ไลฟ์สไตล์

คารวะและอาลัย "ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ" คืนสู่เมตตาองค์อัลลอฮฺ

คารวะและอาลัย "ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ" คืนสู่เมตตาองค์อัลลอฮฺ

30 พ.ย. 2560

เป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะในเฟซบุ๊กของเขาก่อนเสียชีวิต เขายังคงเดินหน้าภารกิจอย่างไม่เคยหยุดพัก โดยไม่มีวี่แววว่าร่างกายจะสั่งให้เขาหยุดพักตลอดกาลเลยแม้แต่น้อย!!

          ช็อกและเกินจะคาดคิด ! เมื่อข่าวร้ายที่ “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเลขาธิการอาเซียน ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ ในช่วงบ่ายของวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ที่โรงพยาบาลรามคำแหง สิริอายุ 68 ปี

          นับเป็นความสูญเสียบุคคลที่มีเกียรติประวัติ และความสามารถคนหนึ่งของประเทศไทย ที่น่าเสียดายยิ่ง

          อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปดูในเฟซบุ๊กของเขาก่อนเสียชีวิต ดูเหมือนว่าเขายังคงเดินหน้าภารกิจอย่างไม่เคยหยุดพัก โดยไม่มีวี่แววว่าร่างกายจะสั่งให้เขาหยุดพักตลอดกาลเลยแม้แต่น้อย

          วันที่ 29 พฤศจิกายน วันเดียวก่อนเสียชีวิต เขาเพิ่งโพสต์เล่าเรื่องราวที่ไปเยี่ยมชม HUBBA-TO ตรงอ่อนนุช หรือ Co-Working Space แห่งแรกของไทยที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ

คารวะและอาลัย \"ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ\" คืนสู่เมตตาองค์อัลลอฮฺ

          และด้วยความที่ไปมาแล้วทั่วโลก เขาก็ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า 

          “ผมคิดว่าหากเรามีชุมชน Co-Working Space ของเราที่ยิ่งใหญ่ที่สุดใน Asia เป็นพื้นที่มาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก มีที่พักกับการเดินทางที่สะดวก และมีการจัดให้มีสัมมนาทุกสัปดาห์ จะทำให้เราสามารถดึงกลุ่ม Digital Nomad นี้มาทำงานในเมืองไทยมากขึ้น และผลพลอยได้จากชุมชน Co-Working Space อันครึกครื้นก็คือเราจะสามารถสร้างโอกาสให้คนไทยเข้าไปมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนความรู้ ร่วมสร้างธุรกิจที่มีเป้าหมายระดับโลก Start Up เมืองไทยเราควรจะไปได้ไกลและเร็วกว่าเดิมครับ”

คารวะและอาลัย \"ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ\" คืนสู่เมตตาองค์อัลลอฮฺ

          ยิ่งถ้าไล่ดูย้อนลงไป ดูเหมือนว่า อดีตเลขาธิการอาเซียนผู้นี้จะมีกิจกรรมไม่เว้นแต่ละวัน และยังคงเต็มไปด้วยรอยยิ้ม พร้อมบุคลิก ทักษะการพูดจาฉะฉาน แบบที่เราคนไทยคุ้นเคยกันดี ! 

          จนหลายคนเชื่อว่า ถ้า ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กลับมาเดินหน้าทางการเมือง ทำไมจะเป็นไปไม่ได้ !

          เพราะอันที่จริง บุคคลผู้นี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งความหวังเหรียญทองพลพรรคประชาธิปัตย์ ในศึกการเมืองชนิดที่ไม่ว่าวันไหนที่ปี่กลองรบลั่น ! เขาก็พร้อมลุย

          ไม่ว่าจะเป็น “สนามเล็ก” อย่างที่แว่วๆ กันว่าเขาจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. หรือ “สนามใหญ่” ที่อาจถึงขั้นหัวหน้าพรรค และไต่ระดับไปถึงนายกรัฐมนตรี

          ถึงเจ้าตัวจะปฏิเสธ แต่ในใจหลายคนก็แอบหวังไม่ได้ เพราะรู้กันดีว่า ดร.สุรินทร์ นั้นก็เป็นตัวอย่างแก่เด็กบ้านนอกที่เป็น “นักแสวงหาจากปักษ์ใต้” ไม่ต่างจากนายหัวชวน หลีกภัย ที่เกิดในครอบครัวที่ยากจน แต่มีความมุ่งมั่นในการศึกษาจนได้ดี

          ยิ่งถ้าถามโพรไฟล์ระดับ "โกลบอล” ที่ผ่านมาแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึง !

คารวะและอาลัย \"ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ\" คืนสู่เมตตาองค์อัลลอฮฺ

          ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เกิดวันที่ 28 ตุลาคม 2492 ที่บ้านปอเนาะ ต.กำแพงเซา อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เดิมชื่อ อับดุลฮาลีม เปลี่ยนเป็น “สุรินทร์” โดยยายเป็นคนเปลี่ยนชื่อให้

          ดร.สุรินทร์ เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 11 คน ของ ฮัจยีอิสมาแอล (เสียชีวิต) ผู้เป็นบิดา และ ซาปิยะ พิศสุวรรณ ผู้เป็นมารดา เขามีภรรยาคือ อลิสา นามสกุลเดิม ฮัจยะห์อาอีซะฮ์ และมีบุตรชาย 3 คน คือ มุฮัมหมัด ฟูอาคี, ฮุสนี และ ฟลิกรี่

          นอกจากนี้ ยังมีบันทึกเป็นพ็อกเกตบุ๊กชื่อ “ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น” ระบุว่า ทวดของ ดร.สุรินทร์ เป็นผู้บุกเบิกชุมชนมุสลิมในนครศรีธรรมราช ในขณะที่ตาและพ่อก็เป็นโต๊ะครูคนสำคัญของท้องถิ่น มีความเชี่ยวชาญด้านศาสนาในระดับที่ไปร่ำเรียนถึงนครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ด้วยกันทั้งคู่

          ทั้งนี้ คุณตาของสุรินทร์ยังเป็นผู้ตั้งโรงเรียนปอเนาะบ้านตาล ในช่วงปี 2484 และยังดำเนินกิจการมาถึงปัจจุบัน

          วัยเด็ก ดร.สุรินทร์จบประถมที่โรงเรียนวัดบ้านตาล จบมัธยมที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช และโรงเรียนเบญจมราชูทิศ และด้วยความเป็นเด็กหัวดี เขาได้รับการส่งเสริมจากอาสาสมัครสันติภาพชาวอเมริกัน ที่มาทำงานสอนภาษาอังกฤษในไทย ผลักดันให้เขาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา 1 ปี

          กลับมาไทยก็เรียนต่อจนจบ ม.ปลาย และไปเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นศิษย์เอกของ อ.เสน่ห์ จามริก และยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

คารวะและอาลัย \"ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ\" คืนสู่เมตตาองค์อัลลอฮฺ

ถ่ายภาพกับคุณแม่เมื่อช่วงวันแม่ที่ผ่านมา

 

          แต่เขาเรียนอยู่ 2 ปี ก็สามารถสอบชิงทุนได้ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา และจบด้วยคะแนนเกียรตินิยม ปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต (ปรัชญารัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ เมื่อปี 2515

          ต่อมาช่วงปี 2517 เขาจบปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (ทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์) และตามด้วยปริญญาเอก รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) ที่เดิมในปี 2522 (ต่อมายังมาจบปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2552 อีกด้วย)

          เรียนจบเป็นดอกเตอร์หนุ่มกลับมาเมืองไทย ก็เข้าสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2518 จนปี 2529 ก็ตัดสินใจเข้าสู่แวดวงการเมือง โดยการชักชวนของ สัมพันธ์ ทองสมัคร และ คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์

          ที่สุดประสบความสำเร็จ ได้เป็น ส.ส.นครศรีฯ บ้านเกิด สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และนั่งเก้าอี้นี้ติดต่อกัน 7 สมัย

          นอกจากนี้เขายังเคยเป็นเลขานุการของ ชวน หลีกภัย ขณะดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร (2529-2531) ต่อมายังได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2535-2538 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2540-2544

          ครั้งหนึ่ง ช่วงปี 2548 เขาเคยนั่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถัดจากนั้นปีเดียว หลังรัฐประหาร 2549 สุรินทร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

          แต่ปรากฏว่า จังหวะดีมากกว่านั้น เมื่อถึงคิวตัวแทนจากประเทศไทยเป็น “เลขาธิการอาเซียน” เขาก็ได้รับการผลักดันจากรัฐบาล นายกฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์ จนได้เข้าไปดำรงตำแหน่งดังกล่าว ไปนั่งทำงานที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 จนครบสิ้นสุดวาระเมื่อ 1 มกราคม 2556 ครบ 5 ปีพอดี !

          ถือเป็นความภาคภูมิใจ สำหรับอดีตเด็กปอเนาะคนหนึ่งที่มีโอกาสเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ หลังจากอดีตเอกอัครราชทูต และอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แผน วรรณเมธี ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2532-2536

คารวะและอาลัย \"ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ\" คืนสู่เมตตาองค์อัลลอฮฺ

          นอกจากนี้ ยังมีชื่อติดอยู่ในหนังสือ “500 ชาวมุสลิมผู้ทรงอิทธิพลที่สุด ปี 2009" คัดเลือกจาก ศูนย์พริ้นซ์ อัลวาลีด บิน ทาล้าล เพื่อความเข้าใจระหว่างมุสลิม-คริสเตียน แห่ง ม.จอร์จทาวน์, ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์อิสลามแห่งราชวงศ์จอร์แดน และ ศูนย์อิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก

          โดยบทบาทสำคัญตอนเป็นเลขาธิการอาเซียน คือ เข้ามาปุ๊บก็เจอบรรยากาศที่ชาติสมาชิกต่างชักธงมุ่งหน้าสู่ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกในการเป็น “ประชาคมอาเซียน” เช่นเดียวกับ “สหภาพยุโรป” ในอนาคต

          แต่ที่น่าสนใจคือ หลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจในการเป็นเลขาธิการอาเซียนแล้ว เขายังเข้ามามีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาหลักของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ และความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัย ในฐานะ “ธรรมศาสตราภิชาน” แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          นอกเหนือจากนี้ ยังมีบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ ที่เป็นทั้งกรรมการตามองค์กรธุรกิจชั้นนำหลากหลาย และยังมักได้รับเชิญไปแสดงปาฐกถาตามองค์กรและสถาบันที่สำคัญต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งในและต่างประเทศ ประสาคนที่มีประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ระดับเวทีโลก

          ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ในวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา "อินนาลิลละฮ์ฮวาอินนาอิลัยฮีรอญิอูน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ท่านได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์แล้ว !!

 

/////////////

ขอขอบคุณภาพจากเฟซบุค สุรินทร์ พิศสุวรรณ - Surin Pitsuwan