พระเครื่อง

พระหูยาน พิมพ์คอพอก กรุตาพริ้ง จ.ลพบุรี เนื้อชินเงิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระหูยาน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เป็นพระเนื้อชินเงิน ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็น ๑ ใน ๕ ของ ชุดเบญจภาคีพระเนื้อชินยอดนิยม อันประกอบไปด้วย พระร่วงยืนประทานพร หลังรางปืน สวรรคโลก จ.สุโขทัย พระมเหศวร จ.สุพรรณบุรี พระชินราชใบเสมา จ.พิษณุโลก พระท่ากระ

(กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี มีพระเครื่องที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น สุดยอดของเนื้อชินถึง ๒ องค์ คือ พระร่วงยืนประทานพร หลังลายผ้า เป็นพระสุดยอดของพระเนื้อชินสนิมแดง ประเภท พระยืน และ พระหูยาน เป็นพระสุดยอดของพระเนื้อชินเงิน ประเภท พระนั่ง) พระหูยาน กรุวัดพระศรีฯ จ.ลพบุรี แตกกรุออกมาครั้งแรกที่องค์พระปรางค์ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๕๐ เรียกว่า พระกรุเก่า พระที่แตกกรุออกมาในครั้งแรก ผิวขององค์พระจะมีวรรณะดำ มีปรอทขาวจับอยู่ตามซอกขององค์พระเล็กน้อย แต่เมื่อผ่านการใช้ไปแล้ว ผิวปรอทขาวดังกล่าวจะหายไป ในระยะต่อมา มีข่าวการขุดพบพระหูยานอีกบ้างประปราย จวบจนกระทั่ง พ.ศ.๒๕๐๘ มี พระหูยาน แตกกรุ ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ที่บริเวณเจดีย์องค์เล็ก หน้าองค์พระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี พระหูยาน ที่แตกกรุออกมาในครั้งหลังนี้ เรียกกันว่า พระกรุใหม่ แต่เป็นพระที่สร้างในยุคสมัยเดียวกันกับ พระกรุเก่า ทุกประการ พระหูยาน กรุวัดพระศรีฯ เป็นปฏิมากรรมศิลปะลพบรียุคต้น นับมาถึงทุกวันนี้ มีอายุกว่า ๘๐๐ ปีแล้ว พระพิมพ์นี้ ศิลปินในยุคนั้นได้ถ่ายทอดจินตนาการลงไว้บนองค์พระอย่างละเอียด ประณีต และวิจิตรบรรจง สวยงามยิ่ง สร้างความประทับใจให้แก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก หลายท่านเชื่อกันว่า พระพักตร์ของ พระหูยาน เมืองลพบุรี ได้รับอิทธิพลมาจากเค้าพระพักตร์ของ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่ ปราสาทบายน ในเมืองเขมร ที่เรียกกันว่า ยิ้มแบบบายน เป็นยิ้มที่เต็มไปด้วยอารมณ์แห่งความเมตตาเป็นอย่างยิ่ง เรื่องราวของ พระหูยาน ถึงแม้จะสิ้นสุดยุคสมัยลพบุรีลงแล้วก็ตาม แต่พระเครื่องสกุลนี้ ก็ยังได้ส่งอิทธิพลให้แก่ช่างในยุคต่อมา อีกหลายยุคหลายสมัย ในด้านพุทธคุณ นับได้ว่ามีความเป็นเลิศในด้านคงกระพันชาตรี และดีเยี่ยมด้านมหาอุด ซึ่งมีประสบการณ์เป็นที่เชื่อถือได้มานานแล้ว พระหูยาน มีด้วยกันหลายพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์บัวสองชั้น พิมพ์บัวสองชั้นซุ้มรัศมีแฉก พิมพ์หน้ามงคล และ พิมพ์จิ๋ว ซึ่งเป็นพิมพ์ที่พบเห็นได้ยากที่สุด สำหรับ พระหูยาน พิมพ์กลาง นั้น นอกเหนือจากที่ขุดพบจากกรุวัดพระศรีฯ จ.ลพบุรี ที่มีการขุดพบพระมาถึง ๒ ครั้งดังกล่าวแล้ว ขบวนการขุดหาพระยังได้ขุดพบ พระหูยาน พิมพ์กลาง อีกแห่งหนึ่ง โดยขุดได้ก่อนหน้า พระหูยาน กรุใหม่ ประมาณ ๑๓ ปี พระหูยาน พิมพ์กลาง ที่ขุดพบนี้ มีพุทธลักษณะขององค์พระแตกต่างออกไปจากที่ขุดพบครั้งก่อนๆ รวมทั้งสถานที่ที่ขุดพบ ก็ไม่ใช่ที่กรุวัดพระศรีฯ หากแต่เป็นการขุดพบในบริเวณที่ดินของชาวบ้านธรรมดา ซึ่งแต่เดิมอาจจะเป็นอาณาเขตของ วัดร้าง มาตั้งแต่โบราณกาล ก็ได้ เมืองลพบุรี มีวัดร้างต่างๆ มากมายหลายแห่ง วัดร้างบางวัดถูกลืมไปแล้วก็มี อาทิ วัดเจาะหู, วัดละโว้, วัดมเหศวร, วัดสองคน (หรือวัดสองพี่น้อง) และตรงบริเวณที่แต่เดิมเป็นอาณาเขตของ วัดสองคน หรือ วัดสองพี่น้อง นี่เอง ที่มี คุณยายจำรัส สุขแสงกิจ เป็นผู้พบ พระหูยาน เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๙๕ โดยคุณยายจำรัสไปขุดหามันเขาวัว (มันเสา) ในบริเวณบ้านของแกเอง เมื่อขุดดินลึกไปประมาณ ๑ เมตร เสียมที่ใช้ขุดดินก็กระทบกับฝาไห ซึ่งเป็นฝาแบบลายครามปิดปากไห คุณยายก็ขุดต่อไปอีก จนพบไหสีน้ำตาลใบหนึ่ง เมื่อคุณยายขุดเอาไหขึ้นมาแล้วจึงรู้ว่า ภายในไหนั้นมีพระพิมพ์หูยานบรรจุอยู่ จึงนำไหขึ้นบ้าน เพื่อเอาพระทั้งหมดในไหออกผึ่งลม บนถาด ซึ่งได้เอาผ้าขาวปูรองไว้ด้วย โดยจัดเรียงรายอย่างเป็นระเบียบสวยงาม หลังจากนั้น ตาพริ้ง สามีของคุณยายกลับมาบ้าน ก็ถามว่า ได้พระเหล่านี้มาจากไหน คุณยายก็เล่าให้สามีฟังตามความเป็นจริงทุกอย่าง นอกจากนี้ คุณยายยังใจดี แบ่งพระที่ขุดพบนี้ให้แก่ลูกๆ และญาติพี่น้องคนละองค์สององค์โดยทั่วถึงทุกคน พระหูยาน กรุนี้มีสิ่งแปลกตา ผิดแผกแตกต่างไป พระหูยาน กรุเก่า ที่ขุดได้จากกรุวัดพระศรีฯ คือ พระศอ (คอ) ของพระทุกองค์มีเนื้อพระพอกนูนขึ้นมาเล็กน้อย เหมือนกับคนที่เป็น คอพอก และที่น่ามหัศจรรย์ยิ่งก็คือ คุณยายจำรัสที่ขุดพบพระกรุนี้ มีอาการ คอพอก เช่นกัน นับเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก ที่เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ พระหูยาน กรุนี้มีทั้งหมดประมาณ ๕๐๐ องค์ บรรจุอยู่ในไหสีน้ำตาลเคลือบ วัดโดยรอบไหกว้าง ๘๗ ซม. สูง ๓๔ ซม. ขณะนี้ไหใบดังกล่าวยังมีอยู่ในสภาพครบถ้วนสมบูรณ์ทุกอย่าง ด้วยลักษณะเด่นของ พระหูยาน พิมพ์นี้ตรงที่เป็น คอพอก นี่เอง จึงเป็นที่มาของชื่อ พระหูยาน กรุนี้ว่า พิมพ์คอพอก เป็นพระขนาด พระหูยาน พิมพ์กลาง และมีพระพิมพ์นี้พิมพ์เดียวเท่านั้น ในไหที่ขุดพบนี้ ไม่มีพระชนิดอื่นรวมอยู่เลย และเนื่องจากเป็นพระที่ขุดพบจากที่ดินของ นายพริ้ง สามีของคุณยายจำรัส วงการพระจึงเรียกพระกรุนี้ว่า กรุตาพริ้ง ตามชื่อเจ้าของที่ดินดังกล่าว พระหูยาน พิมพ์กลาง (คอพอก) กรุตาพริ้ง เป็นพระเนื้อชินเงิน มีคราบผิวปรอทขาวเกาะจับทั่วองค์พระ ดูเหมือนกับพระสร้างใหม่ (แต่ความจริงเป็นของเก่า) พระหูยาน คอพอก กรุตาพริ้ง มีขนาดองค์พระ กว้างประมาณ ๒.๒ ซม. สูงประมาณ ๕.๐ ซม. โดยภาพรวม พระกรุนี้หาความงามยาก แต่ก็เป็นพระที่มีประสบการณ์มากมาย ทางด้านคงกระพันชาตรี และด้านมหาอุด จนเป็นที่เลื่องลือของชาวลพบุรี และคนพื้นที่ใกล้เคียง ต่างรู้ถึงกิตติศักดิ์ความขลังในทางบู๊มาแล้วอย่างโชกโชน ในทุกวันนี้ พระหูยาน พิมพ์นี้ เริ่มนับวันจะหายากเข้าทุกที ไม่ค่อยปรากฏการซื้อขายในวงการพระแต่ประการใด เพราะผู้ที่มีอยู่ ซึ่งได้มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ตกทอดกันมา ก็มักจะหวงแหนกันมาก ต่างยืนยันว่า จะเก็บรักษาบูชาเอาไว้ให้เฉพาะคนในเครือญาติ ครอบครัวเดียวกัน เท่านั้น แม้ว่าจะมีราคาสูงถึงหลักแสน ก็ไม่มีใครยอมขายออกมากันเลย "ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ