โควิด "โอไมครอน" โอกาสติดเชื้อซ้ำมากถึง 7 เท่า กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ต้องระวัง
โควิด "โอไมครอน" หมอธีระ เผย โอกาสติดเชื้อซ้ำในระลอกใหม่สูงมากถึง 7 เท่า เช็คเลยกลุ่มเสี่ยงกลุ่มนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ ซ้ำยังเจอ ภาวะลองโควิด
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ หมอธีระ โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เกี่ยวกับสถานการณ์ โควิด19 "โอไมครอน" โดยระบุว่า
29 มิถุนายน 2565... ทะลุ 550 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 630,578 คน ตายเพิ่ม 1,125 คน รวมแล้วติดไป 550,477,419 คน เสียชีวิตรวม 6,353,314 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี บราซิล ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 74.31 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 49.68
สถานการณ์ระบาด โควิด19 "โอไมครอน" ของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 15 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
อัพเดตเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโควิด19
1. Omicron หรือ "โอไมครอน" ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำมากกว่าระลอกก่อนถึง 7 เท่า
ข้อมูลล่าสุดจาก Office for National Statistics ของสหราชอาณาจักร ที่เผยแพร่เมื่อ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เปรียบเทียบความเสี่ยงในการเกิดติดเชื้อซ้ำ ระหว่างระลอก Omicron กับระลอกก่อนหน้า
พบว่า ระลอก Omicron ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำมากกว่าระลอกก่อน 7 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่ไม่ฉีดวัคซีน, กลุ่มคนที่เคยมีประวัติติดเชื้อมาก่อนแต่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ, และกลุ่มคนที่อายุไม่มาก
อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะวัยใด เพศใด กลุ่มอาการใด ฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนมาก่อนก็ตาม ล้วนมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้มากในยุค Omicron หากไม่ป้องกันตัวให้ดี
การติดเชื้อซ้ำ มีงานวิจัยชี้ให้เห็นแล้วว่าจะเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นหลายเท่า นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID หรือ "ภาวะลองโควิด" อีกด้วย
2. Long COVID ในสหราชอาณาจักร
Thompson EJ และคณะ จากสหราชอาณาจักร ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสารทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับสากล Nature Communications เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
โดยศึกษาจาก 10 การศึกษาที่มีการติดตามผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 พบว่ามีอัตราการเกิดภาวะ Long COVID นานตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไปถึง 7.8-17%
ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหา Long COVID นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และเป็นเรื่องท้าทายสำหรับทุกประเทศในการเตรียมรับมือ ทั้งเรื่องระบบการดูแลรักษา ติดตามประเมินผล ฟื้นฟูสภาพ บริการสนับสนุนด้านสังคม การใช้ชีวิต และการทำงาน รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นระยะยาวต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม
การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก