจากไซนัสมีตำแหน่งอยู่ติดกับตาและสมองจึงมีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่มากนักอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ ทำให้หนองในไซนัสเข้าไปในตาทำให้ตาโปน เห็นภาพซ้อน กลอกตาไม่ได้และตาบอด หรือหนองในไซนัสอาจลุกลามเข้าสมองเกิดความพิการและเสียชีวิต กรณีที่ไซนัสอักเสบและมีอาการอยู่นานกว่าสามเดือนเราจัดว่าผู้ป่วยเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง
ปัจจุบันมีงานวิจัยตีพิมพ์ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ว่าไซนัสอักเสบเรื้อรังคือการอักเสบเรื้อรัง (chronic inflammation) ไม่ใช่การติดเชื้อเรื้อรัง (chronic infection) หากผู้ป่วยเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังที่มีการอักเสบเกิดจากอีโอสิโนฟิล (eosinophilic rhinosinusitis) นั้น การอักเสบเกิดขึ้นจากเยื่อบุไซนัสเองโดยอาจเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ เช่น การแพ้เชื้อราในอากาศ สารพิษจากแบคทีเรีย (staphylococcus enterotoxin B) หรือปฏิกิริยาตอบสนองที่ผิดปกติต่อแอสไพริน ผลสืบเนื่องที่ตามมาของไซนัสอักเสบเรื้อรังคือ ผู้ป่วยอาจมีโรคหืดร่วม มีอาการหอบ สูญเสียการรับกลิ่น หรือมีริดสีดวงจมูกเป็นก้อนในจมูก
๐ นวัตกรรมการผ่าตัดไซนัสผ่านกล้อง Innovative Full House FESS
ไม่นานมานี้ วารสาร international forum of allergy and rhinology ได้ตีพิมพ์งานวิจัยซึ่งชี้ให้เห็นว่าจากความรู้ความเข้าใจใหม่เรื่องไซนัสอักเสบเรื้อรังเหล่านี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเทคนิคการผ่าตัดไซนัส โดยการผ่าตัดไซนัสสำหรับไซนัสอักเสบเรื้อรังที่มีการอักเสบเกิดจากอีโอสิโนฟิลนั้นไม่ควรเป็นการแก้ไขรูระบายไซนัสอุดตันอย่างแนวคิดเดิม และได้เกิดนวัตกรรมการผ่าตัดไซนัสผ่านกล้อง Innovative Full House FESS ซึ่งแพทย์จะผ่าตัดโพรงไซนัสไม่เพียงให้ไซนัสทั้งหมดเชื่อมต่อกับจมูก แต่ยังทำให้ไซนัสต่างๆ ทั้งสี่คู่เปิดกว้างเชื่อมโยงถึงกัน ดังนั้นจึงไม่มีมูกเหนียวตกค้าง ไม่มีหนองขัง ไม่มีเชื้อราซ่อนเร้นที่เอาออกไม่หมด ไม่ต้องผ่าตัดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก ยาสเตียรอยด์ที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่และการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือก็จะสามารถเข้าถึงเยื่อบุไซนัสได้ดี สามารถลดการอักเสบได้โดยตรง และล้างมูกเหนียวในโพรงไซนัสออกได้หมด
นวัตกรรมนี้รวมถึงเทคโนโลยีของกล้องเอนโดสโคปซึ่งได้รับการพัฒนาไปอย่างมากทั้งคุณภาพและความคมชัดของกล้องที่คมชัดเหมือนดูโทรทัศน์ความละเอียดสูงระบบ High-Definition Television (HDTV) และเครื่องมือผ่าตัดที่ไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อปกติเช่น thru cutting forceps และ microdebrider ทำให้เยื่อจมูกไม่มีแผล ตลอดจนการใช้ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นำทางระหว่างการผ่าตัด (image-guided surgery) เสมือนการใช้นาวิเกเตอร์นำทางในการขับรถ ทำให้แพทย์ไม่หลงทางเพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ส่งผลให้ผู้ป่วยหลังผ่าตัดด้วยนวัตกรรมนี้ไม่ต้องทรมานกับการใส่วัสดุห้ามเลือดหลังผ่าตัดจนคัดแน่นอยู่ในจมูกหายใจไม่ได้ รวมทั้งไม่ต้องเจ็บปวดเวลาแพทย์นัดผู้ป่วยมาเอาวัสดุห้ามเลือดออกจากจมูกอย่างสมัยก่อน
๐ เทคนิคใหม่และเทคโนโลยีใหม่…สู่คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ดีขึ้น
ผู้ป่วยรายหนึ่งคัดแน่นจมูกทั้งสองข้างและหอบมากว่าสิบปี จมูกไม่เคยรับรู้กลิ่นใดๆ ได้เลย บางครั้งเขาก็กังวลว่าหากแก๊สรั่วแล้วการที่เขาไม่ได้กลิ่นแก๊สจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของเขาขนาดไหน นอกจากน้ำมูกเหนียวที่ไหลลงคอแล้ว เขายังไอและเป็นหืด การที่มีไซนัสอักเสบเรื้อรังทำให้ควบคุมอาการหืดไม่ได้ พ่นยาหอบแล้วไม่ได้ผล หลังจากที่กินยาแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์แนะนำให้เขาผ่าตัดไซนัส แต่หลังจากผ่าตัดไซนัสครั้งแรกด้วยเทคนิคเก่าแล้วเขาก็ยังคัดแน่นจมูกอยู่มาก ยังมีน้ำมูกเหนียวและไม่ได้กลิ่นเหมือนเดิม การไปตรวจหลังผ่าตัดพบว่าเกิดพังผืดระหว่างผนังกั้นจมูกกับด้านข้างจมูกของเขาทั้งสองข้าง รวมทั้งมีริดสีดวงจมูกขึ้นใหม่ ยาพ่นจมูกที่ได้รับไม่สามารถพ่นผ่านพังผืดแผลเป็นเข้าไปถึงไซนัสที่มีโรคได้
ในที่สุดเขาต้องรับการผ่าตัดครั้งที่สองโดยครั้งนี้เป็นการผ่าตัดด้วยนวัตกรรมการผ่าตัดไซนัสผ่านกล้อง Innovative Full House FESS แพทย์ผ่าตัดพังผืดออก เปิดไซนัสของเขาให้กว้างและป้องกันการเกิดพังผืดโดยการใช้ซิลิโคนอ่อน จากนั้นเขาล้างจมูกด้วยน้ำเกลือผสมยา ทุกวันนี้เขาหายใจได้โล่งและได้กลิ่นดี พร้อมทั้งอาการหอบที่ดีขึ้นตามไปด้วย ทำให้เขาสามารถลดยารับประทานสำหรับควบคุมอาการหืดของเขาลงได้ ปัจจุบันเขายังต้องดูแลไซนัสของเขาอยู่ แต่ก็มักใช้การล้างจมูกด้วยยาเป็นหลัก ไม่ใช่ยารับประทาน ดังนั้นเขาจึงไม่ต้องวิตกกังวลกับผลข้างเคียงต่อตับและไตอันเกิดจากการรับประทานยาเป็นเวลานานๆ ด้วยเทคนิคใหม่และเทคโนโลยีใหม่นี้เอง…คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรังจึงดีขึ้น
โรงพยาบาลพญาไท 1