สธ. ชี้ พร้อมยุติกิจกรรม หากเกิดคลัสเตอร์ใหม่ หลัง "เปิดประเทศ"
กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้เขตสุขภาพของจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว พร้อมรองรับการ "เปิดประเทศ" ในวันที่ 1 พ.ย. 64 และพร้อมชะลอ-ยุติกิจกรรม หากโควิดแพร่ระบาดหนัก
กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้เขตสุขภาพของจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว พร้อมรองรับการ "เปิดประเทศ" ในวันที่ 1 พ.ย. 64 และพร้อมชะลอ-ยุติกิจกรรม หากโควิดแพร่ระบาดหนัก
29 ต.ค.64 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เขตสุขภาพของจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 64 ด้วยมาตรการการดำเนินการขั้นตอนการปฎิบัติงานกลาง (SOP) เพื่อเปิดประเทศในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว โดยก่อนเปิดประเทศจะมีการตรวจสอบความมั่นคงทางด้านสุขภาพ, การฉีดวัคซีนของประชากร, การส่งเสริมผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐาน, การจัดทำแผนเผชิญเหตุ และแผนยุติกิจกรรม, จัดตั้งศูนย์บัญชาการในพื้นที่ COVID Free Setting และการประเมินตนเอง
ทั้งนี้ ระหว่างการเปิดประเทศ จะมีมาตรการทั้งแอปพลิเคชั่นติดตามตัว มีเจ้าหน้าที่ของจังหวัดเฝ้าระวังในพื้นที่ รวมถึงการปฎิบัติตาม Universal Prevention และมีการมอนิเตอร์สถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ ส่วนมาตรการการเปิด Sandbox ผ่อนคลายกิจกรรม กิจการ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาจากประเทศใดก็ได้ แต่ต้องไปในพื้นที่ที่กำหนด (Seal Rout) และต้องปฎิบัติตามมาตรการของจังหวัดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งมีการจัดทำ Bubble And Seal เช่น การท่องเที่ยว การเดินทางเข้าราชอาณาจักร และการออกแบบโปรแกรม Package เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จะมีการชะลอหรือยุติกิจกรรมในกรณี ดังนี้ 1.จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ มากกว่า 15 ราย/ประชากรแสนคน/สัปดาห์ 2.มีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ 3. มีผู้ติดเชื้อครองเตียงตั้งแต่ 80% ขึ้นไป 4.พบเชื้อกลายพันธุ์ระบาดแบบวงกว้าง ควบคุมไม่ได้ และ 5. หากเกิดเหตุการณ์กรณีอื่นๆ ให้เป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด โดยหากเกิดกรณีดังกล่าว จะมีการดำเนินการ เริ่มตั้งแต่อาจมีการปรับ หรือลดกิจกรรม การทำ Seal Route ลดจำนวนเส้นทางท่องเที่ยว และให้นักท่องเที่ยวอยู่ใน Hotel Quarantine ไปจนถึงการทบทวน หรือยุติการรับนักท่องเที่ยว
"แต่ละเขตสุขภาพที่เป็นจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวมีการเตรียมความพร้อมทั้งมาตรการ สถานพยาบาล และการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม อย่างไรก็ดี มาตรฐานของมาตรการต่างๆ สามารถปรับ หรือเพิ่มได้ตลอด ซึ่งจะมีการประเมินอย่างสม่ำเสมอ ส่วนสถานการณ์เตียงในพื้นที่นำร่อง ยืนยันว่า มีเตียงเพียงพอ เนื่องจากภาพรวมจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง โดยเตียงสีเหลือง และสีแดงในจังหวัดนำร่อง ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 20-30% รวมถึงมีการสำรองเตียงจากพื้นที่ใกล้เคียง และจาก Hospitel นอกจากนี้ยังมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการตรวจหาเชื้อทางห้องแล็บด้วย" นพ.ธเรศ กล่าว
สำหรับมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับการเดินทางเข้าประเทศไทยการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในวันที่ 1 พ.ย. 64 สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. Test To Go นักท่องเที่ยวเดินทางมาจากประเทศที่กำหนด โดยไม่ต้องกักตัว และเดินทางได้ทุกพื้นที่ แต่ต้องได้รับวัคซีนตามที่ สธ. กำหนดเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 14 วัน ทั้งนี้ต้องรอผลตรวจ RT-PCR ใน Alternative Quarantine (AQ) หรือ SHA+ ที่มีโรงพยาบาลคู่ปฎิบัติการ 1 วัน ซึ่งจะต้องมีหลักฐานการจ่ายที่พัก SHA+ หรือ AQ จำนวน 1 วัน และจะต้องตรวจครั้งที่ 2 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เมื่อมีอาการ หรือในวันที่ 6-7
2. Sandbox Programme พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว สามารถเดินทางมาจากประเทศใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ใน Sandbox เป็นเวลา 7 วัน และต้องได้รับวัคซีนตามที่ สธ. กำหนดเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 14 วัน รวมทั้งมีหลักฐานการจ่ายที่พัก SHA+ ในพื้นที่ Sandbox จำนวน 7 วัน เมื่อเดินทางถึงไทยต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR และมีการตรวจครั้งที่ 2 ด้วยชุดตรวจ ATK เมื่อมีอาการ หรือในวันที่ 6-7
3. กักตัวใน Quarantine โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาจากประเทศใดก็ได้ แต่ต้องกักตัวในสถานกักกันที่ราชการกำหนด หากได้รับวัคซีนต้องกักตัว 7 วัน แต่หากไม่ได้รับวัคซีน ถ้าเดินทางมาทางบกกักตัว 14 วัน ทางน้ำกักตัว 10 วัน ซึ่งจะต้องมีหลักฐานการจ่ายที่พัก สถานกักกันที่ราชการกำหนดจำนวน 7, 10 หรือ 14 วัน และต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง คือวันที่เดินทางมาถึง และครั้งที่ 2 ในวันที่ 6-7 หรือ 8-9