ข่าว

ฟื้นธุรกิจโคนมในเขตปฏิรูปที่ดิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การจัดทำโครงการพลิกฟื้นธุรกิจโคนมในเขตปฏิรูปที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ไม่เพียงการพัฒนาและส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตโคนมไทย

เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลง และได้น้ำนมที่มีคุณภาพ สะอาด ได้มาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการ ส.ป.ก.เผยความคืบหน้าของโครงการว่า ขณะนี้ได้ประสานความร่วมมือกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และกรมปศุสัตว์ พัฒนาการเลี้ยงโคนมของเกษตรกร โดยเฉพาะการปลดแม่โคนมที่อายุเกินออกจากฝูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนของเกษตรกร ในเบื้องต้นวางแผนจะรวมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จัดตั้งเป็นนิคมวัวนมในอนาคต เพื่อสร้างระบบภาคการผลิตสินค้าเกษตรที่เชื่อมโยงระหว่างกันให้มากขึ้น "รูปแบบของการดำเนินงานในเบื้องต้น ส.ป.ก.จะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในเขตปฏิรูปที่ดิน ผ่านกองทุนปฏิรูปที่ดินที่จะให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ คาดว่าจะมีเงินสนับสนุนในการดำเนินงานดังกล่าวราว 3 ล้านบาท พร้อมกับการประสานงานด้านการหาแหล่งจำหน่ายอาหารสัตว์ในราคาถูก เน้นในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ในเขตปฏิรูปที่ดินใกล้เคียง และมีศักยภาพ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงกลุ่มการผลิตสินค้าเกษตรที่เกี่ยวเนื่องกัน ในขณะที่ อ.ส.ค. และกรมปศุสัตว์ จะเข้ามาช่วยในการดูแลการเลี้ยงโคนม การปรับปรุงฟาร์มเข้าสู่ระบบมาตรฐาน และการปรับปรุงคุณภาพน้ำนมดิบ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด" เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าวถึงปัญหาหลักของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม คือ ต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งข้าวโพด หญ้าสด รวมถึงการเลี้ยงวัวนมในฝูงที่มากเกินไป มีแม่อายุมากอยู่ในฝูง ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย หากสามารถจัดกลุ่มกำหนดพื้นที่การเลี้ยงโคนม พร้อมกับสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบผ่านกลุ่มสหกรณ์ หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาราคาอาหารสัตว์ได้ในระดับหนึ่ง นายอนันต์ย้ำด้วยว่า ขณะนี้ทางโครงการได้เตรียมแผนเร่งปรับโครงสร้างฝูงโคนมใหม่ โดยจะคัดโคนมที่ไม่มีคุณภาพออกจากฝูงร้อยละ 20 หรือประมาณ 400 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่โคที่มีอายุมาก ให้นมน้อย และโคผสมที่ติดลูกยาก เป็นต้น ส่วนปัญหาขาดแคลนอาหารสัตว์ โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง การใช้ฟางข้าวเข้ามาเสริมน่าจะเป็นทางออกที่ช่วยให้เกษตรกรผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้ โดยยังจะส่งเสริมให้นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ อาทิ ข้าวโพดและมันสำปะหลัง มาผลิตเป็นอาหารข้น เพื่อเสริมในการเลี้ยงโคนมด้วย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ