ข่าว

102โรงงานโคม่าส่อลอยแพ7หมื่นจวกบอร์ดสปส.ไม่เข็ดเจ๊งหุ้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แรงงานขอ 3.4 พันล้าน ฝึกงานทันที 1.2 แสนคน-พัฒนาฝีมือลูกจ้างอีก 4.5 แสนคน “ไพฑูรย์”ขอ 6.9 พันล้านแก้ว่างงานทั้งระบบ กรมสวัสดิการฯ เผย 102 โรงงานส่อลอยแพลูกจ้าง 7 หมื่นคน นักวิชาการจวกบอร์ด สปส.ไม่เข็ดเจ๊งหุ้น นายก รพ.เอกชน ยันไม่ปิดไอซียู

นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.รบ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2552 ที่มีนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งคณะกรรมการเสนอให้มีการปรับแก้ใหม่ว่า กรณีที่คณะกรรมาธิการหลายคนแสดงความกังวลและเสนอแนะแนวทางในการจัดสรรงบประมาณจำนวน 6,900 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าเงินจำนวนดังกล่าวไม่ควรเป็นเงินในส่วนของงบประมาณกลางปี และสมควรให้กระทรวงแรงงานเป็นคนดำเนินการเรื่องนี้ นายวีระชัย ถาวรทนต์ ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ในฐานะผู้แทน รมว.แรงงาน เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานฯ กล่าวว่า กระทรวงได้นำเสนอโครงการฝึกอบรมเพื่อให้สามารถบรรจุในตำแหน่งงานว่างได้ทันที ซึ่งจากข้อมูลที่กระทรวงได้รับแจ้งจากภาคเอกชนว่ามีความต้องการแรงงานจำนวน 125,144 อัตรา รวมทั้งโครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพแรงงานในสถานประกอบการ เพื่อชะลอการเลิกจ้างของผู้ประกอบการ และเพื่อเตรียมความพร้อมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ทั้งนี้ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้ถูกเลิกจ้าง นักศึกษาจบใหม่ และผู้ที่อยู่ในข่ายที่จะถูกเลิกจ้างจำนวน 4.55 แสนคน ในวงเงินงบประมาณ 3,400 ล้านบาท ที่ประชุมจึงหมอบหมายให้ประธานคณะอนุกรรมการนำเข้าวาระเพื่อพิจารณาในชั้นอนุกรรมการก่อน นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้งบประมาณกลางปีจำนวน 6,900 ล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาแรงงาน โดยเป็นการประชุมในกรอบกว้างๆ เท่านั้น สำหรับกระทรวงแรงงานจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วย นายพรชัย อยู่ประยงค์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน น.ส.ส่งศรี บุษบา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน และนายประพันธ์ มนทการติวงศ์ รักษาการ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิกาฯชี้อี102โรงงานส่อลอยแพลูกจ้าง นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงผลกระทบสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำส่งผลให้ลูกจ้างชาวต่างชาติของโรงพยาบาลเอกชนเกรดเอ เปลี่ยนสถานที่รักษาพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลรายได้หายไปกว่า 50% และอาจจะมีการเลิกจ้างพนักงาน แพทย์ พยาบาล ว่า ยังไม่ได้รับรายงานดังกล่าว แต่หากมีการร้องเรียนมาหรือแจ้งมาหรือพบแนวโน้มทำการเลิกจ้างทาง กรมจะไม่ปล่อยทิ้งอย่างแน่นอน “ขอย้ำว่า ลูกจ้างของโรงพยาบาลเอกชนก็มีสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเงินค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าตอบแทนอื่นๆ ตามกฎหมายแรงงานทุกประการ” นางอัมพร กล่าว นางอัมพร กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551-26 มกราคม 2552 มีโรงงานปิดกิจการไปแล้ว 748 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 58,412 คน และระหว่างวันที่ 1-26 มกราคม 2552 ว่า มีสถานประกอบการปิดกิจการแล้วจำนวน 50 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 2,863 คน จังหวัดที่มีการเลิกจ้างสูงสุด ได้แก่ ปทุมธานี สมุทรปราการ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา และตาก ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นประเภทกิจการสิ่งทอ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับและเฟอร์นิเจอร์ สาเหตุส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่อง และคำสั่งซื้อสินค้าต่างประเทศลดลง "สถานประกอบการที่ถูกลูกจ้างประท้วงจนเกิดข้อขัดแย้งจำนวน 380 แห่ง ส่วนใหญ่ร้องเรียนเรื่องค่าจ้าง ค่าชดเชย" นางอัมพร กล่าว นอกจากนี้ มีแนวโน้มสถานประกอบการจะทำการเลิกจ้างอีกกว่า 102 แห่ง ลูกจ้างจะถูกเลิกจ้างอีกจำนวน 68,122 คน และมีลูกจ้างที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเลิกจ้างจำนวน 23,296 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างในกิจการประเภทผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ และผลิตเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์ นายกรพ.เอกชนยันไม่ถึงขั้นปิดไอซียู ด้าน นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่า มีโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดบริการเมดิคัล ฮับ ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้ป่วยต่างชาติลดลงจนต้องปิดบริการไอซียูบางส่วน ว่า ในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนยืนยันว่าไม่เคยได้ยินหรือได้รับรายงานจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งใดมีการปิดไอซียู หรือมีการเลิกจ้างพนักงานตามที่เป็นข่าว และยังไม่เคยได้รับรายงานว่า รายได้ของโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดบริการผู้ป่วยต่างชาติมีจำนวนลดลงอย่างมาก แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมามีผลกระทบต่อการบริการของโรงพยาบาลเอกชนบ้าง แต่เป็นระยะสั้นๆ ในช่วงที่มีการปิดสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น “จากข่าวที่ออกมาผมไม่เคยรับรู้ และไม่รู้ว่านำข้อมูลมาจากไหน ส่วนมีการพาดหัวข่าวว่าผมเป็นคนให้ข่าว แต่เนื้อข่าวไม่มีชื่อผมพูด คิดว่าน่าจะเกิดความเข้าใจผิด เพราะผมไม่เคยให้ข่าวแบบนี้ แต่ยอมรับว่า ข่าวนี้ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือ เพราะหลังมีการนำเสนอข่าวออกมา ผมได้รับโทรศัพท์สอบถามข้อเท็จจริงถึงข่าวที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องความน่าเชื่อถือของโรงพยาบาลและศรัทธาของเขา ดังนั้น ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ทางกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่ทำเมดิคัล ฮับ อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลพญาไท จึงรวมตัวกันแถลงข่าวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงในเวลา 10.00 น. ที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน อาคารเฉลิมพระบารมี ซ.ศูนย์วิจัย กรุงเทพฯ” นพ.เอื้อชาติ กล่าว นักวิชาการ-ลูกจ้างจวก สปส.เจ๊งหุ้น นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแผนการลงทุนของกองทุนประกันสังคม (สปส.) ปี 2552 ที่จะนำเงินกองทุนประกันสังคมจำนวน 159,749 ล้านบาท ไปลงทุนเพื่อหาดอกผลรับมือใช้จ่ายช่วยคนตกงานในอนาคตว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จำเป็นต้องนำเอาบทเรียนในการลงทุนที่ขาดทุนจากการลงทุนหุ้นที่ผ่านมามาเป็นอุทาหรณ์ ซึ่งขณะนี้องค์กรลูกจ้างยังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวถามหาความรับผิดชอบที่ บอร์ด สปส.บริหารขาดทุน เพราะอยู่ในช่วงการรวบรวมข้อมูลอยู่ "หากครั้งนี้ บอร์ด สปส.มีการลงทุนในพันธบัตรและรัฐวิสาหกิจในประเทศ และไม่ไปลงทุนในต่างประเทศก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ที่เริ่มมีความระมัดระวังในการใช้เงินลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าเงินจำนวน 1.5 แสนล้านบาทนี้ สามารถนำมาช่วยประเทศได้อีกหลายอย่างทาง เช่น การให้รัฐบาลนำมาใช้กู้ยืม เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีเงินคงคลังเหลือเพียง 5.2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น หากได้เงินส่วนนี้มาช่วยการคลังของประเทศได้ก็ควรทำ" รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสิรฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการอ้างว่าแผนการลงทุนกว่า 1.5 แสนล้านบาท นี้เกิดขึ้นจากความเห็นและมติบอร์ด สปส. เนื่องจากการที่จะลงทุนอะไรควรมีการแจ้งรายละเอียดให้ผู้ประกันตนได้รับรู้ด้วย อีกทั้งในวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้ ยังมีช่องทางการลงทุนอีกหลายอย่างที่จะนำมาลงทุนให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกันตน มากกว่าเอาไปลงทุนในตลาดการหุ้นที่ซบเซาและความเสี่ยงเช่นนี้ นายณรงค์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า บอร์ด สปส.ฝ่ายลูกจ้างไม่ได้มาจากการสรรหาที่เคารพหลักการของรัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตราที่ 84 (7) ที่ระบุว่า กำหนดให้รัฐต้องจัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคม ด้วยความเป็นธรรม แต่จากกฎกระทรวงว่าด้วยระเบียบการออกเสียงไตรภาคีเพื่อคัดเลือกตัวแทนฝ่ายลูกจ้างไปนั่งในบอร์ด สปส.ของกระทรวงแรงงานนั้น กลับระบุว่า ให้ 1 สหภาพ มี 1 เสียง ที่ผ่านมานับสิบปี จึงเกิดการตั้งสหภาพผีขึ้นมา เพื่อเลือกตัวแทนในไตรภาคีขึ้นและไม่เคยได้รับการยอมรับจากองค์การลูกจ้างหลัก นายณรงค์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นการที่ผู้ประกันตนมีอยู่ 9.8 ล้านคน แต่กลับมีผู้ออกเสียงเลือกตั้งในไตรภาคีตามระบบตัวแทนทางอ้อมในสหภาพได้เพียง 2 แสนกว่าคนเท่านั้น ถือปัญหาที่กระทรวงแรงงานควรต้องเข้ามาแก้ไขกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว อย่าปล่อยให้ระเบียบราชการฉบับดังกล่าวนี้ทำลายความสามัคคีของผู้ใช้แรงงาน
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ