พระเครื่อง

รูปถ่าย ยิงไม่ออก รู้จัก "หลวงพ่อโม" วัดจันทนาราม อีกหนึ่งวาจาสิทธิ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำความรู้จักอีกหนึ่งครูอาจารย์ อำเภอสรรคบุรี ชัยนาท หลวงพ่อโม วัดจันทนาราม ประกาสิต รูปถ่ายไม่เสกปืนยิงวไม่ออก

นอกเหนือจากหลวงพ่อกวย ชุตินธโร วัดโฆสิตาราม อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ที่โด่งดัง สะท้านแผ่นดินแล้ว  ในเมืองสรรคบุรี ก็มีอีกเกจิอาจารย์ ทีร่รูปถ่ายตัวท่าน ก็เป็นแบบเดียวกับหลวงพ่อกวย ไม่เสกก็ขลัง ปืนยิงไม่ออก เกจิอาจารย์รูปนั่นคือ "หลวงพ่อโม ธมฺรกฺขิโต" แห่ง วัดจันทนาราม ต.ห้วยกรด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เป็นพระคณาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองชัยนาท เจ้าของตะกรุดโทนอันโด่งดัง   

รูปถ่าย ยิงไม่ออก รู้จัก \"หลวงพ่อโม\" วัดจันทนาราม อีกหนึ่งวาจาสิทธิ์


ประวัติ หลวงพ่อโม นั้น ท่าน เป็นชาวห้วยกรดโดยกำเนิด เกิดในสกุล "คงเจริญ" เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.2413 บ้านบางยายอ้น ต.ห้วยกรด  อายุ 8 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร และมีความสนใจศึกษาตำราโบราณ ท่อง 7 ตำนาน 12 ตำนาน ได้ตั้งแต่เป็นสามเณร และปรณนิบัติหลวงพ่อเถื่อน เจ้าอาวาสวัดใหม่บำเพ็ญบุญ ซึ่งเป็นยอดเกจิอาจารย์ในยุคนั้น ว่ากันว่าพรรษามากกว่าหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า


 จนกระทั่งอายุครบ 20 ปี จึงอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดใหม่บำเพ็ญบุญ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านท่าน โดยมีหลวงพ่อเถื่อน วัดใหม่บำเพ็ญบุญ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อคง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อโต วัดวิหารทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์


 

หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้จำพรรษา ณ วัดใหม่บำเพ็ญบุญ ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ทั้งภาษาไทย และภาษาบาลี เรียนพระปริยัติธรรมเบื้องต้นได้ท่อง 7 ตำนาน 12 ตำนาน ได้เรียนภาษาขอม เรียนวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคมกับหลวงพ่อม่วง หลวงพ่อเถื่อน และหลวงพ่อคง ที่วัดใหม่บำเพ็ญบุญ ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ในพื้นที่เช่นกัน


นอกจากศึกษาสำนักวัดใหม่บำเพ็ญบุญแล้ว หลวงพ่อโม ยังได้ศึกษาอาคมกับหลวงพ่อโต วัดวิหารทอง 


และด้วยความเฉลียวฉลาด มีความสนใจใคร่รู้ ในการศึกษา ทางวิทยาคม ยาสมุนไพรและแพทย์แผนโบราณ หลวงพ่อคงจึงได้พาหลวงพ่อโมไปฝากกับอาจารย์ของท่าน คือ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ เมื่อปีพ.ศ.2451


จากนั้น หลวงพ่อโม ได้เป็นศิษย์ของหลวงปู่ศุข เรียนวิทยาคม ตำรายาสมุนไพรและตำราแพทย์แผนโบราณกับหลวงปู่ศุข เป็นเวลา 5 ปี จนกระทั่งในปีพ.ศ.2456 จึงได้เดินทางกลับวัดใหม่บำเพ็ญบุญ    ในขณะนั้น หลวงพ่อเถื่อนซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่บำเพ็ญบุญ ได้มรณภาพลง หลวงพ่อคง เป็นเจ้าอาวาสแทน


พ.ศ.2457 ญาติพี่น้องของหลวงพ่อโม ได้ร่วมกันซื้อที่ดินติดวัดร้างเดิมรวมประมาณ 30 ไร่ เพื่อสร้างวัดขึ้นใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการอานิสงส์ ในการถวายที่ดิน ทั้งนี้ ชาวบ้านห้วยกรดให้ความศรัทธาในเรื่องความแก่กล้าทางคุณวิเศษและอาคมของท่าน จึงได้นิมนต์หลวงพ่อโมจากวัดใหม่บำเพ็ญบุญ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของ "วัดจันทนาราม"
 

หลวงพ่อโมท่านชอบออกธุดงค์เป็นอย่างมาก ซึ่งแต่ละครั้งจะไปเป็นเวลานาน และท่านเคยออกธุดงค์จนไปพบหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ และได้ต่อวิชามีดหมอจากหลวงพ่อเดิม รวมถึงได้ไปพบกับหลวงพ่อเทศและหลวงพ่อวัดพระปรางค์เหลือง ซึ่งหลวงพ่อโมท่านเก่งวิชามีดหมอเป็นอย่างมาก 

 

หลวงพ่อโม เป็นพระสมถะ มักน้อย สันโดษ มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ภายหลังท่านได้รับตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ หากมีเวลาว่าง ท่านจะนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่เสมอ นั่งสมาธิ ทำวัตรเช้าตั้งแต่ตี 4 ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงให้ความเคารพนับถือท่านมาก และนำลูกหลานของตนมาให้ท่านได้บวชมากมาย 


ส่วนวัตถุมงคลของตะกรุดหลวงพ่อโมยุคแรก ๆ ท่านชอบใช้ฝาบาตรเก่า ๆ ที่ไม่ได้ใช้มาตัดทำตะกรุดและให้เด็กวัดพกไว้ป้องกันตัว ยาวบ้างสั้นบ้างและแต่ฝาบาตร บ้างครั้งฝาแตกก็ได้ดอกสั้นหน่อย ตะกรุดฝาบาตรหลวงพ่อโมเด็กวัดชอบมากเพราะเวลาแกล้งกันไล่ยิงด้วยหนังสติ๊กยังอย่างไรก็ไม่ถูก ตะกรุดหลัง ๆ ท่านจะใช้แผ่นทองแดงบาง ๆ มาตัดและให้ลูกศิษย์ กรรมการวัด ช่วยกันทำและจาร ซึ่งหลวงพ่อจะดูทุกแผ่นที่จารแผ่นไหนจารผิดอ่านไม่ได้ท่านจะทิ้งให้ทำใหม่ สมัยนั้น การคลอดลูกตายมีเยอะมาก หลวงพ่อท่านสงสาร จึงทำตะกรุดคลอดลูก ซึ่งมีผลแคล้วคลาด ปลอดภัยและเมตตา มาให้สำหรับใครที่ท้องและมาทำบุญใส่บาตรที่วัดท่านก็จะแจกตะกรุดให้ ดอกเล็ก ๆ ขนาดดินสอ ยาวประมาณ 10 เซ็นติเมตรโดยประมาณ
มีดหลวงพ่อโม ในยุคเก่า ด้ามไม้ฝักไม้ ตีโดยช่างที่ห้วยกรดซึ่งสมัยก่อนมีร้านตีเหล็กอยู่ติดกับวัด (จำชื่อไม่ได้) ตีให้ และในยุคหลัง (ช่วงสร้างโบสถ) หลวงพ่อได้สั่งช่างฉิม พยุหะ มาซึ่งลักษณะเป็นด้ามงา ฝักงา ขนาดต่าง ๆ และเศษงาที่เหลือ หลวงพ่อท่านให้ช่างกลึงขนาดย่อมกว่าดินสอนิดนึงยาว 1 นิ้ว ถึงนิ้วกว่า ๆ มาทำตะกรุดมหาอุดงาช้าง และเลี่ยมนาคแต่เดิม ซึ่งรุ่นนี้สุดยอดมากโดยหลวงพ่อจะสอดตะกรุดขนาดเล็กเข้าไปอีก 1 ดอกพร้อมจารอักขระ   

 

ช่วงที่วัตถุมงคลที่สั่งมาและทำเองเพื่อแจกให้คนที่มาช่วยทำบุญสร้างโบสถหมด ท่านก็แจกเฉพาะใบฎีกา และบอกคนมาทำบุญว่า "รูปกูใช้แทนวัตถุมงคลของกูได้ไม่ต้องกลัว" แล้วท่านก็หัวเราะ มีบางคนถามว่า หลวงพ่อรูปหลวงพ่อเสกหรือยังท่านก็บอก "รูปกูไม่ต้องเสกก็ขลังรูปกูดีทังนั้น"
เรื่องราวอภินิหารมีมากมายเกี่ยวกับวัตถุมงคลของหลวงพ่อ ทั้งชาวบ้านทำตะกรุดหลวงพ่อโมหาย และตอนเช้าพบอยู่ในนา ที่เผ่าตอซังแล้วไม่ไหม้เป็นวงขนาดสักฟุตนึง / หรือโจรลักควายที่พกตะกรุดหลวงพ่อโมวิ่งหนีฝ่าลูกปืน   และเด็กที่ตกเขื่อนเจ้าพระยาแล้วไม่ตาย   วัยรุ่นฟันกันด้วยมีดไม่เข้าคล้องเหรียญรุ่นตาเกี้ย   
หลวงพ่อโม ท่านละสังขารเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2502 เวลาประมาณ 4 ทุ่มเศษ ท่านได้บอกกรรมการวัดและลูกศิษย์ว่า พวกเอ็งไม่ต้องกลัวกูตายหรอก กูไปเที่ยวเดี๋ยวก็กลับ" จากนั้นหลวงพ่อจึงนั่งสมาธิและละสังขารไป   กรรมการวัดจึงนำร่างหลวงพ่อใส่โลงไม้และฝังไว้ที่วัด 1 ปีถัดมาจึงจัดงานฌาปนกิจหลวงพ่อและเปิดโลงออกมาประกฎว่าร่างหลวงพ่อยังคงเหมือนพระภิกษุจำวัดไม่มีการเน่าเปื่อยหรือเปลี่ยนรูปร่างแต่อย่างใด และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในสมัยนั้นจะมีการต้มกระดูกและนำมาเผาเพื่อทำพิธี ชาวบ้านบางคนได้กินเนื้อหลวงพ่อและน้ำอาบศพด้วยความรักและเคารพหลวงพ่อ หลังจากนั้นปรากฏว่าคนเหล่านั้นไม่เคยเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุใด ๆ เลยจนกระทั่งแก่ตาย

logoline