Lifestyle

ตั้งอนุกก.คุมยา-เวชภัณฑ์ หลัง ครม.ไฟเขียวให้เป็นสินค้าควบคุม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   ทีมข่าวคุณภาพชีวิต [email protected] -

 

 

          "ไม่อยากให้ตระหนกตกใจว่ารัฐจะเข้าไปควบคุมค่าบริการทางการแพทย์ขั้นสูงสุด


          จากนี้ไปต้องรอดูว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาราคายาและเวชภัณฑ์ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าบริการอื่นของสถานพยาบาล ที่ครม.มีมติให้กระทรวงพาณิชย์ไปตั้งขึ้น ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนภาคธุรกิจ คือโรงพยาบาลเอกชน และตัวแทนภาคประชาชน จะกำหนดมาตรการที่จะสร้างให้เกิดความเป็นธรรมทั้งแก่เอกชนและประชาชน รวมทั้งมีความโปร่งใสเสนอคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ประกาศเป็นมาตรการที่ชัดเจนออกมาอย่างไร

 

 

          ปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งควบคุมดูแลสถานบริการทางการแพทย์และกำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องมีป้ายแจ้งจุดที่ผู้ป่วยสามารถตรวจสอบสิทธิของผู้ป่วยหรืออัตราค่าบริการทางการแพทย์ก่อนเข้ารับบริการ ขณะที่ผู้ให้บริการต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยได้รับทราบเพื่อใช้ในการตัดสินใจก่อนเข้ารับการรักษา
  

          ทว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (22 ม.ค.) ได้เห็นชอบให้เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรคและบริการรักษาพยาบาล เป็นรายการสินค้าและบริการควบคุมใหม่ปี 2562 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่กำหนดให้ต้องปรับปรุงรายการสินค้าและบริการควบคุมทุก 2 ปี ซึ่งกำหนดสินค้าและบริการควบคุมในปี 2562 จำนวน 52 รายการ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 แยกเป็น 46 สินค้า และ 6 บริการ ตามมติกกร. 

 

 

ตั้งอนุกก.คุมยา-เวชภัณฑ์ หลัง ครม.ไฟเขียวให้เป็นสินค้าควบคุม


  

          โดยได้เพิ่มรายการสินค้าและบริการควบคุมจำนวน 2 รายการ จากประกาศครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ 1.เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ เพื่อให้มีการกำกับดูแลให้ครอบคลุมถึงเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นวัสดุหรืออุปกรณ์ที่จำเป็น และใช้ในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก เช่น ผ้าพันแผล สายน้ำเกลือ เข็มฉีดยา และ 2.บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชนเกี่ยวกับปัญหาค่ายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลสูงเกินความเป็นจริง


   

          นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ได้มีคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการจัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาราคายาและเวชภัณฑ์ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าบริการอื่นของสถานพยาบาลที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนภาคธุรกิจ คือโรงพยาบาลเอกชน และตัวแทนภาคประชาชน มาร่วมกันกำหนดมาตรการที่จะสร้างให้เกิดความเป็นธรรมทั้งแก่เอกชนและประชาชน รวมทั้งมีความโปร่งใสในเรื่องนี้มากที่สุด โดยหารือกันและได้ข้อยุติที่เหมาะสมแล้วจะเสนอคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ประกาศเป็นมาตรการที่ชัดเจนออกมา
สนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การกำหนดให้เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรคและบริการรักษาพยาบาล เป็นรายการสินค้าและบริการควบคุม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะควบคุมราคาขั้นสูงสุดในการรักษาพยาบาลแต่อย่างใดเนื่องจากค่ารักษาพยาบาลเป็นบริการที่มีความเฉพาะเจาะจงและมีราคาที่แตกต่างกัน

 

 

 

ตั้งอนุกก.คุมยา-เวชภัณฑ์ หลัง ครม.ไฟเขียวให้เป็นสินค้าควบคุม

 


          ไม่คุมราคาขั้นสูงสุด
          ไม่อยากให้ตระหนกตกใจว่ารัฐจะเข้าไปควบคุมค่าบริการทางการแพทย์ขั้นสูงสุด ซึ่งในอดีตสินค้าและบริการควบคุมราคาขั้นสูงสุดมีตัวเดียวจากในบัญชี 50 รายการที่มีการคุมราคาสูงสุดคือน้ำตาลทราย สินค้าอื่นจะใช้มาตรการที่เหมาะสม เช่น การแจ้งต้นทุน ราคาแนะนำ เรื่องนี้รัฐไม่ได้เข้าไปแทรกแซง เพราะหลังจากคณะอนุกรรมการพิจารณาราคายาและเวชภัณฑ์ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์และค่าบริการอื่นของสถานพยาบาลมาหารือเพื่อให้ได้มาตรการและแนวทางที่เหมาะสมที่สุด"  รมว.พาณิชย์ กล่าว


          ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้กำกับดูแลการดำเนินการของโรงพยาบาลเอกชนในระดับหนึ่งแล้ว ตามหน้าที่ที่ต้องกำกับดูแลทั้งผู้ให้และผู้รับบริการทางการแพทย์ โดยกรณีของโรงพยาบาลเอกชนนั้นมีบางแห่งที่เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว จึงต้องพิจารณาถึงความแตกต่างตรงนี้ด้วย


          ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำตอนนี้คือการมอบหมายให้ไปกำหนดมาตรการที่เหมาะสมออกมา ต้องดูกฎหมายหลายฉบับและไม่ใช่จะไปควบคุมราคาได้ทั้งหมด แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม จึงขอทุกฝ่ายอย่าเพิ่งวิตกหรือตื่นเต้นในเรื่องนี้และอย่าไปเคลื่อนไหวหรือทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ขอว่าอย่าเอาทุกอย่างไปขยายความอีกเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างโรงพยาบาลเอกชนกับผู้รับบริการ รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านสถานพยาบาล ซึ่งไม่เพียงแค่เรื่องมาตรฐานของการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ยังต้องมีมาตรฐานและความโปร่งใสในด้านราคาค่าบริการด้วย

 

 

 

ตั้งอนุกก.คุมยา-เวชภัณฑ์ หลัง ครม.ไฟเขียวให้เป็นสินค้าควบคุม

 


          เอกชนเตรียมแยกค่าใช้จ่าย 
          ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนเตรียมแยกค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนส่วนอื่นๆ ที่เดิมคิดไว้ในค่ายาออกมาจากค่ายา คาดว่าจะมีมากกว่า 10 หมวด เกิน 50% ของค่ายาเดิม เพราะในการให้บริการล้วนเป็นต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชนทั้งสิ้น ตั้งแต่ค่าที่จอดรถ ค่าเวรเปล ค่าเวชระเบียน ค่าพนักงานต้อนรับ ค่าฝ่ายการพยาบาล ค่าใช้เครื่องมือแพทย์ ค่าบริหารยา ค่าสต็อกยาที่จะยาเคมีตัวเดียวแต่ต้องมีสต็อก 5 ตัวเพื่อให้พร้อมสำหรับการสั่งจ่ายยาของแพทย์ ค่าเภสัชกรเพื่อให้เห็นชัดเจนว่าค่ายาจริงๆ นั้นเท่าไหร่ จะได้ไม่เกินจากที่มีการควบคุม

 


          ห่วงกระทบผู้ซื้อประกัน
          นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า การที่แยกหมวดค่าใช้จ่ายอื่นออกมาจากค่ายา อาจจะกระทบผู้ที่ซื้อประกันสุขภาพที่จะต้องจ่ายเงินเอง 2 เด้ง คือจ่ายเงินซื้อประกันแต่บริษัทประกันจะจ่ายให้เฉพาะค่ายา ค่าแพทย์ และค่าห้องตามที่มีการระบุในใบเสร็จ เพราะฉะนั้นเมื่อโรงพยาบาลเอกชนแยกค่าอื่นๆ ออกมาจากค่ายา ในส่วนที่แยกออกมาผู้ซื้อประกันก็จะต้องจ่ายค่าส่วนเกินนอกเหนือจากที่ประกันจ่ายเอง สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะต้องวางแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้

 

 

 

ตั้งอนุกก.คุมยา-เวชภัณฑ์ หลัง ครม.ไฟเขียวให้เป็นสินค้าควบคุม

 


          เสี่ยงย้ายฐานไปประเทศอื่น
          นอกจากนี้หากประเทศไทยมีการควบคุมกำกับมาก จนโรงพยาบาลเอกชนไม่มีกำลังหรือทุนเหลือเพียงพอที่จะพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลให้ดีขึ้น ก็น่าจะย้ายโรงพยาบาลไปตั้งบริเวณชายแดน หรือตั้งโรงพยาบาลในประเทศเพื่อนบ้านแทน แล้วจะกลายเป็นการนำคนไทยออกไปรักษาในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะต้องการคุณภาพที่ดีขึ้นมากกว่าที่มีในไทยจากการที่โรงพยาบาลไม่มีการพัฒนา สวนทางปัจจุบันที่โรงพยาบาลเอกชนไทยอาจจะมีการไปตั้งโรงพยาบาลในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา เพื่อดึงคนเข้ามารักษาในประเทศไทย รวมถึงสูญเสียคนจากกลุ่มประเทศอื่นที่เข้ามารับการรักษาในไทยผ่านนโยบายการเป็นศูนย์กลางการแพทย์เอเชีย หรือเมดิคัลฮับด้วย


          “ปี 2560 เฉพาะโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ 18 แห่งจ่ายเงินให้รัฐ 2,800 ล้านบาท ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศมีกว่า 300 แห่ง จ่ายเงินให้รัฐรวมมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งแต่ละปีประเทศไทยมีรายได้จากเมดิคัลฮับราว 2.2 แสนล้านบาท ขณะที่สิงคโปร์และมาเลเซียที่อยู่ 6-8 หมื่นล้านบาทเพราะมีความหลากหลายของการพัฒนาโรงพยาบาลเอกช” นพ.เอื้อชาติ กล่าว


          แต่ในนอาคตจะเสียโอกาสให้คู่แข่งหน้าใหม่ในเรื่องสุขภาพ คือเวียดนาม โดยจะมีการย้ายฐานธุรกิจนี้ไปยังเวียดนามที่สามารถผลิตแพทย์และพยาบาลได้มาก ฝีมือก็ไม่ต่างจากบุคลากรของไทย เพียงแต่ที่ผ่านมาไทยมีการส่งคนไปอบรม พัฒนาฝีมือในต่างประเทศเพื่อนำองค์ความรู้มาใช้ในประเทศมากกว่า
มั่นใจค่ารักษาไม่ถูกลง


          อย่างไรก็ตามแม้จะมีการคุมค่ายา ค่าเวชภัณฑ์และค่าบริการทางการแพทย์ จะไม่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนถูกลงอย่างแน่นอน เพราะโรงพยบาบาล ก. ให้บริการแบบX โรงพยาบาล ข. บริการแบบ X-1 ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนมีคุณภาพการให้บริการตั้งแต่ X จนถึง X-8 คนไข้พอใจบริการแบบไหนโรงพยาบาลก็จัดให้แบบนั้น กลไกมีการควบคุมค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว


          “ผมไม่ได้ต่อต้านเพียงแต่ชี้แจงให้เห็นผลกระทบที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นจากการที่มีการดำเนินการเพื่อคนเพียง 2% ที่ไม่พอใจค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ส่วนคนที่มาใช้บริการ 90-95% พอใจ เห็นได้จากอัตราที่มาใช้บริการซ้ำๆ เป็นการแก้ปัญหาที่ทำให้กระทบทั้งระบบ เกิดความยุ่งยากโดยไม่จำเป็น เมื่อผลกระทบเกิดขึ้นแบบที่คาดการณ์ในอนาคตแล้วจะมานึกถึงมติครม.ที่ออกมาในวันนี้ เพราะเราตอนตนเอง ต้องดูว่าอนุกรรมการที่จะตั้งขึ้นมีความยืดหยุ่นมากผลกระทบก็จะไม่เกิด” นพ.เอื้อชาติกล่าว

 


          คอบช.หนุนพาณิชย์เดินหน้า
          วันเดียวกันเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ได้เฟซบุ๊กไลฟ์เสนอเร่งตั้งคณะอนุกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสัดส่วนที่เป็นธรรม พร้อมเตรียมรายชื่อตัวแทนจากฝั่งผู้บริโภคและนักวิชาการ โดยคาดหวังว่าคณะอนุกรรมการชุดนี้จะสามารถเดินหน้าได้ทันทีในการเสนอมาตรการในการกำกับค่ายา วัสดุทางการแพทย์ และค่ารักษาพยาบาล คาดหวังว่าการกำกับครั้งนี้จะต้องมีมาตรการมากกว่าการขายไม่เกินราคาที่แจ้งข้างกล่อง (Sticker Price)

 

          ซึ่งในประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จจากการตั้งคณะทำงานช่วยทำเรื่องนี้เป็นการกำหนดแนวทางราคาสูงสุดในการให้บริการที่มีมาตรฐาน (Medical Fee Benchmark Guidelines) เช่นเดียวกับประเทศแคนาดาที่มีการทำบัญชีราคาค่ารักษาพยาบาลใช้ทุกโรงพยาบาล หรือประเทศญี่ปุ่นที่มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนในอัตราเดียวกัน
  

          หรือแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาในหลายรัฐมีการออกกฎหมายให้มีการคิดค่ารักษาพยาบาลที่เป็นธรม (Fair Pricing Law) กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลกับประชาชนที่ไม่มีประกันสุขภาพในอัตราไม่เกินเพดานราคาที่เรียกเก็บจากประกันเอกชนหรือรัฐบาล หรือรักษาพยาบาลฟรีสำหรับคนยากจนที่ไม่มีประกันสุขภาพ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ