เด่นโซเชียล

25 ต.ค. ย้อนเส้นทาง 59 ปี มหาวาตภัย "พายุแฮเรียต" ถล่ม แหลมตะลุมพุก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

25 ต.ค. ย้อนเส้นทาง 59 ปี โศกนาฏกรรม "พายุแฮเรียต" ถล่ม "แหลมตะลุมพุก" จ.นครศรีธรรมราช คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 1,000 ราย

นายนพดล มากทอง โฆษกมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุว่า 25 ต.ค. วันนี้เมื่อปี 2505 "พายุแฮเรียตขึ้นฝั่งแหลมตะลุมพุก  ถูกบันทึกเป็นพายุโซนร้อนลูกแรก ที่พัดเข้าประเทศไทย ผมเกิดไม่ทัน ได้แต่ฟังผู้ที่ในเหตุการณ์เล่าให้ฟัง "แฮเรียต" พายุลูกนี้รุนแรงที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น มีผู้เสียชีวิต 911 คน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้สถานีวิทยุ อส.ออกอากาศเชิญชวนคนไทยบริจาคสิ่งของช่วยเหลือ เพื่อให้เห็นว่า ในยามที่ประเทศชาติมีภัย คนไทยไม่เคยทิ้งกัน มีภาพประวัติศาสตร์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับของที่ชาวบ้านมาบริจาคด้วยพระองค์เอง และเหตุการณ์ในครั้ง ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ มีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ให้ลูกหลานได้เล่าเรียนมาจนถึงวันนี้ 

 

ต่อมาปลายเดือน ต.ค. 2532 พายุไต้ฝุ่น "เกย์" ก่อตัวขึ้นฝั่งที่จังหวัดชุมพร วันที่ 2 พย. ทำลายสถิติพายุที่รุนแรงมากกว่า "พายุแฮเรียต"  เป็นพายุไต้ฝุ่นลูกแรกที่เข้ามาในประเทศไทย มีผู้สูญหายจากเรืออัปปาง และเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ความรุนแรงจากภัยธรรมชาติคงสิ้นสุดแค่นี้ หากปี 2547 ไม่เกิดสึนามิขึ้นในประเทศไทย

 

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ภัยธรรมชาติมีความรุนแรงขึ้น อนาคตจะมีคนเสียชีวิตมากขึ้น เพราะประชากรเรามีมากขึ้น เข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยกันมากขึ้น ภาคใต้มีทะเลทั้ง 2 ฝั่ง เสี่ยงทั้งพายุใหญ่ และในปี 64 นี้ ข้อมูลบ่งชี้ว่า ภาคใต้มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมสูง

 

วันนี้ครบ 59 ปี "พายุแฮเรียต" ถล่ม "แหลมตะลุมพุก" ท่านใดอยู่ในเหตุการณ์ยังอยู่ในความทรงจำ อุกาฟ้าเหลือง ที่ร่ำลือกัน ระบบการเตือนภัยในยุคนั้นเป็นอย่างไร ถ้าจะเล่าข้อมูลเป็นวิทยาทานให้ลูกหลานรุ่นหลังฟังจะมีประโยชน์มาก ขอรับ กระผ๊ม 
 

 

25 ต.ค. ย้อนเส้นทาง 59 ปี มหาวาตภัย "พายุแฮเรียต" ถล่ม แหลมตะลุมพุก

พายุโซนร้อนแฮเรียต เป็นพายุที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเมื่อเดือนตุลาคม ปีพ.ศ. 2505 "พายุโซนร้อนแฮเรียต" พัดขึ้นฝั่งที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ยังคงเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้

 

พายุนี้เริ่มก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำเป็นพายุดีเปรสชั่น 78W ตามลำดับการตั้งชื่อนานาชาติ หรือ 6225 ตามลำดับการตั้งชื่อของ JMA (อุตุนิยมวิทยาประเทศญี่ปุ่น) ในทะเลจีนใต้ตอนล่างนอกชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนใต้ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2505 แล้วค่อย ๆ เคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเข้ามาในอ่าวไทย และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน นอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา จากนั้น ก็เปลี่ยนทิศทางตรงมายังจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทยในตอนค่ำของวันที่ 25 ตุลาคม ที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยความเร็วลมสูงสุด วัดที่สถานีตรวจอากาศนครศรีธรรมราชได้ 95 กม.ต่อ ชม. หลังจากนั้น พายุก็อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น เคลื่อนผ่านจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และพังงา ลงสู่ทะเลอันดามัน ในวันที่ 26 ตุลาคม ก่อนจะสลายตัวไปในอ่าวเบงกอล ใกล้กับบังกลาเทศในวันที่ 30 ตุลาคม  

 

พายุโซนร้อนแฮเรียต ได้ก่อความเสียหายอย่างรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยในขณะขึ้นฝั่ง พายุมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 กิโลเมตร ก่อให้เกิดฝนตกหนัก คลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่ง ลมกระโชกแรง และน้ำท่วมอย่างฉับพลัน

 

 

 

25 ต.ค. ย้อนเส้นทาง 59 ปี มหาวาตภัย "พายุแฮเรียต" ถล่ม แหลมตะลุมพุก

 

 

พายุโซนร้อนแฮเรียต ส่งผลกระทบต่อ 12 จังหวัดในภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงจังหวัดนราธิวาส  มีผู้เสียชีวิต 911 คน สูญหายอีก 142 คน บาดเจ็บสาหัส 252 คน ไร้ที่อยู่อาศัย 16,170 คน อาคารบ้านเรือนทั่วทั้งจังหวัด พังทั้งหลัง 22,296 หลัง ชำรุด 50,775 หลัง โรงเรียนพังเสียหาย 435 แห่ง สวนยางสวนผลไม้เสียหายประมาณ 791 ล้านต้น สถานที่ราชการ โรงเรียน วัด การไฟฟ้า และสถานีวิทยุตำรวจเสียหายหนัก ต้นไม้โค่นล้มขวางทางยาวนับสิบกิโลเมตร รถไฟด่วนสายใต้ต้องหยุดเดินรถ เพราะภูเขาดินพังทลาย ทับรางระหว่างสถานีรถไฟช่องเขากับสถานีรถไฟร่อนพิบูลย์ ประเมินความเสียหายกว่า 377-1,000 ล้านบาท

 

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่าว่า ก่อนพายุเคลื่อนขึ้นฝั่ง ได้เกิดลมงวงช้างขึ้นหลายสาย ตั้งแต่เวลา 16.00 น. แรงลมพัดบ้านเรือนจนโยกคลอน และหลังคาหลุดปลิวลอยไปทั่วทั้งเมือง เกิดคลื่นยักษ์พัดเข้าใส่แหลมตะลุมพุกจนหมู่บ้านที่มีอยู่หลายร้อยหลังคาเรือน เหลืออยู่เพียง 5 หลังเท่านั้น จากนั้นฝนก็ตกหนักต่อไปจนถึงเวลา 19.00 น. เกิดลมพัดแรงอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วสงบลง แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่นาที ก็เกิดลมพัดแรงอีกระลอก พัดบ้านเรือนพังทลายลงจนหมด และมีคลื่นสูงใหญ่กว่าระลอกแรก โดยคลื่นยักษ์สูงเท่ากับยอดต้นมะพร้าวกวาดบ้านเรือนลงทะเลหายไป และแม่น้ำปากพนังเอ่อล้นเข้าท่วมตัวเมืองภายในเวลาไม่กี่นาที

 

นอกจากนี้ ยังประเมินกันว่า พายุโซนร้อนแฮเรียต ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์คลื่นพายุซัดฝั่ง หรือ สตอรมเซิร์จ ขึ้นเป็นบริเวณกว้าง โดยเกิดคลื่นสูงใหญ่กว่า 4 เมตร  พัดกระหน่ำอีกหลายหมู่บ้านริมฝั่งทะเล

 

ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ยังได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน นำแสดงโดยฉัตรชัย เปล่งพานิช, ธันญ์ ธนากร, ศศิธร พานิชนก, ม.ร.ว.มงคลชาย ยุคล และพรหมพร ยูวะเวส ออกฉายในปี พ.ศ. 2545 อีกด้วย

 

 

ที่มา : วิกิพีเดีย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ