ข่าว

ซู จี ยื่นเงื่อนไขเจรจารัฐบาลพม่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย่างกุ้ง - ออง ซาน ซู จี ยอมให้ทูตพิเศษยูเอ็นเข้าพบ ยื่นเงื่อนไขเจรจากับรัฐบาลทหารหลายข้อ

โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของพม่า แถลงเมื่อวันจันทร์ (2 ก.พ.) ว่ารัฐบาลทหารได้อนุญาตให้นางออง ซาน ซู จี หัวหน้าพรรค เดินทางออกจากบ้านพักริมทะเลสาบย่างกุ้งเพื่อพบปะกับนายอิบรอฮิม กัมบารี ทูตพิเศษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รวมถึงแกนนำพรรคเอ็นแอลดี 5 คน ที่บ้านพักรับรองของรัฐบาลเป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง ซึ่งนางซู จีได้ถือโอกาสยื่นเงื่อนไขในการเจรจาประนีประนอมกับรัฐบาลทหารผ่านทางนายกัมบารีเอาไว้หลายข้อ นางซู จีได้บอกกับนายกัมบารีว่า การมาเยือนของทูตยูเอ็นควรจะตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าต้องมีการปล่อยตัวเธอ และนักโทษการเมืองทุกคนเป็นอิสระ ตลอดจนให้มีการทบทวนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทางการเขียนขึ้น เปิดการประชุมรัฐสภาประชาชน และเปิดให้มีการเจรจาระหว่างฝ่ายต่างๆ ขึ้น ซึ่งรัฐสภาประชาชนที่ว่าหมายถึงเรื่องที่นางซู จี และพรรคเอ็นแอลดีคว้าชัยในการเลือกตั้งทั่วไปแบบถล่มทลายในปี 2533 แต่รัฐบาลทหารไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจให้ นอกจากนี้ นางซู จียังหยิบยกชะตากรรมอันเลวร้ายของนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยกว่า 270 คนมาพูดถึง เพราะคนเหล่านี้เพิ่งถูกตัดสินจำคุกสูงถึง 65-104 ปีไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยไม่มีโอกาสแก้ต่าง หรือได้พบทนายเลย นายกัมบารีเดินทางเยือนพม่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 แล้ว เพื่อผลักดันให้ทุกฝ่ายในพม่าหันหน้าเข้าเจรจากันเพื่อรื้อฟื้นประชาธิปไตย โดยการเยือนครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วนั้นประสบความล้มเหลวเพราะนางซู จีไม่ยอมพบ แถมยังได้รับการต้อนรับอย่างไม่เต็มใจนักจากรัฐบาลพม่า ซึ่งในครั้งนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่านายกัมบารีจะได้พบกับนายพลตัน ฉ่วย ผู้นำสูงสุดของพม่าในการเดินทางเยือน 4 วันที่จะสิ้นสุดลงในวันอังคารนี้หรือไม่ นอกเหนือจากนางซู จีแล้ว ในการเยือนครั้งนี้นายกัมบารียังพบปะเจ้าหน้าที่ของทางการพม่าหลายคน อาทิ นายจ่อ ซาน รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสาร นายญาน วิน รัฐมนตรีต่างประเทศ รวมถึงนางอ่อง คยี ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่คอยประสานงานระหว่างรัฐบาลทหารกับนางซู จี เมื่อเดือนตุลาคม 2550 แล้วก็มีโอกาสได้เดินทางไปยังเมืองลาบุตตาซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากไซโคลนนาร์กีสถล่มเมื่อปีที่แล้วด้วย ด้านนายอ่อง เนียง โอ นักวิเคราะห์อิสระของพม่าซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ในไทยมองว่า คงคาดหวังอะไรไม่ได้มากนักจากการเจรจาครั้งนี้ จะมีก็แค่ให้ผู้ที่สนับสนุนนางซู จีได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นของเธอเท่านั้น ทั้งยังมองด้วยว่าแนวโน้มที่การเจรจาอย่างเร่งด่วนกับรัฐบาลทหารจะเกิดขึ้นนั้นคงเป็นไปไม่ได้
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ