นวัตกรรม "โควิด19" ตรวจหาเชื้อด้วยน้ำกลั้วคอ ประเมินระดับความเสี่ยงได้ดี
หมอธีรวัฒน์ เปิดนวัตกรรม "โควิด19" ตรวจหาเชื้อด้วยน้ำกลั้วคอ ให้ AI วิเคราะห์ระดับความเสี่ยง ประเมินประสิทธิภาพการรักผู้ติดเชื้อ
อัปเดตสถานการณ์การระบาดของ "โควิด19" "โอไมครอน" ที่ขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก โดยระบุว่า
นวัตกรรมสู้โควิด
6/1/65
ปฎิเสธไม่ได้ว่าโควิด ถึงแม้จะเป็นโอไมครอนก็ตาม ที่แม้จะมีแนวโน้มว่าอาการไม่รุนแรงแต่ยังสามารถกระทบสายงานในโรงงานผลิต หรืองานสาธารณะ ถ้าต้องมีการกักตัวหรือหยุดงาน และรวมถึงผล
กระทบระยะยาวหลังจากการติดเชื้อไปแล้วว่าจะเกิด long COVID หรือไม่ ดังที่มีการรวบรวมสถิติจากหลายสถาบันที่ผ่านมาว่า จะเกิดขึ้นได้ถึง 30% โดยมีอาการในระบบต่างๆ ทั้งเรื่องอ่อนล้า นอนไม่หลับ อาการแข็งเกร็งตะคริว หัวใจเต้นผิดปกติและมีอย่างน้อย 8% ที่กระทบการทำงานของสมอง แม้ว่าอาการขณะติดเชื้อจะไม่ถึงกับหนักก็ตาม
ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬา จากการพัฒนาการตรวจ น้ำกลั้วคอ ด้วยวิธีแมส สเปคโตรเมตรี ( mass spectrometry) สามารถวิเคราะห์รูปแบบของโปรตีนเพื่อบอกความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ ทั้งนี้โดยการควบรวมกับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI โดยสามารถระบุสภาวะความเสี่ยงในระดับต่างๆซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงการปฎิบัติตัวอย่างไร จนกระทั่งถึงการกักตัว
ทั้งนี้การตรวจเพื่อให้การควบคุมการแพร่ระบาด "โควิด19" ในพื้นที่เช่นโรงงานควรทำการตรวจสองครั้งในวันแรก และครั้งที่สองในช่วงสี่ถึงเจ็ดวันต่อมา ทั้งนี้เนื่องจากในวันแรกอาจยังอยู่ในระยะฟักตัวโดยที่ไวรัสยังไม่ปรากฏ
การวิเคราะห์โปรตีนเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาเชิงรุกในพื้นที่ควบรวมกับการตรวจมาตรฐาน พีซีอาร์ ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายสูงและการตรวจซับซ้อนและ ATK ซึ่งถึงแม้จะมีราคาถูกลงและรวดเร็วแต่ยังคงมีอุปสรรคข้อจำกัดในเรื่องของความแม่นยำอยู่บ้าง
นอกจากนั้น ด้วยการวิเคราะห์รูปแบบของโปรตีนในน้ำกลั้วคอของผู้ติดเชื้อที่ทำการเก็บตัวอย่างเป็นระยะตั้งแต่เข้าโรงพยาบาล อยู่ในระหว่างการรักษาจนกระทั่งจบการรักษา
ทำให้สามารถบอกประสิทธิภาพของการรักษาขณะนั้นได้ โดยดูลักษณะโปรตีนที่เป็นตัวแทนของไวรัส และโปรตีนที่เป็นการตอบสนองของร่างกาย
ยกตัวอย่างเช่น ฟ้าทะลายโจรแม้ใช้เพียงสองวันสามารถกดการสร้างโปรตีนจากไวรัสลงได้ แต่เมื่อหยุดยา ไวรัสจะปรากฎขึ้นมาใหม่แสดงถึงการใช้ควรต้องทอดระยะเวลานานขึ้นตามคำแนะนำของกรมการแพทย์แผนไทยกระทรวงสาธารณสุข
และเช่นเดียวกันการรักษาด้วยฟาวิพิราเวีย ในผู้ป่วยบางราย ที่มีลักษณะดื้อยา แม้จะทำให้โปรตีนของไวรัสหายไปก็จริง แต่เมื่อหยุดยาหล้งจากครบ 5 วัน โปรตีนของไวรัสกลับตรวจพบขึ้นมาใหม่ และพ้องกับอาการที่ไม่สงบและต้องใช้การรักษาด้วย เรมเดซิเวียร์ต่อ
ทั้งนี้พ้องกับการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวของโควิดในผู้ป่วยที่ดื้อยาฟาวิพิราเวีย 5 ราย พบลักษณะการผันแปรของรหัสพันธุกรรม (mutation) ของไวรัส เป็นระยะ ในคนๆเดียวกัน แต่เมื่อเปลี่ยนไปใช้ยา เรมเดซิเวียร์ ความผันแปรของรหัสพันธุกรรม กลับเข้าที่เดิม ทั้งนี้ได้รับตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติแล้ว