เด่นโซเชียล

ย้อนตำนาน "งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" บอลประเพณี 2 สถาบันเก่าแก่ไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนตำนาน งานบอล "งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" เริ่มครั้งแรกเมื่อไหร่ จัดกี่ครั้ง มีกิจกรรมอะไรเด่นบ้าง ผลการแข่งขันจนถึงปัจจุบัน ใครชนะมากสุด

วันนี้แล้วสำหรับ งานบอล "งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" (CU - TU UNITY FOOTBALL MATCH 2024) ซึ่งครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 75 ที่ สนามศุภชลาศัย โดย "งานบอล" ของสองสถาบันนี้มักจะถูกจัดมาทุกปี ซึ่งก็มีบางปีที่ไม่ได้จัด คมชัดลึก จะขอพาย้อนตำนาน งานฟุตบอลประเพณี ว่าเริ่มขึ้นมาได้อย่างไร

 

 

"งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" หรือ "งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ" เป็นการแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 มหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศไทย เริ่มจัดกิจกรรมครั้งแรกในวันที่ 4 ธ.ค. 2477 แต่ละมหาวิทยาลัยจะสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันทุกปี ชื่อของมหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพจะได้รับเกียรติให้ขึ้นต้นชื่องานฟุตบอลประเพณีในปีนั้น สถานที่จัดการแข่งขันจะไม่สลับตามเจ้าภาพ แต่จะจัดงานที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ เป็นประจำทุกปี กองเชียร์ของมหาวิทยาลัยเจ้าภาพจะใช้อัฒจันทร์ฝั่งทิศเหนือ อีกฝ่ายจะใช้อัฒจันทร์ฝั่งทิศใต้

 

กิจกรรมภายในงานอาจแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การแข่งขันฟุตบอล และกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนิสิตจุฬาฯ กับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่น การเดินพาเหรด การเชียร์ การแปรอักษร ขบวนพาเหรดล้อการเมืองและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ในทุกๆ ปี 

 

ผลการแข่งขันจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชนะ 24 ครั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชนะ 18 ครั้ง และเสมอกัน 32 ครั้ง

 

 

งานฟุตบอลประเพณี ภาพจากเพจ Chula BAKA

 

 

งานฟุตบอลประเพณี เริ่มครั้งแรกเมื่อไหร่?

 

"งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2477 โดยกลุ่มนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพื่อสร้างความสามัคคีนิสิตในหมู่นิสิตนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัย เนื่องจากมุมมองของนักเรียนในสมัยก่อนว่า ผู้เข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำเร็จมัธยมศึกษา ส่วนผู้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ชื่อในขณะนั้น) ไม่สำเร็จมัธยมศึกษา ทำให้มีการดูถูกกันหรือไม่สนิทสนมกันเหมือนเดิม จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นิสิตนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมสานความสามัคคีและสร้างความปรองดองระหว่างกัน โดยมีแบบอย่างจากการแข่งขันเรือประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในสหราชอาณาจักร และการแข่งขันเบสบอลประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยเคโอและมหาวิทยาลัยวาเซดะในประเทศญี่ปุ่น แต่กลุ่มผู้ริเริ่มถนัดและสนใจกีฬา ฟุตบอล มาตั้งแต่เมื่ออยู่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จึงตกลงที่จะจัดการแข่งขันฟุตบอลขึ้น

 

ผู้ริเริ่มฝ่ายจุฬาฯ ประกอบด้วย ประถม ชาญสันต์ เป็นหัวหน้านิสิตคณะอักษรศาสตร์ในขณะนั้น กับทั้งประสงค์ ชัยพรรค และประยุทธ์ สวัสดิ์สิงห์ เวลานั้น หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิวัฒน์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำเรื่องเสนอผ่านกองกิจการนิสิตซึ่งมีหม่อมราชวงศ์สลับ ลดาวัลย์ เป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อขออนุมัติจัดงานจากอธิการบดี

 

ผู้ริเริ่มฝ่ายธรรมศาสตร์ คือ ต่อศักดิ์ ยมนาค และบุศย์ สิมะเสถียร ได้ทำเรื่องเสนอเดือน บุนนาค เลขาธิการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อขออนุมัติจากผู้ประศาสน์การ เมื่อได้รับฉันทานุมัติจากมหาวิทยาลัยทั้งสองแล้ว งานก็ได้เริ่มขึ้นโดยมีธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพ จัดที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2477 และมีการเก็บค่าผ่านประตูคนละ 1 บาท รายได้ทั้งหมดมอบให้แก่สมาคมปราบวัณโรคซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดในขณะนั้น

 

ปีต่อมา ย้ายสถานที่จัดการแข่งขันมายังสนามฟุตบอลโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จนปี พ.ศ. 2492 ย้ายมาที่สนามศุภชลาศัยถึงปัจจุบัน รายได้ที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้วมอบให้แก่หน่วยงานการกุศลทุกครั้ง จนปี พ.ศ. 2521 จึงเริ่มนำรายได้ถวายพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

 

การพระราชทานถ้วยรางวัลมีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2492 เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จมาเป็นองค์ประธาน จนปี พ.ศ. 2495 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานและพระราชทานถ้วยรางวัลด้วยพระองค์เอง แต่ปัจจุบัน โปรดให้ผู้แทนพระองค์มาแทน

 

เหตุการณ์ที่ทำให้ต้องยกเลิกการจัดงานฟุตบอลประเพณีมีหลายครั้ง เช่น พ.ศ. 2485 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ทั่วกรุงเทพมหานคร, พ.ศ. 2487 - 2491 เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา, พ.ศ. 2494 เกิดกบฏแมนฮัตตัน, พ.ศ. 2516 - 2518 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นว่าการจัดงานฟุตบอลประเพณีใช้งบประมาณมาก เป็นกิจกรรมที่ฟุ่มเฟือย, พ.ศ. 2557 เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง, พ.ศ. 2560 ยกเลิกกิจกรรมเพื่อเป็นการแสดงความอาลัยในช่วงพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 - 2566 ยกเลิกกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และยกเลิกต่อเนื่องมาถึง พ.ศ. 2567 เนื่องจากปรับรูปแบบการแข่งขันเป็นฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์แทน

 

 

งานฟุตบอลประเพณี

 

 

ขบวนพาเหรด

 

ตามธรรมเนียมก่อนเข้าสู่การแข่งขัน จะมีการเดินพาเหรด ขบวนล้อการเมือง โดยกลุ่มอิสระล้อการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งใน งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ เป็นสิ่งแสดงความคิดความอ่านทางการเมืองของนักศึกษาที่จะต้องโตขึ้นไปอยู่ในสังคมที่ถูกขับเคลื่อนโดยแรงขับทางการเมือง ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ซึ่งล้อการเมืองมีมาทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นในยุครัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากกว่าหลายล้านเสียงก็ตาม

 

ในขณะที่ ขบวนสะท้อนสังคม ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับผิดชอบโดยกลุ่มสะท้อนสังคม เป็นการนำปัญหาของสังคมที่เกิดในรอบปี โดยการนำเสนอผ่านงานศิลปะ ซึ่งการสะท้อนสังคมเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่สามารถทำได้ในฐานะนิสิต โดยเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่มีถูกผิด เพียงแค่ต้องอยู่ในกรอบเท่านั้น

 

ทั้งขบวนล้อการเมือง และขบวนสะท้อนสังคม มีจุดประสงค์เพื่อเป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสังคม โดยนำเสนอภายใต้ขอบเขต ซึ่งจะไม่โจมตีไปที่ใครคนใดคนหนึ่ง

 

 

งานฟุตบอลประเพณี

 

 

การอัญเชิญพระเกี้ยว

 

การอัญเชิญพระเกี้ยว ปรากฏหลักฐานครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธ.ค. 2507 โดยมีนิสิตหญิง 1 คน เป็นผู้อัญเชิญ โดยการอัญเชิญพระเกี้ยวเข้ามาสู่สนามการแข่งขันเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักกีฬาและกองเชียร์ โดยจะคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นนิสิตชาย 1 คน และ นิสิตหญิง 1 คน เพื่อเป็นตัวแทนบรรดานิสิตอัญเชิญพระเกี้ยวเข้าสู่สนามแข่งขัน ถึงแม้ว่านิสิตทุกคนต่างมีฐานะเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว แต่เนื่องจากในทางปฏิบัตินั้นไม่สามารถให้ทุกคนเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวได้ จึงต้องคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นตัวแทนนิสิตเพื่อทำหน้าที่นี้

 

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2564 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) มีมติในการประชุมสามัญ 29:0 เสียง เห็นควรให้มีการยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีฯ เนื่องจากเห็นว่าเป็นธรรมเนียมที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม และพบว่ามีการบังคับนิสิตให้มาแบกเสลี่ยงโดยอ้างว่าจะมีผลต่อคะแนนการคัดเลือกผู้มีสิทธิ์ใช้หอพัก

 

 

ข้อมูล : วิกิพีเดีย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ