คอลัมนิสต์

การเมืองเรื่องการโยกย้ายข้าราชการ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่องของการโยกย้ายข้าราชการมักจะเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองโดยสื่อโดยตลอดเมื่อ “ผลัดแผ่นดิน” หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และเรื่องที่นำเสนอก็หนีไม่พ้นการตั้งข้อสงสัยว่าใครเป็นเด็กใคร หรือการตั้งข้าราชการนั้นเป็นไปเพื่อสนองนโยบาย

ถ้าจะให้พูดกันอย่างขำๆ ตำแหน่งระดับปลัดกระทรวง และอธิบดีก็ควรจะประกาศไปเลยว่าเป็นตำแหน่งการเมือง หรือเป็นตำแหน่งกึ่งการเมืองไปซะเลย เพราะต้องสนองต่อนโยบายของรัฐบาล (ไม่งั้นต่อไปอาจจะต้องมีตุลาการภิวัตน์มาแต่งตั้งข้าราชการแทน) เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องตั้งหลักคุยกันให้ดี ไม่เช่นนั้นจะเป็นเรื่องของการมองโลกแบบขาวดำ-เทพมาร ประการแรก สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ ในแต่ละยุคสมัยนั้น นักการเมืองกับข้าราชประจำนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร แทนที่เราจะเชื่อในอุดมคติที่ว่านักการเมืองกับข้าราชการประจำนั้นจะต้องทำงานแยกกันคือกำหนดนโยบาย และนำนโยบายไปปฏิบัติ หรือมองว่ายุคไหนใครรังแกใคร สิ่งที่ต้องดูคือการ “สไตล์” การทำงานของแต่ละพรรคนั้นเป็นอย่างไร ยุคทักษิณนั้นมีลักษณะอย่างไร ยุคประชาธิปัตย์นั้นเป็นอย่างไร และชาติไทยนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เราอาจจะเห็นลักษณะที่น่าสนใจ อาทิ เราจะเห็นว่ากรณีชาติไทยนั้น มักจะมีสายสัมพันธ์กับข้าราชการในระดับที่มาเป็นปาร์ตี้ลิสต์ให้เมื่อเกษียณอายุ ไทยรักไทยนั้นก็จะผลักดันนโยบายลงไปบนระบบราชการ (ไม่ได้แปลว่าไม่เล่นพวก) โดยเฉพาะในรายตำแหน่งที่รับผิดชอบต่อนโยบายจากทางพรรค ขณะที่ประชาธิปัตย์ในอดีตก็จะมีสไตล์ของเขาเอง หากลองย้อนกลับไปดูจะมีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันทั้งในเชิงนโยบาย และในเชิงการปฏิบัติงาน ที่จะให้ข้าราชการออกหน้าอยู่มากสักหน่อย ประการที่สอง เรามักจะมองว่าข้าราชการประจำนั้นจะต้องสนองต่อนโยบายของพรรคการเมือง แต่ในเรื่องราวจริงๆ นั้น พรรคการเมืองนั้นก็จำต้องตอบสนองต่อข้าราชการประจำอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะด้วยความเป็นจริงของการทำงานที่ความสำเร็จ-ล้มเหลวของรัฐบาลนั้นอยู่ในน้ำมือของข้าราชการ (ดูอย่างการสลายม็อบเป็นตัวอย่าง ถ้าทำไม่ดี คนที่ซวยไปด้วยคือรัฐบาล) หรือว่าข้าราชการนั้นจะเป็นคนชงเรื่องขึ้นมาให้ ซึ่งถ้าเซ็นโดยไม่รู้เรื่องรู้ราวก็โดนแขวนเอาง่ายๆ ประการที่สาม สังคมควรจะจับตามองอย่างมีความเข้าใจมากขึ้นว่า เมื่อพูดถึงการสนองนโยบายนั้น ก็ควรจะเข้าใจเรื่องนโยบายให้มากเสียด้วย เพราะในทุกวันนี้เวลาที่พูดถึงการสนองนโยบายนั้นเราไปติดอยู่ตรงที่เรื่องของการโยกย้ายตัวบุคคล มากกว่าภาพรวมของความเป็นไปได้ และปมปัญหาในตัวของนโยบายเอง ประการที่สี่ โดยอุดมคตินั้น เรามีระบบราชการอยู่ภายใต้ระบบเลือกตั้ง เพราะเราเชื่อว่าระบบเลือกตั้งนั้นเป็นเจตจำนงของประชาชน ส่วนระบบราชการนั้นเป็นเครื่องจักรที่ต้องการคนมาควบคุม แต่ในความเป็นจริงนั้น ระบบการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมมาตั้งแต่แรก (แน่นอนว่าระบบราชการนั้นควบคุมระบบการพัฒนามาก่อน) ทำให้เกิดการพยายามผลักดันโครงการมากกว่านโยบาย (นโยบายกลายเป็นเรื่องโครงการ) ส่วนระบบราชการก็มีผลประโยชน์ส่วนตัวในการรักษางบประมาณและขนาดของตนเอาไว้ ดังนั้นทางออกหนึ่งก็คือการปรับปรุงระบบการแต่งตั้งโยกย้ายที่เกิดจากการปรึกษาหารือร่วมกันหลายฝ่าย ไม่ใช่แค่มองว่านักการเมืองเป็นคนเลว ข้าราชการเป็นคนดี เพราะนักการเมืองดีๆ ก็ต้องสามารถย้ายข้าราชการเลวได้ ดังนั้นคำว่า “หลายฝ่าย” จึงสำคัญ และต้องคิดกันว่าสังคมจะโอบล้อมการฮั้วกัน หรือการขัดกันของนักการเมืองกับข้าราชการประจำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนนั้นได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่เน้นแค่ว่าข้าราชการทำงานตามหน้าที่ไหม แต่ต้องดูด้วยว่างานที่ทำตามหน้าที่นั้นทำให้ประชาชนดีขึ้นไหม และประชาชนตรวจสอบพวกเขาได้ไหม
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ