ข่าว

การเคหะรับมือลูกค้าไม่มีเงินผ่อน ชงบอร์ดหยุดสัญญาเช่าซื้อ1ปีเปลี่ยนให้เช่าไปก่อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเคหะหาช่องเพิ่มรายได้ เร่งปั๊มยอดขายบ้านเอื้ออาทร ตัดขายที่ดินเปล่า เล็งผุดโครงการเกาะแนวรถไฟฟ้า รับปัญหาว่างงานกระทบซื้อบ้านและลูกค้าที่ผ่อนชำระ เตรียมแผนรับมือหยุดสัญญาเช่าซื้อไว้ก่อนหนึ่งปี เปลี่ยนเป็นสัญญาเช่า ชงเข้าบอร์ดพิจารณากุมภาพันธ์นี้

นายศิริโรจน์ ชาวปากน้ำ ผู้ช่วยผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า การสร้างรายได้ของการเคหะในปีนี้จะมี 3 มาตรการใหญ่ๆ คือ 1.ลดรายจ่ายประจำราว 20% ด้วยการลดซื้อของใหม่ให้ซ่อมของเก่าใช้ไปก่อน 2.เพิ่มรายได้ โดยจัดผลประโยชน์ในชุมชน เริ่มตั้งแต่ ตลาด ร้านค้า จักรยานยนต์ รวมทั้งขายที่ดิน ทั้งเก่าและใหม่ และ 3.เร่งขายบ้านเอื้ออาทรให้ได้มากที่สุด นำเข้าขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินให้ได้มากที่สุด โดยตั้งแต่เริ่มปี 2552 มีการขายบ้านเอื้ออาทรไปได้แล้วประมาณ 2,000 ยูนิต เชื่อว่าหลังจากการจัดงานตลาดนัดบ้านเอื้ออาทรระหว่างวันที่ 6-15 กุมภาพันธ์นี้ จะทำให้ยอดขายดีขึ้น โดยไตรมาสแรกปีนี้ตั้งเป้าขายเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 ยูนิต อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ปัญหาว่างงานมีผลกระทบต่อการซื้อบ้าน และการผ่อนส่งพอสมควร จะเห็นผลจริงๆ ในเดือนเมษายน แต่การเคหะได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว เช่น คนไม่มีความสามารถผ่อนได้ในราคาเดือนละ 2,700 บาท ก็มาทำการเปลี่ยนเป็นสัญญาเช่าเดือนละ 1,600 บาท กล่าวคือ หยุดการเช่าซื้อไว้ก่อน 1 ปี หลังจากนั้น หากมีความสามารถในการผ่อนชำระก็กลับมาสู่สัญญาการเช่าซื้ออีกครั้ง "คาดว่าลูกค้าที่มีปัญหาและขอใช้บริการในลักษณะดังกล่าวจะอยู่ประมาณ 50% โดยลูกค้าที่รอขอสินเชื่ออยู่ 4 หมื่นราย จะหายไปราว 2 หมื่นราย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เป็นแค่แนวคิดเท่านั้น จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ในเดือนกุมภาพันธ์นี้" นายศิริโรจน์กล่าว ส่วนความคืบหน้าในการขายที่ดินแปลงใหญ่นั้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างสำรวจที่ดิน และวิเคราะห์ราคา ทำราคาประเมิน เพื่อเตรียมการขาย และพิจารณาว่า แปลงไหนจะขาย แปลงไหนจะเก็บไว้ทำโครงการในอนาคต คิดว่าจะขายได้จริงๆ ในช่วงเดือนเมษายนนี้ นอกจากนี้ ยังจะมีการแบ่งขายเป็นแปลงย่อย เพราะหากแปลงใหญ่ คนอาจไม่มีเงินพอที่จะซื้อ ซึ่งอาจจะขายให้แก่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไปแบ่งขายอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจาก การเคหะไม่ต้องการเข้าไปแข่งขันกับเอกชน และไม่ใช่หน้าที่ของการเคหะ “ขณะนี้ เรามีแลนด์แบงก์ในกรุงเทพฯ อีกหลายแปลง ซึ่งการเคหะจะขายเป็นที่เปล่า ไม่นำมาทำเป็นโครงการบ้านเอื้ออาทร หรือเคหะชุมชน โดยจะหันไปซื้อที่ดินตามแนวสถานีรถไฟฟ้ามาทำดีกว่า เพราะได้ผลมากกว่า แม้จะมีราคาแพง แต่ก็จะขายแพงไปด้วย ถือเป็นการดำเนินการเพื่อให้การเคหะอยู่รอด” นายศิริโรจน์กล่าว
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ