พระเครื่อง

ไหว้พระขอพร 5 วัดรอง ของ พระนครศรีอยุธยา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แนะนำ 5 วัดรอง ที่เหมาะกับไหว้พระขอพร สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่หลายคนอาจจะไม่เคยไปเยือน พร้อมบอกเล่าความสำคัญของอาราม


หากกล่าวถึง พระนครศรีอยุธยา หลายคนมีภาพจำ เกี่ยวกับโบราณสถาน รวมทั้งยังมีวัดในด้วยใจ ที่มักจะไปขอพร เสริมมงคลทำบุญกัน แต่อย่างไรก็ดี เท่าที่สังเกต หลาย ๆ คน มักจะเดินทางไปไหว้ยังวัดหลัก ๆ เพียงไม่กี่วัด ทั้งในเขตเกาะเมือง รวมทั้ง วัดอำเภอโดยรอบ ทั้งที่ในความเป็นจริง ยังมีวัดวาอาราม ที่ยังน่าไปขอพร ทำบุญ สักการะกัน ครั้งนี้ ก็จะขอแนะนำ วัด ที่เรียกได้ว่า เป็น วัดรอง ตามแบบ เรียกขานจังหวัดรอง เพื่อให้ได้เป็นตัวเลือก เพิ่มช่องทางกับผู้ชื่นชอบการเที่ยววัดให้มากขึ้น 

วัดนครหลวง อ.นครหลวง

วัดนครหลวง หนึ่งในอารามที่น่าสนใจ เพราะถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ของปราสาทนครหลวง หรือ พระนครหลวง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 ลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นองค์ปราสาท เป็นพุทธสถานจตุรมุขทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี 3 ชั้น ชั้นที่ 2 เป็นซุ้มระเบียงล้อมรอบ ชั้นบนมีมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย สร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

วัดนครหลวง อ.นครหลวง
ประวัติความเป็นมาของ “ปราสาทนครหลวง” สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อพ.ศ. 2147 พระองค์ได้โปรดให้ช่างจำลองแบบมาจากปราสาทที่กัมพูชาแล้วสร้างเป็นที่ประทับ ก่ออิฐถือปูน โดยนำมาสร้างใกล้กับวัดเทพจันทร์

วัดนครหลวง อ.นครหลวง

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่ได้กรุงกัมพูชากลับมาเป็นประเทศราชอีก แต่ว่าปราสาทแห่งนี้สร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ในสมัยนั้น ต่อ มาในปีพ.ศ. 2352 ตาปะขาวปิ่นได้มาสร้างวัดนครหลวงขึ้นพร้อมๆกับสร้างพระพุทธบาทสี่รอยไว้บน ลานชั้นบนของปราสาท นับแต่นั้นมาปราสาทนครหลวงก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัด

วัดนครหลวง อ.นครหลวง


วัดจอมเกษ อ.บางปะหัน 

วัดจอมเกษ
วัดจอมเกษ เดิมมีชื่อว่า วัดจอมปลวก เนื่องจากมีจอมปลวกมากมายบริเวณรอบวัด จากคำบอกเล่าสรุปได้ว่า ได้มีเจ้าจอมเสด็จมาทางชลมารคบำเพ็ญกุศลที่วัดนี้ ทรงให้เปลี่ยนนามเป็น "วัดจอมเกษ" เพื่อให้ความหมายดีขึ้น ตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2312 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาราว พ.ศ. 2315 ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือพระพุทธรูปประธานปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 29 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2458 เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธากันมาก ชาวบ้านเรียกขานว่า หลวงพ่อโต วัดยังมีรูปปั้นยักษ์ขนาดใหญ่ที่อุโบสถ ต้นโพธิ์เก่าแก่อายุกว่า 100 ปี 3 ต้น และมีต้นมะขามและต้นไม้ใหญ่อื่น ๆ อีกหลายต้น

ยักษ์นั่งวัดจอมเกษ
นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างประดิษฐาน ท้าวเวสสุวรรณ ปางนั่ง เรียกกันว่า ยักษ์นั่งวัดจอมเกษ ซึ่งมีผู้มาขอพรกันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมี ปู่ฤาษีเบิกไพร ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด ที่ผู้ที่เดินทางมายังวัดนี้จะมากราบสักการะขอความสำเร็จ นอกจากนี้ วัดจอมเกษ เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้นิยมสักยันต์ มีเกจิอาจารย์คือ พระครูใบฎีกาจีระพงษ์ ธีรวโร หรือ หลวงพี่เลี้ยง

วัดประดู่ทรงธรรม อ.เมือง

วัดประดู่ทรงธรรม

วัดประดู่ทรงธรรมในปัจจุบัน เกิดจากการรวมพื้นที่วัดโบราณ 2 วัดคือ วัดประดู่ และ วัดโรงทาน (วัดโรงธรรม) สำหรับวัดประดู่ ถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดาร ในคราวที่พระภิกษุสงฆ์ของวัดประดู่ 8 รูป ได้ช่วยเหลือสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ให้หลบหนีจากการก่อกบฏของพวกญี่ปุ่นที่หมายปลงพระชนม์ชีพ เมื่อ พ.ศ. 2153

วัดประดู่ทรงธรรม

ซึ่งอารามแห่งนี้ เป็นดั่งตักศิลาไสยเวทแห่งกรุงเก่า ในพระอุโบสถโบราณ ที่ได้รับการบูรณะนั้น มีพระพุทธรูปสำคัญ ให้สักการะบูชา นามว่า หลวงพ่อรวย หลวงพ่อรุ่ง หลวงพ่อเรือง

วัดประดู่ทรงธรรม

เป็นพระประธานนามมงคล ประจำวิหารวัดประดู่ทรงธรรม เมืองกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา มีความสำคัญพร้อมทั้งความงดงาม และยังคงความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สักการะบูชาของชาวกรุงศรีอยุธยาตลอดจนผู้นับถือศรัทธาจากทั่วประเทศ ที่ได้มีโอกาสเข้าไปกราบสักการะขอพร ตั้งแต่อดีตจนมากระทั่งถึงปัจจุบัน โดยลักษณะของพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง 3 องค์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีเดียวกัน ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร อ.เมือง

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร
 เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา นอกเกาะเมืองทางด้านทิศตะวันตก ตรงข้ามกับวังหลังหรือวังสวนหลวง เดิมชื่อ "วัดกษัตรา" หรือ "วัดกษัตราราม"

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร
วัดกษัตราธิราชวรวิหาร เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีพระปรางค์เป็นประธานของวัด ในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข และสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (เกศ) ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม   วัดกษัตราเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดกษัตราธิราช" ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  สถานที่สำคัญภายในวัด คือ พระประธานในพระอุโบสถที่มีแท่นฐานผ้าทิพย์ปูนปั้น ฝีมือประณีตงดงาม ใบเสมาของพระอุโบสถเป็นใบเสมาคู่แกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจง


อารามแห่งนี้ มีพระเกจิอาจารย์ ที่เป็นหนึ่งในศิษย์ตักศิลาวัดประดู่ทรงธรรม นั่นคือ หลวงปู่เทียม ท่านมีชื่อเสียงในวิชาอาคม เกี่ยวกับตะกรุดมหาจักรพรรดิ ตะกรุดสี่มหาอำนาจ 


วัดพิชัยสงคราม อ.เมือง 

วัดพิชัยสงคราม
วัดพิชัยสงคราม หรือ วัดพิชัย หรือ วัดพิไชย วัดโบราณในเขตเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา วัดพิชัยสงครามแห่งนี้ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงก่อนเสีย กรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เพราะที่นี้ คือ ที่ตั้งของ ค่ายวัดพิชัย ของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกู้ราชอาณาจักร

วัดพิชัยสงคราม

พระองค์ได้ตีฝ่าวงล้อมของกองทัพพม่าออกไปยัง เมืองจันทบูร จากวัดแห่งนี้ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้างเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309 หรือก่อนเสียกรุงได้ไม่นานจากนั้นในสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 4 – รัชกาลที่ 5 ได้มีชาวบ้านเข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพิชัยจนกลับมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมกับเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดพิชัยสงคราม เพื่อเป็นสิริมงคลและเพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น

วัดพิชัยสงคราม
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ