ศรัทธาสายมู

เปิดตำนาน 'พระแม่อุมาเทวี' วิธีขอพรพระแม่อุมาเทวี ให้ปัง ทั้งงาน-ความรัก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดตำนาน 'พระแม่อุมาเทวี' มีกี่ปาง รวมทั้ง วิธีขอพรพระแม่อุมาเทวี ให้ปัง ทั้งเรื่องงาน และ ความรัก ความเชื่อของ ศรัทธาสายมู

สายมู ไม่พลาด งานใหญ่ของ “วัดแขกสีลม” หรือ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี ใน “พิธีนวราตรี”เนื่องในวันวิชัยทัสมิ และคงต้องรู้จัก “พระแม่อุมาเทวี” กันเป็นอย่างดี ซึ่งสถานที่ตั้งองค์พระแม่อุมาเทวีที่มีชื่อเสียงในไทย ก็คือ พระแม่อุมาเทวี วัดแขก ที่มักมีผู้เดินทางไปเคารพขอพรอยู่ไม่ขาดสาย ตำนาน “พระแม่อุมาเทวี” เป็นมาอย่างไร พระแม่อุมาเทวี มีกี่ปาง รวมทั้ง วิธีขอพรพระแม่อุมาเทวี คมชัดลึก รวบรวมมาเป็นความรู้

พระแม่อุมาเทวี

ตำนาน พระแม่อุมาเทวี

 

 

พระแม่อุมาเทวี ทรงเป็นมารดาแห่ง พระพิฆเนศ เป็นชายาแห่ง พระศิวะ มหาเทพผู้ทำลายโลก 1 ใน 3 แห่ง พระตรีมูรติ พระแม่อุมาเทวี จึงเป็น 1 ใน 3 แห่งพระตรีศักติ ด้วย (ตรีศักติ หมายถึง พระแม่ทั้งสาม ได้แก่ พระแม่อุมา พระแม่ลักษมี พระแม่สรัสวตี) พระองค์มีวิมานสถิต ณ เขาไกรลาส เช่นเดียวกับพระศิวะเทพ

 

 

มีสัญลักษณ์ประจำพระองค์คือ โยนี (ฐานรองศิวลึงก์) มีทิพยรูปเป็นหญิงที่งดงาม เปี่ยมไปด้วยความเมตตา เป็นมารดาแห่งสรรพชีวิตทั้งปวง ฉลองพระองค์ด้วยอาภรณ์หลากสีสัน ประดับด้วยทองคำอย่างวิจิตร มีศาสตราวุธเป็นตรีศูล ดาบ และขี่เสือ ซึ่งเสือ หมายถึง พลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่ ตรีศูล และดาบ เป็นสัญลักษณ์ของการปราบปรามสิ่งชั่วร้าย และความเฉียบขาด การตัดสิน และมีอำนาจเหนือผู้อื่น

 

 

พระแม่อุมาเทวี หรือ พระแม่ปารวตี หรือ พระแม่ทุรคา มหาเทวีในศาสนาฮินดู เป็นเทวีเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ความรัก การอุทิศตน ตลอดจนพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อทางลัทธิถือกันว่า พระนางอ่อนโยน และเอาใจใส่ของศักติ พระนางยังอวตารแสดงพระองค์เป็นหลายด้าน เรียกว่า “ปาง” ที่เราคุ้นเคยกับ อวตารพระแม่อุมาเทวี มี 9 ปาง แต่ละปางเป็นที่รู้จักด้วยหลายชื่อหลายเรื่องราว พระแม่อุมาเป็น 1 ใน 3 ของพระตรีเทวี หรือพระตรีศักติ ซึ่งหมายถึงพระแม่ทั้งสาม (คือ พระแม่อุมา พระแม่ลักษมี และพระแม่สรัสวตี)

พระแม่อุมาเทวี

พระแม่อุมาเทวี มีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น ปราวตี หรือที่คุ้นหู เช่น พระแม่ทุรคา (ทุรกา) และพระแม่กาลี (เจ้าแม่กาลี) ซึ่งพระแม่กาลีเป็นสัญลักษณ์ของการปราบปรามสิ่งชั่วร้าย คนฮินดูนับถือพระแม่เหมือนเป็นมารดาแห่งสรรพชีวิต

 

 

ตามตำนานโบราณกล่าวกันว่า “พระแม่อุมาเทวี” นั้น แต่เดิมเกิดขึ้นจากการที่พระศิวะใช้พระหัตถ์ข้างขวาลูบเบาๆ ที่กลางพระอุระ พระแม่อุมาจึงจุติขึ้นกลางทรวงอกของพระศิวะ บ้างก็กล่าวไว้ว่า พระแม่อุมาเทวีเป็นธิดาของ ท้าวหิมวัต และ พระนางเมนกา เทพผู้เป็นใหญ่แห่งภูเขาหิมาลัย แต่ในบางคัมภีร์กล่าวไว้ว่า พระอุมาเป็นธิดาของ พระทักษะประชาบดี และเป็นพี่น้องกับ พระแม่คงคา (พี่สาวของพระแม่อุมา) พระอุมาในภาคนั้นมีพระนามว่า พระสตี เป็นชายาของ พระมุนีภพ คือ พระศิวะ อีกภาคหนึ่ง

 

 

พระแม่อุมาเทวี เจ้าแม่อุมา หรือ ปารวตี คือพระนามแห่งพระแม่ผู้เป็นใหญ่ในจักรวาล เป็นเทวีแห่งอำนาจวาสนาและบารมีอันสูงสุด พระองค์ทรงประทานยศถาบรรดาศักดิ์ และความเป็นใหญ่แก่ผู้หมั่นบูชาต่อพระองค์อย่างสม่ำเสมอ

พระแม่อุมาเทวี

 

พระแม่อุมาเทวี มีกี่ปาง

 

พระแม่อุมาเทวี มีอยู่ 9 ปาง ที่อวตารลงมาตามพระคัมภีร์โบราณ โดยปางที่สำคัญที่สุดมี 2 ปาง คือ

 

 

  1. ปางกาตยานี หรือปางพระแม่ทุรคา มี 10-18 พระกร กายสีทองแดง แต่ละมือถืออาวุธและดอกบัว ทรงเสือหรือสิงโต อวตารมาเพื่อปราบมหิงษาสูร ซึ่งไม่มีบุรุษเทพองค์ใดสังหารได้
  2. ปางกาลราตรี หรือปางพระแม่กาลี มี 10 พระกร ทั้ง 10 มือถืออาวุธเสร็จสรรพ กายดำสนิท แลบลิ้นยาวถึงทรวงอก เครื่องประดับเป็นหัวกะโหลก สังวาลเป็นงู ทรงมีเทวานุภาพแรงกล้า และมีอิทธิฤทธิ์ปราบสิ่งชั่วร้ายทั้งมวลให้สิ้นซากไป

 

 

ส่วนอีกปางหนึ่งที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนไทยก็คือ ปางพระแม่อุมาตากี ซึ่งเป็นร่างอวตารของพระแม่อุมาเทวี ที่รวมเอาพระแม่หลายพระองค์ ได้แก่ พระแม่อุมาเทวี พระแม่ลักษมี และพระแม่สรัสวดี เข้าไว้ในร่างเดียวกัน และเป็นที่นิยมนับถือกันมากในหมู่ผู้นับถือนิกายศักติ หรือนิกายที่นับถือว่าเทพสตรีทั้ง 3 พระองค์นี้ยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ

 

 

พระแม่อุมาเทวี ขอพรเรื่องอะไร

         

อำนาจแห่งพระแม่อุมาเทวี ยิ่งใหญ่หาสิ่งใดเทียบได้ ทั้งด้านความสมบูรณ์ ความอิ่มเอม ความผาสุกในการครองเรือน ครอบครัวที่เปี่ยมสุข ประทานบุตรที่ดี และปัจจัยที่เพียบพร้อมในการเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตขึ้นเป็นคนดี ทรงคุ้มครองหญิงตั้งครรภ์ให้คลอดง่าย ตลอดจนการคุ้มครองผู้ศรัทธาให้ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง ดังนั้น ผู้มีจิตศรัทธาจึงนิยมไปกราบไหว้บูชาและขอพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความรักและการขอบุตร

 

 

วิธีขอพรพระแม่อุมาเทวี

 

 

  1. โต๊ะ หรือแท่นบูชา สำหรับพระแม่อุมาเทวี ควรปูด้วยผ้าสีขาว สีทอง สีแดง สีเงิน (หากไม่มีผ้าสำหรับปู สามารถใช้สีทาได้)
  2. ดอกไม้ ได้แก่ ดอกไม้ที่มีสีเหลืองและสีแดง โดยเฉพาะดอกดาวเรือง ดอกกล้วยไม้ ดอกกุหลาบ
  3. ธูปหอม หรือกำยาน ไว้จุดเพื่อถวายกลิ่นหอมด้วย โดยใช้ธูปหอม 9 ดอก ถ้าจะบนใช้ 39 ดอก และถ้าบวงสรวงใช้ 16 ดอก
  4. อาหาร ควรเป็นขนมที่มีรสชาติมัน ปราศจากเนื้อสัตว์ และไม่มีกลิ่นหอมแรงเกินไป สามารถนำขนมโมทกะ หรือขนมลาดู (ขนมชนิดเดียวกับที่ถวายพระพิฆเนศ) ตลอดจนผลไม้และธัญพืชทุกชนิดมาถวายได้
  5. น้ำเปล่า น้ำแดง นม น้ำอ้อย เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

 

บทสวดบูชาพระพิฆเนศ

 

โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา

 

คาถาบทสวดบูชา พระแม่อุมาเทวี 

 

โอม เจ มาตา กี

โอม ชยะ มาตา กี

โอม ไชย มาตา กี

โอม ชยะ ศรี ปารวตี มาตา

โอม ไจ มาตา ปารวตี

โอม มหาอุมาเทวี นมัส

โอม มหาศักติ ปารวตี มาตา

โอม ศรี มหาอุมาเทวี นะมะฮา

โอม ตัสสะ ปารวตี กาลี ทุรคา เจ นะมะฮา

โอม ตัสสะ ปารวตี กาลี ทุรคา ปิยัง มะมะ

ทุติยัมปิ ตัสสะ ปารวตี กาลี ทุรคา ปิยัง มะมะ

ตะติยัมปิ ตัสสะ ปารวตี กาลี ทุรคา ปิยัง มะมะ

 

ข้อควรจำ : ก่อนการสวดบูชาพระแม่อุมาเทวี จะต้องสวดบูชาต่อพระพิฆเนศก่อนเสมอ

 

 

 

ขอบคุณที่มา : สยามคเณศ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ