เด่นโซเชียล

ตัวจริง "โอไมครอน" วาเลนไทน์ ติดเชื้อพุ่งทวีคูณ เช็คลิสต์ด่วน สิ่งที่ต้องทำ

ตัวจริง "โอไมครอน" วาเลนไทน์ ติดเชื้อพุ่งทวีคูณ เช็คลิสต์ด่วน สิ่งที่ต้องทำ

20 ก.พ. 2565

วาเลนไทน์ วันที่เริ่มเห็น ตัวจริง ของ "โอไมครอน" ตัวเลขที่ทะยานสูงขึ้นเป็นทวีคูณ เช็คลิสต์ด่วน สิ่งที่น่าจะต้องทำในสถานการณ์ขณะนี้ และต่อจากนี้

 

เกาะติด "โอไมครอน" หรือ โอมิครอน โควิด-19 กลายพันธุ์ โควิดสายพันธุ์ใหม่ Omicron ที่น่ากังวลที่สุดในเวลานี้ ขณะที่แนวโน้มสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะเข้ามาแทนที่ BA.1 กลายเป็นสายพันธุ์หลัก ล่าสุด วันนี้ หมอธีระวัฒน์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุ สิ่งที่น่าจะต้องทำในสถานการณ์โอไมครอน (โอมิครอน) และต่อจากโอไมครอน (โอมิครอน)

 

 

 

 

หมอธีระวัฒน์ โพสต์ระบุ ตามที่ได้คาดการณ์ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2564 ว่า วันวาเลนไทน์ จะเป็นวันที่เริ่มเห็น ตัวจริง ของ โอไมครอน (โอมิครอน) นั่นก็คือ ตัวเลขที่ทะยานสูงขึ้นเป็นทวีคูณ

 

  • ตัวเลขที่เห็น ต่ำกว่าที่เป็นจริงมาก จากการที่ไม่สนับสนุนนัก ให้มีการตรวจพีซีอาร์และแม้กระทั่งเอทีเค โดยให้ทำในรายที่มีความเสี่ยง เท่านั้น และ พีซีอาร์ ในรายที่มีความจำเป็น ตามที่มีประกาศไปยังสถานพยาบาลน้อยใหญ่ทั่วประเทศ
  • แต่ประชาชนทุกคนมีความเสี่ยงทั้งหมด และการตรวจเอทีเคเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบเอง โดยที่เอทีเคมีความแม่นยำไม่มาก และโอกาสหลุดรอดมีครึ่งต่อครึ่ง ดังนั้น ตัวเลขที่เห็นจากพีซีอาร์และเอทีเค 32,473 ราย ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างน้อยสองเท่าขึ้นไป

 

 

  • การชักนำให้เป็นโรคธรรมดา ตรวจก็ได้ ไม่ตรวจก็ได้ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจดีขึ้น เปิดการท่องเที่ยว เปิดประเทศ ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ก็ไม่สามารถลอกเลียน จากต่างประเทศได้ทั้งหมด
  • สิ่งที่ต้องทำเช่นในประเทศอังกฤษ แม้จะมีการเปิดอิสระเสรีก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีการตรวจ
  • การตรวจที่ว่า ประกอบไปด้วยการประเมิน

 

 

  1. ตัวเลขติดเชื้อต่อวัน
  2. จำแนกตัวเลขของผู้ป่วยที่มีอาการจนถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาล
  3. ความรุนแรงเป็นระดับขั้น ที่ต้องเข้าโรงพยาบาล ทั้งระบบทางเดินหายใจและในระบบอื่น และที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตในระดับต่าง ๆ
  4. ความสามารถในการแบกรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลเกินสภาพของระบบสาธารณสุขหรือไม่
  5. ทั้งนี้ ไม่ได้ยึดตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเดียว ซึ่งไม่สะท้อนสถานการณ์ของความรุนแรงของโรค ที่คนป่วยต้องครองเตียงในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน

 

 

 

 

  • ที่ประเทศไทยจะต้องทำนอกเหนือกว่านั้น ก็คือ เตือนประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขว่า โควิดปัจจุบันสามารถแสดงอาการแบบมาตรฐาน คือ ทางระบบทางเดินหายใจ ไอ เจ็บคอ ไข้ และที่สำคัญก็คือ มีอาการนอกมาตรฐานทางระบบอื่น เช่น ปวดหัว ท้องเสีย ปวดเมื่อย เพลียจัด เหนื่อยจากระบบหัวใจ ความดันโลหิตตก จังหวะการเต้นหัวใจผิดปกติ ได้ หรือ อาการทางสมองอักเสบ ชัก ซึม ไม่รู้สึกตัว และอาการนอกระบบดังกล่าวต้องนำมายืนยัน โดยไม่ใช่เอทีเคอย่างเดียว แต่ต้องเป็นพีซีอาร์และตัวอย่าง ที่นำมาตรวจไม่ได้จำกัดแต่ว่าจะต้องเป็นน้ำลายหรือสิ่งคัดหลั่งจากโพรงจมูก เท่านั้น แต่รวมถึงอุจจาระ และเลือด แล้วแต่อาการและระบบ ที่เป็น

 

 

  • โอไมครอน (โอมิครอน) พี่ BA.1 ในที่สุดจะถูกทดแทนด้วยโอไมครอน (โอมิครอน) น้อง BA.2 ที่มีความสามารถในการติดและการแพร่เก่งกว่า เกือบสองเท่าหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อคราวก่อนได้ แม้จะเป็นโอไมครอน (โอมิครอน) ตัวพี่ และหลีกหลบภูมิที่ได้จากการฉีดวัคซีนไม่ว่าจะยี่ห้อใดก็ตาม ข้อสำคัญ คือ การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าทำให้เกิดมีความรุนแรงมากกว่าโอไมครอน (โอมิครอน) ตัวพี่

 

 

  • ความสามารถของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อขณะนี้ค่อนข้างจำกัดจนถึงเลวมาก โดยหวังป้องกันอาการหนักเท่านั้น ดังนั้น การพิจารณาการฉีดในเด็กตั้งแต่ ห้า ถึง 11 ปี และจนกระทั่ง หกเดือน จนถึงอายุ สี่ปี เป็นเรื่องที่หาคำตอบชัดเจนไม่ได้ ทั้งนี้ เนื่องจาก

 

  1. เมื่อป้องกันการติดไม่ได้ในเด็ก ก็ยังสามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวได้ดังที่ปรากฏเห็นอยู่ชัดเจนในขณะนี้
  2. ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนในกลุ่ม หกเดือน ถึง 11 ปี จะได้ประโยชน์ในการป้องกันอาการหนักหรือเสียชีวิตได้หรือไม่ เนื่องจากอาการก็ไม่หนักมากอยู่แล้ว และนอกจากนั้น ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนจะสามารถป้องกันภาวะลองโควิด ที่เกิดตามหลังโอไมครอน (โอมิครอน) ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตามหลังจากที่ติดไปแล้ว
  3. ผลแทรกซ้อนของวัคซีนไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหนก็ตามเป็นเรื่องจริงและต้องมีความโปร่งใสในการให้ข้อมูล ทั้งนี้ ผลแทรกซ้อนดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทุกอายุไม่ว่าจะมีโรคประจำตัวหรือไม่ก็ตามและมีปรากฏการณ์ได้ทุกระบบ ทั้งนี้ การที่ต้องมีความโปร่งใส เนื่องจากจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบในการนำวัคซีนมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งต้องมีการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น อย่างสูงสุด และเป็นที่มาถึงการต้องฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังซึ่งมีกลไกต่างกับการฉีดเข้ากล้ามและสามารถลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้

 

 

  • การประกาศโควิดเป็นหวัดธรรมดา แม้จนกระทั่งถึงการไม่ประกาศตัวเลขผู้ติดเชื้อหรือประกาศสัปดาห์ละครั้งเป็นที่ยอมรับได้ แต่การติดตามสถานการณ์อย่างเข้มข้นยังคงต้องทำตลอดแม้ว่าประชาชนจะไม่รู้เรื่องก็ตามและต้องสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายได้ทันทีทันใด นั่นคือ ต้องมีความยืดหยุ่นโดยยึดความจริงใจ ความเป็นจริงของสถานการณ์ ถึงจะสู้กับความยืดหยุ่นของไวรัสได้ โดยที่เศรษฐกิจยังคงต้องเดินหน้าไปตลอด