โควิด-19

"โอไมครอน" จับตา "สายพันธุ์ล่องหน" BA.2 หากดื้อวัคซีนแรงกว่า จบโรคประจำถิ่น

"โอไมครอน" จับตา "สายพันธุ์ล่องหน" BA.2 หากดื้อวัคซีนแรงกว่า จบโรคประจำถิ่น

24 ม.ค. 2565

หมอเฉลิมชัย ประเมิน "โอไมครอน" สายพันธุ์ล่องหน BA.2 หากรุนแรง และดื้อวัคซีนหนักกว่า BA.2 คำว่า "โรคประจำถิ่น" เลือนลาง และห่างไกลออกไป

(24 ม.ค.2565) น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความ อัปเดตสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" หรือ "โอไมครอน" ระบุว่า เหนื่อยใจจริง ไวรัส "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อยที่ 2 "BA.2" ทำท่าจะแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์หลักเดิม (BA.1) ในขณะที่หลายประเทศในทวีปยุโรป ประสบกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วกว้างขวาง
ของ "ไวรัสโอมิครอน" สายพันธุ์หลัก หรือสายพันธุ์ย่อยที่ 1 (BA.1) จนเข้าสู่พีคของการระบาดในระลอกใหม่อย่างรวดเร็ว ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อวันละนับ 100,000 ราย โดยที่มีผู้ป่วยหนักจำนวนไม่มากนัก เมื่อคิดเป็นร้อยละเทียบกับเดลตา แต่ถ้าคิดเป็นรายบุคคล หรือรายเตียง ก็เป็นภาระกับระบบสุขภาพมากพอสมควร

นพ.เฉลิมชัย ระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลบางประเทศเชื่อว่า โควิดโดย "โอมิครอน" ได้ผ่านพีคแล้ว และกำลังวางแผนจะผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ลง เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป ในวงการวิทยาศาสตร์ของยุโรปกำลังไม่แน่ใจในแนวทางดังกล่าว เพราะเริ่มพบข้อมูลบางอย่างของไวรัส "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อยที่ 2 ที่เรียกว่า "สายพันธุ์ล่องหน"(Stealth) ทำท่าจะแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยที่ 1 โดยขณะนี้พบไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่ 2 แล้วใน 40 ประเทศ และพบอย่างชัดเจนในประเทศเดนมาร์กและอังกฤษ UKHSA : UK Health Security Agency หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขของอังกฤษ ได้จัดให้ไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่ 2 (BA.2) เป็น VUI : Variant Under Investigation เรียบร้อยแล้ว  

 

"สายพันธุ์ย่อยที่ 2" นี้ พบเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 โดยจุดที่แตกต่างกับสายพันธุ์ย่อยที่ 1 คือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง 69 และ 70  ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก เพราะทำให้การตรวจ PCR สงสัยทันทีว่า จะเป็นไวรัส "โอมิครอน" และนำไปสู่การถอดรหัสจีโนมเพื่อยืนยันได้ เมื่อการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งดังกล่าว ไม่พบในสายพันธุ์ย่อยที่ 2 การตรวจ PCR ก็จะไม่สงสัยว่าเป็น "โอมิครอน" จึงเรียกว่า "สายพันธุ์ล่องหน" คือตรวจได้ยากขึ้น ไวรัสโคโรนาซึ่งก่อโรคโควิด จะมีวิวัฒนาการและการกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆเนื่องจากเป็นไวรัสสายพันธุ์เดี่ยว มนุษย์จึงต้องติดตามรายละเอียดเรื่องต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา

"ไวรัสโอมิครอน" (Omicron) หรือ B. 1. 1.529 ขณะนี้ค้นพบ 3 สายพันธุ์ย่อยได้แก่ BA.1 , BA.2 , BA.3 โดยสายพันธุ์ย่อย BA.1 เป็นสายพันธุ์หลักในขณะนี้ เพราะมีความสามารถในการแพร่ระบาดที่รวดเร็วที่สุด ได้เกิดการระบาดไปแล้วกว่า 160 ประเทศทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตามในขณะนี้ เริ่มพบว่า มีบางประเทศพบ BA.2 แพร่ระบาดเร็วกว่า BA.1 เช่นในประเทศเดนมาร์กเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดโควิดเป็นสายพันธุ์ BA.2 ตามมาด้วยประเทศอังกฤษ นอร์เวย์ และสวีเดน แต่ในสายพันธุ์ย่อยที่สอง BA.2 ซึ่งทำท่าจะแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง BA.1 ก็พบว่าทำให้อัตราการนอนโรงพยาบาลไม่แตกต่างกัน หรือความรุนแรงในการก่อโรคไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนการดื้อต่อวัคซีนจะเป็นอย่างไรจะต้องติดตามกันต่อไป

 

นพ.เฉลิมชัย ระบุทิ้งท้ายว่า ถ้าสายพันธุ์ BA.2 แพร่เร็วกว่าจริง ก็จะเกิดการระบาดกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทนสายพันธุ์ BA.1 แต่ยังคงเป็นไวรัส "Omicron" อยู่ ในกรณีที่โชคดี สายพันธุ์ BA.2 มีความรุนแรงหรือการดื้อต่อวัคซีนเท่าเดิม ทุกอย่างก็จะเป็นในลักษณะของ Omicron ในปัจจุบัน แต่ถ้าโชคไม่ดี สายพันธุ์ BA.2 มีความรุนแรงหรือการดื้อต่อวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ก็จะกลายเป็นสถานการณ์ที่มีการระบาด ที่นอกจากจะกว้างขวางรวดเร็วแล้ว ยังจะมีการเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือการดื้อต่อวัคซีนเกิดขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นวิกฤตของโลกอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ความหวังเรื่องโรคประจำถิ่นเลือนลาง และห่างไกลออกไปอีก คงจะต้องติดตามข่าวโดยเฉพาะเรื่องทางระบาดวิทยาของไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่สอง (BA.2) กันอย่างใกล้ชิดต่อไป เหนื่อยใจจริง