ข่าว

รายงาน-วิบากกรรมไล่ล่า..."รมต."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แม้รัฐบาลจะยังอยู่ในสภาวะที่เร่งสร้างความมั่นคง ความเชื่อมั่น เพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากพอที่จะเดินหน้าต่อไป แต่สถานการณ์ต่างๆ ดูจะไม่ค่อยเป็นใจและพร้อมจะมีบททดสอบออกมาตลอดเวลา

ไม่ว่าจะเป็น "ม็อบเสื้อแดง" ที่เข้ามาเขย่าขวัญรัฐบาลเป็นพักๆ ซึ่งต่อจากนี้ทำท่าว่าจะมาถี่และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เรื่องปลากระป๋องเน่า ที่เข้ามาสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในแง่ความซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นจุดขายที่รัฐบาลพยายามนำเสนอ จนล่าสุด วิฑูรย์ นามบุตร รมว.พัฒนาสังคมฯ ส่อเค้าว่าจะอยู่ร่วมรัฐบาลไม่ตลอดรอดฝั่ง นอกจากนี้ยังมีกรณีการแจกเบี้ยยังชีพพร้อมนามบัตร ของ บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช. มหาดไทย ซึ่งเข้าเค้าว่าจะเป็นการอาศัยอำนาจรัฐในการหาเสียง อย่างไรก็ตาม ข้างต้นนี้ยังเป็นเพียงข้อกล่าวหาที่ปราศจากการพิสูจน์ทราบผ่านองค์กรตรวจสอบ แต่อยู่ดีๆ ก็มีสองเรื่องที่ผุดขึ้นมา จนอาจจะทำให้ "2 รัฐมนตรี" ต้องหลุดจากตำแหน่ง และกลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลได้ เรื่องแรก...ยังคงโยงเข้าสู่ "รัฐมนตรีว่าการ" ที่ฝ่ายค้านคงมองว่าเป็นบ่อน้ำมันในขณะนี้ อย่าง “บุญจง” เพราะเมื่อครั้งการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 “บุญจง” ลงสมัคร ที่ จ.นครราชสีมา แต่สอบตก อย่างไรก็ตาม มีผู้มาร้องเรียนว่า ได้รับการซื้อเสียงจาก “บุญจง” แต่เนื่องด้วยความเร่งด่วนของการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งที่ต้องประกาศภายใน 30 วัน ทำให้ กกต.พิจารณาได้เฉพาะผู้สอบได้ และต้องเก็บกรณีผู้สอบตกไว้พิจารณาในภายหลัง และแล้วก็เหมือนบุญหล่นทับ เมื่อ “พลพีร์ สุวรรณฉวี” ที่ได้รับการเลือกตั้ง ต้องถูกใบเหลือง ทำให้ “บุญจง” ได้รับโอกาสถูกเลือกกลับเข้ามาอีกครั้ง และ กกต.ต้องประกาศรับรอง เนื่องจากครบกำหนดเวลาที่จะต้องประชุมสภา “บุญจง” อาจจะดีใจที่ได้มีโอกาสเข้าเป็นผู้มีเกียรติ ซ้ำวันนี้ยังมีโอกาสได้ดิบได้ดีเป็นถึง รมช.มหาดไทย แต่กรรมย่อมไม่สูญหาย เมื่อ "กกต." วินิจฉัยว่า น่าจะมีการซื้อเสียงจริง และมีมติให้ส่งฟ้องศาลเพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับ “บุญจง” หากผิดจริงก็มีโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยมีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับสองหมื่นถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี นอกจาก “บุญจง” แล้ว อีกหนึ่งกรณีที่น่าจะทำให้รัฐบาลสั่นคลอนได้ แม้จะเป็นเรื่องจากการเลือกตั้งเล็กๆ อย่างสมาชิก อบจ.สุราษฎร์ธานี แต่ตัวละครกลับเป็นรองนายกรัฐมนตรีอันดับหนึ่ง และผู้จัดการรัฐบาลอย่าง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ครั้งนั้นมีการเลือกตั้งนายกและสมาชิก อบจ.สุราษฎร์ธานี ที่ อ.เกาะสมุย สุริญญา ยืนนาน ผู้สมัคร ส.อบจ. อ.เกาะสมุย สุเทพ เทือกสุบรรณ ชุมพล กาญจนะ และ ประพนธ์ นิลวัชระ ร่วมกันแจกผ้าห่ม เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ “สุริญญา” ถูก กกต.วินิจฉัยว่าควรส่งให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ขณะที่ “สุเทพ-ชุมพล-ประพนธ์” กกต.มีมติให้ดำเนินคดีอาญา นอกจากนี้ยังส่งผลให้ “ธานี เทือกสุบรรณ” ที่รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.ต้องถูกใบเหลือง เพราะถือว่าได้ประโยชน์จากการกระทำ หมายความว่า ในกรณีนี้ หากศาลอุทธรณ์ที่มีอำนาจพิจารณาคดีเลือกตั้งท้องถิ่นเห็นตามมติ กกต.คือ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง “สุริญญา” กระบวนการต่อไปที่ต้องดำเนินการ คือ "ต้องฟ้องร้อง" สามผู้ต้องหาที่เหลือ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ "สุเทพ" หลังจากนั้นต้องมีกระบวนการต่อสู้ในชั้นศาล หากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า “สุเทพ” ทำผิดจริง เขาก็จะมีโทษตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น คือ จำคุกหนึ่งถึงสิบปี ปรับสองหมื่นถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี อย่างไรก็ตาม สองคดีดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า หากกระทำผิดกฎหมายใดแล้ว ความผิดย่อมไม่สูญหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความผิดทางการเมือง" และการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น ก็ย่อมต้องรับผิดด้วยโทษที่ไม่ต่างกัน “ประชาธิปัตย์” อาจจะโชคดีที่กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้กำหนดเรื่องยุบพรรคเอาไว้ มิเช่นนั้นชะตากรรมก็คงไม่ต่างจาก "3 พรรค" ที่เคยถูกยุบก่อนหน้านี้ เพราะพฤติกรรมนั้นไม่แตกต่าง แต่ในส่วนของ “บุญจง” นั้น น่าจะถือว่า "ร่อแร่" เต็มที เพราะตอนนี้เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เป็นเคราะห์ "ส่วนตัว" และเป็น "กรรมเก่า" อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ